ช่วยทีมหมูป่าอะคาเดมี…Mission Impossible


 
เหตุการณ์เด็กติดถ้ำ เมื่อวันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน 2561 นั้น
เชื่อว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งที่คิดว่าคนไทยทั้งประเทศ
ต่างรู้จักชื่อ “หมูป่าอะคาเดมี” ทีมฟุตบอลเยาวชนแม่สาย เป็นอย่างดี
ซึ่งไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้น ชาวต่างชาติ บ้านใกล้เรือนไกล
ต่างพุ่งความสนใจมาที่ “ถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน”
วนอุทยานแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.โป่งผา  อ.แม่สาย จ.เชียงราย
ด้วยเหตุที่นักฟุตบอลและโค้ชของทีมได้เข้าไปติดอยู่ในถ้ำแห่งนั้น
ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ทีมฟุตบอลเยาวชนเข้าไปติดอยู่ในถ้ำ
ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่  23 มิถุนายน กระทั่งพบตัวเมื่อ วันที่ 2 กรกฎาคม
และสมาชิกทั้ง 13 คนได้รับการช่วยเหลือออกมาอย่างปลอดภัยวันที่ 10 กรกฎาคม
รวมเวลา 222 ชม. ในเวลา 18 วัน ที่ภารกิจซึ่งหลายฝ่ายมองว่า
คือ ภารกิจที่เป็นไปไม่ได้…Mission Impossible ถูกยกขึ้นเป็นภารกิจระดับโลก
บุคคลากรจากหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชน ทั้งในและต่างประเทศ
ต่างเร่งระดมสรรพกำลัง สรรพเทคโนโลยี เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือในทุกวิถีทาง
เพื่อแข่งกับเวลาที่หากเนิ่นช้าไปมากกว่านี้แล้วผลเสียจะมีมากขึ้นเป็นลำดับ
ทั้งยังมีปัจจัยของภัยธรรมชาติตามฤดูกาล คือ มวลน้ำที่ถาโถมเข้าสู่ภายในถ้ำอย่างไม่หยุดยั้ง
ตลอดจนสภาพน้ำภายในถ้ำที่ขุ่นมัวเต็มไปด้วยโคลนเลนที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงานในถ้ำ
ที่สำคัญคือทำให้ทัศนวิสัยในการดำน้ำเป็นศูนย์ ในภาวะที่อ็อกซิเจนภายในถ้ำที่ลดลงจนอยู่ในเกณฑ์อันตราย
สรรพกำลังที่ระดมลงพื้นที่ทั้งหน่วยจู่โจมใต้น้ำ หรือหน่วยซีล ตำรวจ ทหาร กรมอุทยาน และอื่นๆ
ขณะเจ้าหน้าที่ทางวิศวกรรมและกลุ่มขุดเจาะน้ำบาดาลพยายามเร่งขุดเจาะน้ำบาดาล
และทำทุกวิถีทางเพื่อพร่องน้ำภายในถ้ำและน้ำใต้ดินให้ออกมามากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
เพื่อตัดทางน้ำไม่ให้ไหลซ้ำเข้าเติมในถ้ำ อาสาสมัครชาวบ้านจากนครปฐมและสมุทรสาคร
ต่างเดินทางด้วยใจมุ่งหน้าสู่แม่สาย นำท่อพญานาคซึ่งเป็นท่อสูบน้ำขนาดใหญ่ที่ปกติใช้ระบายน้ำในนากุ้ง
ตั้งใจไปช่วยแม้จะถูกปฏิเสธจากพื้นที่ในตอนแรก แต่ก็ไม่ล่าถอยและอยู่ช่วยเหลือจนเสร็จสิ้นภาระกิจ
ทีมเก็บรังนกนางแอ่นซึ่งเป็นชาวบ้านหาเช้ากินค่ำเดินทางจากเกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง
เพื่อร่วมช่วยเหลือทหารในการค้นหาปล่องโพรงภายนอกถ้ำหลวงที่คาดว่าจะสามารถเชื่อมไปยังจุดที่เด็กติดอยู่
และอีกหลากความช่วยเหลือของอาสาสมัครที่เดินทางจากทั่วสารทิศในประเทศ
เพื่อช่วยทุกภารกิจที่สามารถทำได้ให้เดินหน้าอย่างราบรื่น ไม่เว้นกระทั่งนักเรียนตัวน้อยที่อาสาเก็บขยะ
ปฏิบัติการครั้งนี้จะไม่อาจเป็นจริงได้เลยหากปราศจากผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำในถ้ำโดยเฉพาะ
กลุ่มกู้ภัยนานาชาติจึงเริ่มเดินทางเข้ามา นับแต่วันที่ 28 มิถุนายน
โดยกลุ่มแรก คือ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้ภัยของกองทัพอากาศสหรัฐฯ
ที่เริ่มใช้ดาวเทียม 3 มิติสแกนค้นหาชีวิตที่ยังอยู่ภายในถ้ำ
นักดำน้ำในถ้ำจากสหราชอาณาจักร เบลเยียม ออสเตรเลีย และประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย
รวมทั้งอีกหลายชาติอย่าง ลาว จีน ญี่ปุ่น ที่ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้ภัยเข้ามาช่วย
แม้ทีมนักดำน้ำในถ้ำจากต่างประเทศซึ่งเป็นผู้ที่มีความสามารถทักษะพิเศษเฉพาะตัวอย่างดีเยี่ยม
แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญกับความยากลำบาก ทั้งจากอุปสรรคน้ำที่ท่วมสูง
ตลอดจนลักษณะทางกายภาพของโพรงถ้ำใต้น้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงภายหลังน้ำท่วม
ทำให้บางจุดเต็มไปด้วยโคลนตม ทัศนวิสัยในการมองเห็นจึงยากลำบากมากขึ้นเป็นทวี
แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อ นายจอห์น โวลันเธน และนายริชาร์ด สแตนตัน
นักดำน้ำชาวอังกฤษซึ่งต้องดำน้ำผ่านโพรงถ้ำที่แคบและมืดเพื่อติดตั้งเชือกนำทาง
ได้ไปถึงยังหาดพัทยาที่คาดเด็กจะอยู่แต่ก็ไร้ร่องรอยของชีวิตบริเวณนั้น
จนในที่สุดนับเป็นโชคดีที่เมื่อผ่านจากจุดนั้นไปราว 400 เมตร เขาก็ได้พบทั้ง 13 ชีวิต
แต่เรื่องราวไม่ได้จบลงเรียบง่ายเพียงเท่านั้น การพบและต้องนำทั้ง 13 ชีวิตออกมา
กับสภาพน้ำที่ท่วมปิดทางในสภาวะที่เลวร้ายของโคลนและความมืดภายในถ้ำกับอ็อกวิเจนที่ลดน้อยลง
เป็นความยากลำบากที่สุด เพราะการตัดสินใจช่วยเหลือด้วยวิธีการหนึ่งใดล้วนมี 13 ชีวิตเป็นเดิมพัน
และใช่ว่าความเสี่ยงจะมีเฉพาะผู้ประสพภัยทั้ง 13 คน ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือ
ผู้ที่เข้าไปปฏิบัติงานก็มีความเสี่ยงไม่น้อยไปกว่าเหตุการณ์สลดใจที่ไม่มีใครคาดคิด
นำมาซึ่งความสูญเสียจ่าสมาน หรือ นาวาตรี สมาน กุนัน จึงเกิดขึ้นในวันที่ 6 กรกฎาคม
ระหว่างที่เขาทำหน้าที่ลำเลียงถังบรรจุอากาศเข้าไปภายในถ้ำและหมดสติเนื่องจากขาดอากาศเสียชีวิตลง

การสูญเสียกำลังพลแม้เพียงหนึ่งประกอบกับเหตุธรรมชาติที่เป็นภัยบีบเร่งเข้ามาทุกขณะ
นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายฯ
จึงได้แถลงในวันที่ 8 กรกฏาคม ว่า “วันนี้ คือ ดีเดย์” ที่จะเริ่มปฏิบัติภารกิจตั้งแต่เวลา 10.00 น.
โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ 13 คน และซีลไทย 5 คนเข้าร่วมปฏิบัติการ
และคาดว่าเด็กคนแรกจะออกจากถ้ำในเวลาประมาณ 21.00 น.  ตลอด 3 วัน นับจากนั้น
ทั้ง 13  ชีวิตได้ถูกทะยอยลำเลียงออกจากถ้ำหลวงและนำตัวส่งโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
ได้รับการดูแลรักษาจนปลอดภัย รวมทั้งทีมซีลไทยทุกคนที่เข้าไปอยู่เป็นกำลังใจช่วยเหลือเด็กๆ
ในระหว่างเหตุการณ์นั้นมีกระแสข่าวต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย
ทั้งการกล่าวถึงสภาพจิตใจของโค้ชเอกที่มีข่าวออกมาในทำนองสำนึกผิดและโทษตนเอง
ข้อมูลที่ถูกปล่อยในกระแสโซเชียลจะจริงเท็จอย่างไร
โค้ชจะพูด หรือไม่ได้พูดอะไร ตามที่มีเป็นข่าวออกมาหรือไม่ก็ตาม

ในความคิดเห็นของข้าพเจ้า เห็นว่าไม่ควรเอาสาระอะไรตรงนั้น
เพราะสิ่งที่โค้ชเอกทำให้เราเห็นวันนี้ คือ
เค้ามีทั้งสติ ความห่วงใย และเมตตา กับน้องๆ ลูกทีม ทั้ง 12 คน อย่างที่สุด
เพราะภาพแรกที่ข้าพเจ้าได้เห็นในคืนที่พบทั้ง 13 คน 
มันทำให้ข้าพเจ้ารับรู้ได้เลยว่า เด็กน้อย 12 คน ยังคงมีกำลังใจอย่างดี
และหากจะคิดให้ลึกซึ้งสักนิด กำลังใจของเด็กๆ จะมาจากไหนไม่ได้เลย
หากโค้ชของพวกเขาขาดสติ ขาดความเสียสละ สิ้นหวัง และตัดสินใจผิดพลาด
ในขณะที่ตกอยู่ในความมืดมิดไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน
ท่านที่ได้ติดตามข่าวในคืนที่พบเด็กๆ บางช่วงของการสนทนาคงจำได้ว่า
เมื่อเด็กๆ ถามทีมดำน้ำจากอังกฤษ พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าวันเวลาว่าผ่านไปนานเท่าไร
การดูแลประคับประคอง ทั้งร่างกายและจิตใจของเด็กน้อย 12 ชีวิต ไม่นับรวมชีวิตของตนเอง
ให้อยู่รอดในสภาวะวิกฤติที่ไม่อาจรู้ชะตากรรมเช่นนั้นเขาต้องใช้สติ ความเข้มแข็ง และความอดทนเท่าไร
ขณะที่การจับจ้องอยู่หน้าจอ ต่างพากันวิพากย์ไปต่างๆ นานา
นี่คงเป็นอีกหนึ่งบทเรียนของคนไทย ที่ทำให้ต้องทบทวนการใช้สติและวิจารณญาณให้มากในเรื่องต่างๆ
ซึ่งสำหรับตัวข้าพเจ้าเอง สิ่งเดียวที่ทำได้ในตอนนั้น คือ ภาวนาให้ทุกคน ทุกชีวิต กลับออกมาอย่างปลอดภัย
เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นเหตุการณ์ที่โลกต้องจดจำ
ไม่น้อยไปกว่าเหตุการณ์สำคัญครั้งอื่นที่เคยเกิดขึ้นบนโลกใบนี้
เรื่องราวความสูญเสียของคนแปลกหน้าจำนวน 13 คนและครอบครัวที่กลับกลายเป็นพลังผลักดัน
ให้ภารกิจระดับท้องถิ่น ขยายขึ้นสู่ระดับประเทศ และเพิ่มขอบเขตปฎิบัติการจนเป็นภารกิจระดับโลก
ที่ทุกคนต่างยินดีให้ความช่วยเหลือด้วยพลังกายพลังใจและพลังศรัทธาบนความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์
จนในที่สุดก็สามารถช่วยให้ผ่านวิกฤตสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ด้วยความงดงามแห่งมิตรภาพ
ที่ถักทอด้วยสายใยของความเป็นมนุษย์ อันไร้ซึ่งกำแพงขวางกั้นในเรื่องเชื้อชาติ และศาสนา 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร