การประเมินความน่าเชื่อถือของสารสนเทศที่นำมาใช้งาน

               บ่อยครั้งที่นักศึกษามาปรึกษาเรื่่องการเขียนบรรณานุกรม และพบว่าปัญหาหนึ่งที่นักศึกษาพบคือไม่รู้ว่าจะเขียนบรรณานุกรมจากข้อมูลที่ได้จากอินเตอร์เน็ตอย่างไร และบ่อยครั้งก็จะพบว่าข้อมูลที่นักศึกษานำมาใช้ในการเขียนรายงานนั้น ได้มาจากการค้นผ่าน Google ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ไม่ดีแต่อย่างใด ถ้านักศึกษาจะได้เลือกใช้เสียหน่อย นักศึกษาอาจอ่านดูข้อมูลที่เห็นอยู่เพียง 2-3 หน้าแรกของ Google ซึ่งไม่ได้มีข้อยืนยันว่า ข้อมูลที่พบในหน้าแรก ๆ จะเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือเสมอไป 
ตามปกติเราก็มีแนวทางการอธิบายให้นักศึกษาทราบถึงวิธีการเบื้องต้นที่เราใช้ในการประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่พบจากอินเตอร์เน็ต เช่น เป็นเว็บไซต์ของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ  เป็นเว็บไซต์ที่มีการ update ข้อมูลเสมอ เป็นเว็บไซต์ที่มีการแสดงความรับผิดชอบ เป็นต้น  เมื่อไม่กี่วันนี้ ได้อ่านหนังสือของ อาจารย์พรชนิตว์ ลีนาราช  จากภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เรื่อง เอกสารประกอบการสอนรายวิชา 009345 การปรับแต่งสารสนเทศ (Information Repackaging) มีตอนหนึ่งกล่าวถึงเรื่อง การประเมินความน่าเชื่อถือของสารสนเทศที่นำมาใช้งาน ซึ่งอาจารย์ได้มีการสรุปไว้อย่างละเอียด เข้าใจง่าย จึงขอนำมาเล่าต่อให้เพื่อน ๆ น้อง ๆ บรรณารักษ์ ได้ทราบด้วย อาจารย์แบ่งการพิจารณาคุณค่า ความถูกต้อง สมบูรณ์และความน่าเชื่อถือของสารสนเทศ ไว้เป็น 2 ประเภท คือ  1. การประเมินค่าสารสนเทศทางกายภาพ และ 2. การประเมินค่าสารสนเทศภายใน โดยแยกประเภทของสารสนเทศเป็น หนังสือ บทความวารสาร และอินเตอร์เน็ต  ดิฉันจะขอยกมาเฉพาะการประเมินค่าสารสนเทศทางกายภาพของสารสนเทศบนอินเตอร์เน็ต กล่าวคือ การประเมินสารสนเทศบนอินเตอร์เน็ต จะต้องตรวจสอบใน 5 ประเด็น ต่อไปนี้
                1. ความน่าเชื่อถือของผู้จัดทำ ตรวจสอบได้จากการมีสถาบันน่าเชื่อถือรองรับในการจัดทำ ความเป็นกลางของสถาบันที่จัดทำ สถาบันนั้นมีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาสารสนเทศที่ปรากฎหรือไม่ นอกจากนี้ ผู้จัดเอกสารมีความน่าเชื่อถือโดยดูจากคุณวุฒิ และประสบการณ์ในการจัดทำเอกสาร รวมถึงการมีตัวตน โดยแจ้ง Email address หรือช่องทางการสื่อสารเพื่อผู้อ่านสามารถสื่อสารกลับ หากเป็นเว็บไซต์ที่มีโดเมนเนมเป็นสถาบันการศึกษาหรือองค์การ เช่น .edu .ac หรือ .org จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าโดเมนเนมเอกชน หรือเพื่อการค้า เช่น .com หรือ .co
                 2.วัตถุประสงค์ในการจัดทำ อาจตรวจสอบได้จากเมนู About us หรือประวัติ (History) เพื่อดูว่าการเผยแพร่สารสนเทศนั้นมีเป้าหมายอะไร หากพบว่าเพือ่การโฆษณา ผู้อ่านอาจไม่ได้รับข้อมูลที่เป็นกลาง นอกจากนี้ยังต้องดูว่าส่วนใดเป็นความเห็นส่วนบุคคล ส่วนใดเป็นข้อเท็จจริง
                 3.เนื้อหามีความถูกต้องน่่าเชื่อถือ ตรวจสอบจากรายการเอกสารอ้างอิง
                 4.ความคงที่ของวารสาร เอกสารบนเว็บไซต์บางประเภทเมื่อกลับไปดูอีกครั้ง อาจพบว่าถูกลบออกไปแล้ว หรือมีการแก้ไขข้อมูลต่าง ๆ  การใช้สารสนเทศบนอินเตอร์เน็ตที่ผู้รับผิดชอบเป็นหน่วยงาน ทำให้ลดปัญหาความคงที่ของเอกสารได้ เพราะจะมีผู้รับผิดชอบชัดเจน
                5.ความทันสมัย ตรวจสอบจากวัน เดือน ปี ที่เผยแพร่ และการแจ้งการปรับปรุงเนื้อหา 
               ในส่วนของการประเมินค่าสารสนเทศภายใน จะพิจารณาจาก
                1.มีเนื้อหาสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เลือก
                2. มีความสอดคล้องของเนื้อหาตามหัวข้อที่โครงร่างกำหนด
               3. เนื้อหามีความละเอียด ลึก และเพียงพอที่จะนำมาใช้ได้
 
อ้างอิง : พรชนิตว์ ลีนาราช.  (2558).   การปรับแต่งสารสนเทศ : เอกสารประกอบการสอน รายวิชา 009345.  เชียงใหม่ : สาขาวิชาสารสนเทศศึกษา ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร