ความรู้ที่ได้จากการอบรม

11 July 2018
Posted by Nong Panida

ตั้งแต่เริ่มบังคับใช้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวมุ่งหมายให้หน่วยงานของรัฐทั้งหมดต้องปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างและการอื่น ๆ ในการบริหารงานพัสดุภายใต้บังคับของกฏหมายฉบับเดียวเท่านั้น ซึ่งยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่ผู้ปฏิบัติงานด้านพัสดุต้องเรียนรู้ ศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ การเข้าร่วมอบรมกับส่วนงานต่าง ๆ ที่จัดขึ้น และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ปฏิบัติงานด้านเดียวกัน ทำให้ได้รับความรู้ ประสบการณ์ มากขึ้น ครั้งนี้ก็เช่นกัน ตนเองได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมในเรื่องของการจัดซื้อหนังสือและวารสารฯ ที่จัดโดย สำนักหอสมุดฯ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีหัวข้อที่น่าสนใจ และเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องศึกษา

วิทยากรบรรยายโดย คุณสุธิษา จารุเมธาวิทย์ นักวิชาการคลังชำนาญการพิเศษ กองการพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง กล่าวถึงกระบวนการของการจัดซื้อ ดังนี้
วิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ 3 วิธี คือ
1. วิธีประกาศเชิญชวน วงเงินเกิน 500,000.- บาท โดยเชิญชวนให้ผู้ประกอบการทั่วไปที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดเข้ายื่นข้อเสนอ ซึ่งสามารถใช้ได้ดังนี้
1.1 วิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Market : e-market) วงเงินเกิน 500,000.- บาท แต่ไม่เกิน 5,000,000.- บาท ได้แก่การจัดหาพัสดุซึ่งมีรายละเอียดคุณลักษณะที่ไม่ซับซ้อน เป็นสินค้าหรือบริการทั่วไป มีมาตรฐานซึ่งกำหนดให้ส่วนราชการจัดซื้อสินค้าหรืองานจ้างที่กำหนดไว้ในระบบ e-catalog กระทำได้ 2 ลักษณะ คือ (1) ให้ผู้ขาย ผู้ให้บริการ หรือผู้รับจ้าง เสนอราคา โดยใบเสนอราคา (Request for Quotation : RFQ) (2) การเสนอราคา โดยการประมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Thai Auction)
พัสดุที่ต้องดำเนินการจัดหาด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-market) เช่น วัสดุสำนักงาน (กระดาษถ่ายเอกสาร ผงหมึก/ตลับหมึก แฟ้มเอกสาร เทปปิดสำหรับการเข้าเล่ม ซองเอกสาร โต๊ะสำนักงาน เก้าอี้สำนักงาน ฯลฯ) ซึ่งการจัดซื้อครั้งหนึ่งมีวงเงินเกิน 500,000.- บาท และหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาคือใช้เกณฑ์ราคาต่ำสุด
1.2 วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic bidding : e-bidding) การจัดหาพัสดุครั้งหนึ่งซึ่งมีราคาเกิน 500,000.- บาท โดยเป็นการจัดหาพัสดุที่มีรายละเอียดคุณลักษณะที่มีความซับซ้อน มีเทคนิคเฉพาะ หรือเป็นสินค้าหรือบริการที่ไม่ได้กำหนดไว้ในระบบ e-market หลักเกณฑ์การพิจารณาใช้หลักเกณฑ์ประเมินค่าประสิทธิภาพต่อราคา (Price performance) และใช้หลักเกณฑ์ราคา (Price) ผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นผู้ชนะ
1.3 วิธีสอบราคา ใช้วิธีมายื่นซอง แต่จะใช้ก็ต่อกับพื้นที่/จังหวัด ที่ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต / สัญญาณอินเตอร์เน็ตขัดข้อง
2. วิธีคัดเลือก ใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีวงเงินเกิน 500,000.- บาท มีวิธีการจัดซื้อจัดจ้างดังนี้
2.1 ใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปแล้วไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ หรือข้อเสนอไม่ได้รับการคัดเลือก
2.2 พัสดุที่มีคุณลักษณะเป็นพิเศษหรือซับซ้อน หรือต้องผลิต ก่อสร้าง หรือให้บริการ โดยผู้ประกอบการที่มีฝีมือโดยเฉพาะ หรือมีความชำนาญเป็นพิเศษ หรือมีทักษะสูงและผู้ประกอบการมีจำนวนจำกัด
2.3 มีความจำเป็นเร่งด่วนอันเนื่องมาจากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดหมายได้
2.4 ลักษณะของการใช้งานหรือมีข้อจำกัดทางเทคนิคที่จำเป็นต้องระบุยี่ห้อเป็นการเฉพาะ
2.5 ต้องซื้อโดยตรงจากต่างประเทศหรือดำเนินการโดยผ่านองค์การระหว่างประเทศ
2.6 ใช้ในราชการลับหรือเป็นงานที่ต้องปกปิดเป็นความลับของทางราชการ หรือเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ
2.7 งานจ้างซ่อมพัสดุที่จำเป็นถอดตรวจให้ทราบความชำรุดเสียหายก่อนจึงจะประมาณค่าซ่อมได้ อาจจ้างมาถอดตรวจ เมื่อทราบแล้วว่าอะไรเสียก็เชิญมา 3 ราย แล้วคัดเลือก
2.8 กรณีอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง
3. วิธีเฉพาะเจาะจง ใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีวงเงินไม่เกิน 500,000.- บาท มีวิธีการจัดซื้อจัดจ้างดังนี้
3.1 ใช้ทั้งวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปและวิธีคัดเลือก หรือใช้วิธีคัดเลือกแล้ว แต่ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ หรือข้อเสนอไม่ได้รับการคัดเลือก
3.2 การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่การผลิต จำหน่าย หรือให้บริการทั่วไป และมีวงเงินในการจัดซื้อจัดจ้างครั้งหนึ่งไม่เกินวงเงินตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
3.4 มีความจำเป็นต้องใช้พัสดุโดยฉุกเฉินเนื่องจากอุบัติภัยหรือธรรมชาติพิบัติภัย และการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปหรือวิธีคัดเลือกอาจก่อให้เกิดความล่าช้าและอาจทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรง
3.5 เป็นพัสดุที่เกี่ยวพันกับพัสดุที่ได้จัดซื้อจัดจ้างไว้ก่อนแล้ว และมีความจำเป็นต้องจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มเติม โดยมูลค่าของพัสดุที่จะจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มจะต้องไม่สูงกว่าพัสดุที่ได้จัดซื้อจัดจ้างไว้ก่อนแล้ว
3.6 เป็นพัสดุที่จะขายทอดตลาด โดยหน่วยงานของรัฐ องค์กรระหว่างประเทศหรือหน่วยงานของต่างประเทศ
3.7 ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง
3.8 กรณีอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง
กรณีของจัดซื้อหนังสือ วารสาร และฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น ใช้วิธีคัดเลือก / เฉพาะเจาะจง เพราะถ้าใช้วิธีประกาศประเชิญชวนคงไม่เหมาะสม เพราะมีการคัดเลือกสำนักพิมพ์แล้ว
จากการได้เข้าอบรมฯ ทำให้เราได้ทราบถึงพระราชบัญญัติการจัดซื้อจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่เจ้าหน้าพัสดุ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องต้องศึกษากฎระเบียบข้อบังคับต่าง เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้ถูกต้องและประโยชน์สูงสุด

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร