กฤตภาค ภาคตะวันตก ยุค Thailand 4.0

กฤตภาค  (Clipping)  ของงานศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก หรือ เรียกโดยย่อว่า กฤตภาค ศต. เป็นงานที่อยู่เคียงคู่มากับหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์มาช้านาน ภาพจำนี้ข้าพเจ้าเข้าใจว่าบรรณารักษ์ สว. ทุกท่าน รำลึกอดีตกันได้ทุกคน ด้วยต่างมีภาระร่วมด้วย ช่วยกันทำหน้าที่ตรวจ คัดเลือก ข่าวและบทความต่างๆ จาก นสพ. รายวัน ตลอดจนรายสัปดาห์เพื่อจัดให้บริการ

การเดินทางมายาวนานของกฤตภาคอย่างน้อยตลอด  31 ปี ที่ข้าพเจ้าเข้าทำงาน ไม่นับรวมระยะเวลาที่ได้มาเป็นนักศึกษาฝึกงาน  ณ หอสมุดแห่งนี้ในปีก่อนหน้า หากจะเปรียบกับช่วงชีวิตของคนวัย 30 ต้นๆ ก็นับว่าเป็นช่วงที่เข้าสู่วัยผู้ใหญ่เต็มตัว ที่ควรจะต้องมีหน้าที่การงานที่มั่นคงแล้ว งานกฤตภาคโดยคาดหวัง ในวัยเติบโตเต็มที่ผ่านขบวนการและความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ มาพอประมาณก็ควรจะมีวิถีเป็นไปอย่างมั่นคงเช่นกัน
 
คุณค่าของข่าวมีหลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์และประเมินอย่างไร ขอบเขตเนื้อหาที่จัดเก็บในปัจจุบันครอบคลุมด้านใดบ้าง ตลอดจนพัฒนาการด้านขบวนการ และขั้นตอนในการจัดทำกฤตภาค จากยุคกระดาษที่ต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ในการตัดและติดข่าว ซึ่งเทคนิควิธีการสร้างสรรค์เบื้องหลังนั้นต้องยกคุณงามให้คนรุ่นเก่า ปัจจุบันขบวนการขั้นตอนการจัดทำกฤตภาคปรับเปลี่ยนไปสู่รูปแบบสารสนเทศดิจิตอลตั้งแต่เริ่มต้น ช่วยลดขั้นตอน รวมถึงทรัพยากรที่ต้องใช้ ทำให้ประหยัดเวลาและแรงงาน ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ข้าพเจ้าเคยเล่าสู่ให้ฟังใน บทแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง “คุณค่าข่าว” เขียนไว้เมื่อ 30/07/2014 ซึ่งนับว่านาน 4 ปีผ่านมาแล้ว ติดตามรายละเอียดได้ที่ http://202.28.73.5/snclibblog/?p=43274
 
ดังได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่างานกฤตภาค ศต. ในปัจจุบัน มีความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ พอประมาณ ทั้งในแง่ของบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการทำหน้าที่ ตลอดจนขบวนการและขั้นตอนในการจัดทำ ซึ่งมีเหตุมาจากหลากปัจจัยที่ล้วนผ่านการพิจารณาในความเหมาะควร ด้วยประการทั้งปวงในปัจจุบันขณะนั้นๆ ซึ่งมิได้หมายรวมถึงอนาคตเบื้องหน้า
 
อย่างไรก็ตามแม้สิ่งใดจะเปลี่ยนไป สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลง คือ วัตถุประสงค์หลักในการจัดทำกฤตภาคจาก นสพ. เพื่อประโยชน์ในการนำมาใช้เพื่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ดังข้าพเจ้าได้เคยกล่าวถึงความสำคัญของข่าวในบทความที่อ้างถึงข้างต้นว่า ข่าวให้ข้อมูลที่ “สด ใหม่ เป็นปัจจุบัน ทันเหตุการณ์ ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และเป็นแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ(Primary sources)” จึงจำเป็นที่จะต้องคัดกรองความมีสาระ พร้อมด้วยความครบถ้วนสมบูรณ์ของข่าว เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในเชิงวิชาการได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด
 
การพิจารณาคุณค่าข่าวแม้จะมีเกณฑ์มีแนวทางกำหนดไว้ แต่ในทางปฏิบัติผู้ที่ทำหน้าที่จำเป็นต้องมีทักษะ ที่สั่งสมมาพร้อมประสบการณ์ในการอ่าน การคิด และวิเคราะห์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ มิได้ขึ้นตรงต่อวุฒิ หรือปริญญาบัตรใดใด หากสำคัญอยู่ที่การฝึกฝนด้วยความเพียรและพยายามอย่างตั้งใจ ทั้งนี้ทั้งนั้นภาวะองค์กรของห้องสมุดโดยทั่วไป มักมีการสอนงานกันโดยธรรมชาติของการทำงานร่วมกันอยู่แล้ว ทักษะเหล่านี้จึงสามารถพัฒนา และเรียนรู้ทั้งด้วยตนเองและจากเพื่อนร่วมงานได้ไม่ยากนัก
 
การพิจารณาข่าวหรือบทความจาก นสพ. นั้น สิ่งหนึ่งที่พึงเข้าใจธรรมชาติของ นสพ. คือ การขายข่าว ซึ่งในยุคThailand 4.0 ที่เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนในวิถีปฏิบัติ คือ การทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งแต่เดิมต้องลงมือทำมาก แต่ได้ผลตอบแทนน้อย เปลี่ยนเป็นการลงมือทำน้อยๆ แต่ต้องได้ผลตอบแทนมหาศาล โดยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ และการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วย ในแง่มุมนี้หากใช้ในทางสร้างสรรค์นับแต่จะเกิดผลดี
 
แต่ในทางกลับกันหากการนำนวัตกรรมเข้ามาฉวยแทนการช่วย ผลดีที่เกิดคงมีไม่มากตามที่ควร ดังได้กล่าวถึงประเด็นขายข่าวอันเป็นธรรมชาติของ นสพ. ซึ่งข่าวต่างๆ นั้น มีที่มาจากการทำงานของนักข่าว สายข่าว กระจอกข่าว กระจิบข่าว แล้วแต่สำนักไหนหัวใด จะมีบุคลากรและเครือข่ายอย่างไร ในยุคที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์และเครือข่ายโยงใย การส่งต้นฉบับข่าวหนึ่งๆ อาจต้องใช้เวลาในการพิมพ์ดีด ในการแก้ไขปรับปรุงค่อนข้างมากและต้องทันเวลา ผู้เขียนข่าวจึงจำเป็นต้องมีคุณภาพในระดับหนึ่ง แต่ในยุคที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีเฟื่องฟู การสร้างข่าวจากต้นฉบับเพียงหนึ่ง อาจสามารถดัดแปลง ผลิตซ้ำ และส่งต่อได้อย่างกว้างขวางไม่จำกัดด้วยเวลา สถานที่  ปัจจุบันจึงมักพบปรากฎการณ์ Thailand 4.0 ที่เป็นข้อสังเกตส่วนตัวในการคัดกรองข่าว คือ ข่าวบางประเภท ตัวอย่างเช่น ข่าวเกจิอาจารย์ดังที่มักมีการดัดแปลง ผลิตซ้ำ ส่งต่อ ไปยังหลากสำนักข่าว ตามนามผู้เขียนที่เปลี่ยนไปในแต่ละสังกัด นวัตกรรม 4.0 ทำแต่น้อยพลอยได้มากจึงมิได้พบปรากฎเพียงเท่านั้น หากแต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง บางครั้งจึงพบว่ามีการปัดฝุ่นของเก่านำกลับมาเขียนข่าวใหม่ในสำนักเดิม ที่เพิ่มเติมคือการปรับหัวเปลี่ยนท้ายข่าวพองาม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่เครื่องรางผลิตใหม่ที่ประสงค์ประชาสัมพันธ์


นอกจากประเด็นความซ้ำซ้อนของข่าวจากเหตุดังยกตัวอย่างแล้ว ระดับความเข้มข้นของข่าวแต่ละข่าวก็เป็นอีกเหตุที่ควรให้ความสำคัญในการเก็บรวบรวม ข่าวบางเรื่องมีประเด็นที่น่าสนใจ แต่คุณค่าของเนื้อหาที่ผู้เขียนแต่ละคนนำเสนออาจมีไม่เท่ากัน ข่าวบางชิ้นด้วยตัวข่าวเองอาจไม่มีข้อมูลที่มีคุณค่ามากพอ หรืออาจมีแต่บางเบา แต่ข่าวนั้นๆ อาจมีคีย์เวิร์ด หรือประเด็นที่ทำให้ต้องแสวงหาข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ มาเติมเต็ม ดังตัวอย่างข่าว “พระกริ่งอวโลกิเตศวร ‘พระมหาสุรศักดิ์’ สิ่งมงคลร่วมบูชา-บูรณะวัดประดู่อัมพวา”
บทความนี้ผู้เขียนเกริ่นนำด้วยความสำคัญเก่าแก่ของวัดประดู่ อ.อัมพวา เพียงสั้นๆ โดยสันนิษฐานสมัยการสร้างในปลายกรุงศรีอยุธยา และอดีตมีหลวงปู่แจ้ง เป็นเจ้าอาวาสซึ่งท่านเป็นเกจิที่มีสรรพวิชาเก่งกล้า รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชศรัทธาพระราชทานเครื่องอัฐบริขารถวาย เนื้อข่าวโดยหลักกล่าวถึงพระครูพิศาลจริยาภิรม หรือ พระมหาสุรศักดิ์ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นผู้สืบสานสรรพวิชาสายอัมพวา และสายเพชรบุรีนับเป็นเกจิอาจารย์ที่สำคัญท่านหนึ่งในยุคปัจจุบัน ทั้งเป็นผู้มีฝีมือในงานช่างศิลป์ ตลอดจนบอกเล่าถึงสิ่งที่ท่านได้พัฒนาภายในวัด รวมทั้งการสร้างวัตถุมงคลของท่านจบด้วยข่าวการสร้างวัตถุมงคลใหม่
 
ข่าวในลักษณะนี้ การจัดเก็บให้ความสำคัญในคุณค่าด้านประวัติบุคคล แต่ด้วยเนื้อหาของชิ้นข่าวนั้น ในรายละเอียดมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประวัติบุคคลไม่มากนัก จึงจำเป็นที่จะต้องหาข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ เพื่อเติมเต็ม และกรณีเกจิอาจารย์ดังนั้น ในโลกออนไลน์เป็นเรื่องที่ไม่ยากนักในการหาข้อมูล เมื่อทดลองสืบค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจใน OK Nation Blog เขียนไว้เมื่อปี 2551 เรื่อง “พระมหาสุรศักดิ์ อติสักโข วัดประดู่ ตอน ผู้สืบสานตำนานอาคมสองลุ่มลำน้ำ” โดยผู้ใช้นาม “ศิษย์กวง” เป็นผู้เขียน
เนื้อหาของบันทึกบอกเล่ารายละเอียดในแง่มุมต่างๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น เรื่องราวเกี่ยวกับวัดประดู่ การเสด็จประพาสต้นทางชลมารคของรัชกาลที่ 5 มายังวัดแห่งนี้ บอกเล่าถึงการสัมภาษณ์ประวัติของพระมหาสุรศักดิ์ ตลอดจนเหตุการณ์ในวันที่ผู้เขียนได้ไปนมัสการท่าน พร้อมภาพประกอบต่างๆ เนื้อหาโดยรวม ทำให้ภาพประวัติของบุคคลชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งให้ความรู้ในเรื่องเครื่องรางของขลังต่างๆ ที่ผู้นิยมสนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ http://oknation.nationtv.tv/blog/sitthi/2008/07/19/entry-1
 
ด้วยภารกิจด้านกฤตภาค ที่หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ จัดทำสั่งสมมาเป็นเวลานานถึงกว่า 30 ปี ผ่านคนรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำ ตลอดจนยุคสมัยแห่งข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้ปฏิบัติงานจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอย่างเท่าทันต่อข้อมูล และในวันที่ข้อมูลหลากหลายไหลบ่าอยู่ตรงหน้าเพียงปลายนิ้วสัมผัส การแสวงหา การเก็บรวบรวมข้อมูล ตลอดจนการแสวงหาข้อมูลเพื่อเติมเต็มความครบถ้วนสมบูรณ์แก่กฤตภาคแต่ละเรื่อง ในรูปแบบ Full text อันเป็นการอำนวยความสะดวกและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการค้นคว้าวิชาการอย่างสมประโยชน์ จึงเป็นเรื่องที่สามารถทำได้โดยไม่ยากนัก
 
———————-
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.bangkokbanksme.com/article/10053
http://oknation.nationtv.tv/blog/sitthi/2008/07/19/entry-1

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร