อาหารการกิน มรดกทางภูมิปัญญาของคนไทย
ประเทศไทย คนไทยของเรามีมรดกทางวัฒนธรรม มีภูมิปัญญาที่ได้สร้างสรรค์สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นมรดกที่น่าภาคภูมิใจของคนในชาติที่มีความหลากหลายมาก โดยเฉพาะในเรื่องของอาหารการกินที่คนไทยเรามีฝีไม้ลายมือในการปรุงแต่งทั้งรสชาดและหน้าตาของอาหารไม่เป็นรองชาติใดในโลกนี้ จากวัตถุดิบที่เรามีอยู่ในทุกท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาค ปัจจุบันทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมและป้องกัน คุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ จึงมีการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเรื่องอาหารเอาไว้ เพื่อรักษาอัตลักษณ์และคุณค่าให้คงอยู่สืบไป เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554-2558 ทางหน่วยงานฯได้คัดสรร ประเภทอาหารของไทย ทั้งอาหารคาวและอาหารหวานรวมถึงเครื่องปรุงรส ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ โดยตอนแรกนี้ขอเริ่มจากอาหารหวานก่อน ดังนี้
– กระยาสารท เป็นขนมที่ใช้ธัญพืชมากวนรวมกัน ประกอบด้วย ข้าวเม่าราง(คั่ว) ข้าวตอก ถั่วลิสงคั่ว งาคั่ว น้ำตาลอ้อย บางแห่งใช้กะทิใส่กวนด้วย กระยาสารทเป็นขนมที่ใช้ในเทศกาลวันสารทไทยหรือสารทเดือนสิบ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อปีพ.ศ. 2556
– ขนมเบื้อง เป็นขนมไทยโบราณของภาคกลาง ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมกับไข่ หัวกะทิ และน้ำปูนใส ขนมเบื้องในยุคก่อนเป็นขนมของชนชั้นสูง มีปรากฏในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ในรัชกาลที่ 5 นอกจากนี้ขนมเบื้องยังถือเป็นขนมอวดฝีมือของกุลสตรีไทยมาแต่โบราณอีกด้วย ผู้ทำต้องมีฝีมือในการละเลงให้แป้งบางและกรอบ ดังมีปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทยเรื่อง ขุนช้าง-ขุนแผน ตอนนางศรีมาลากับนางสร้อยฟ้าต้องละเลงขนมเบื้องอวดฝีมือกัน ขนมเบื้องมีใส้เค็มกับไส้หวาน ขนมเบื้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาฯ เมื่อปีพ.ศ. 2556
– ข้าวหลาม เป็นอาหารของคนไทยทุกภาค ใช้ข้าวเหนียวใส่ในกระบอกไม้ไผ่ แล้วหลามหรือเผาด้วยถ่านจนสุก โดยเฉพาะคนภาคกลางจะกินข้าวหลามเป็นอาหารหวานจึงปรุงรสด้วยกะทิ เกลือและน้ำตาลผสมกับข้าวเหนียวอาจเพิ่มถั่วดำเข้าไปด้วยให้น่ากินยิ่งขึ้น ปัจจุบันแหล่งผลิตข้าวหลามที่มีชื่อเสียงไปทั้งประเทศ คือข้าวหลามของนครปฐม และข้าวหลามหนองมน จ.ชลบุรี ข้าวหลามได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาฯ เมื่อปีพ.ศ. 2556
– ข้าวต้มมัด เป็นขนมพื้นบ้านที่นิยมทำกันทั่วทุกภูมิภาคของไทย ใช้เป็นขนมในเทศกาลออกพรรษาและตัดบาตรเทโว ข้าวต้มมัดประกอบด้วยข้าวเหนียว กะทิ เกลือ น้ำตาล และใช้กล้วยน้ำว้าสุกทำเป็นไส้ ห่อด้วยใบตองสดแล้วนำมาประกบกันเป็นคู่แล้วใช้ตอกมัดเข้าด้วยกัน หรืออาจใช้ใบไม้อื่นห่อแล้วแต่ละท้องถิ่น แล้วนำไปนึ่งให้สุก บางพื้นที่ก็ไม่ใส่ไส้กล้วย นอกจากนี้ยังมีข้าวต้มลูกโยน ซึ่งมีมาแต่สมัยพุทธกาล ข้าวต้มมัดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาฯ เมื่อปีพ.ศ. 2557
– เมี่ยงคำ เป็นอาหารว่างหรือของกินเล่นของคนไทยภาคกลางเมี่ยงคำมีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ เครื่องเมี่ยง น้ำเมี่ยง และใบไม้หรือผักที่ใช้ห่อ ในส่วนของเครื่องเมี่ยงประกอบด้วย มะพร้าวคั่ว ถั่วลิสงคั่ว กุ้งแห้ง ขิง หอมแดง มะนาว พริกขี้หนู ส่วนน้ำเมี่ยงประกอบด้วย น้ำตาลปี๊บ น้ำปลา กะปิ นำไปเคี่ยวพอเหนียว ส่วนใบที่จะใช้ห่อนั้นนิยมใช้ใบทองหลางและใบชะพลูที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป เมื่อจะกินก็ใช้ใบห่อใส่เครื่องเมี่ยงแล้วหยอดด้วยน้ำเมี่ยง ห่อเป็นคำๆกินเป็นอาหารว่างที่มีครบทุกรสในคำเดียวทั้งหวาน มัน เค็ม เปรี้ยวและเผ็ด แถมยังได้คุณค่าทางอาหารครบทุกหมู่อีกด้วย การทำเมี่ยงคำต้องใช้เวลาในการเตรียมเครื่องต่างๆ ต้องมีศิลปะการจัดวางและการหยิบจับมาห่อให้พอดีคำ เมี่ยงคำได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาฯ เมื่อปีพ.ศ. 2557
อาหารทุกอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คาดว่าทุกคนคงได้ลิ้มลองความอร่อยมาแล้วทั้งสิ้นเป็นอาหารหวานที่หากินได้ง่ายในปัจจุบัน มีการทำขายให้เลือกซื้อหาได้สะดวกมากขึ้น มีขายทั้งปีและแทบทุกภูมิภาคของเมืองไทย ทุกชนิดล้วนเกิดจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเราทั้งนั้น ในตอนต่อไปจะเขียนถึงอาหารคาวบ้าง โปรดติดตามกันต่อค่ะ