บ้านหลังหนึ่ง อยู่ได้กี่คน ?

ปกติชีวิตจะมีใครสักกี่คนนึกคำถามแบบนี้

เช้าวันนี้ จังหวะของชีวิตที่ไม่ปกติบังเอิญผ่านมา ขณะนั่งทำงานเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงโทรศัพท์มาหา
แจ้งความประสงค์ฝากชื่อญาติในทะเบียนบ้าน เนื่องจากบ้านหลังเดิมที่ญาติเคยเช่าอยู่เจ้าของรื้อถอน
จึงต้องไปเช่าอาศัยที่แห่งใหม่ แต่ปัญหาคือผู้ให้เช่ารายใหม่ไม่อนุญาตให้เข้าชื่อในทะเบียนบ้าน


แรกรับโทรศัพท์ก็ งงๆ และสงสัย เหตุใดจึงไม่เข้าชื่อในทะเบียนบ้านตนเอง
เมื่อสอบถามจึงทราบว่าได้ไปติดต่อขอเข้าชื่อที่เทศบาลแล้ว แต่ไม่ได้รับอนุญาต
เนื่องจากจำนวนรายชื่อที่อาศัยอยู่เดิมในทะเบียนบ้านเขานั้นมีจำนวนมากแล้ว บ้านหลังหนึ่งจะมีจำนวนคนได้ไม่เกิน 16 คน
เมื่อได้ฟังเหตุผลที่เพื่อนบ้านให้รายละเอียด แทนการคลายสงสัย กลับกลายเป็นความสงสัยหนักกว่าเก่า
ด้วยความที่อยากทราบข้อมูลให้กระจ่าง จึงไม่รอช้าที่จะต่อสายด่วนไปยังงานทะเบียนราษฎร์ เทศบาลฯ นฐ.
หลังจากสอบถามกับพี่เจ้าหน้าที่ที่คุ้นเคยสักครู่ คำอธิบายด้วยเหตุผลที่เข้าใจได้โดยไม่ซับซ้อน ข้าพเจ้าจึงถึงบางอ้อ
เหตุที่ไม่อนุญาตการอยู่เป็นหมู่คณะในบ้าน 1 หลัง เกินจำเป็น
สรุปจากคำอธิบาย น่าจะมาจากเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ เหตุแฝงจำนวนคนที่จะมีผลต่อการเลือกตั้ง
เหตุผลนี้เข้าใจได้ไม่ยาก ดังที่เรามักได้ยิน “ชื่อผี” มาอยู่ในทะเบียนบ้านโดยไม่รู้ตัว
ประการที่สอง คือ เหตุเดือนร้อน รำคาญ ต่อผู้เป็นเจ้าบ้าน กรณีที่ผู้มีชื่ออาศัยอาจมาสร้าง “เหตุ” อันไม่พึงปรารถนา
โดยอาศัยชื่อ ที่อยู่ ตามทะเบียนบ้านที่เป็นหลักฐานสำคัญ ที่มักจำเป็นใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆ เช่น
การกู้ยืมทั้งในระบบ นอกระบบ ที่วันดีคืนร้ายผู้เป็นเจ้าบ้านและคนในครอบครัว
อาจประสพเหตุการณ์ มีบุคคลที่รู้จักในนาม “พวกหมวกกันน้อค” มาเยือนแบบไม่เป็นมิตร
ฟังเหตุผลง่ายๆ ที่ผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์เล่าสู่เพียงเท่านี้ ทำให้ตัดสินใจได้ง่ายเข้าว่าควรให้การช่วยเหลือเพื่อนบ้านหรือไม่
กลับมาสู่คำถามที่ตั้งไว้ตามชื่อเรื่อง
ซึ่งในการพูดคุยกับพี่เจ้าหน้าที่เทศบาล ได้ให้คำสำคัญที่ชวนให้ติดตามข้อมูลเพื่อความกระจ่างยิ่งขึ้น
คือ ระเบียบโดยตรงเรื่องจำนวนคนอยู่อาศัย ต่อบ้าน 1 หลังนั้นไม่มี
แต่หลักปฏิบัติ โดยอนุโลมใช้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข
ก็แล้วประกาศที่ว่าคืออะไร?
ครั้นจะซอกแซกถามต่อก็ใช่เรื่อง เกรงใจเวลาทำงานของพี่ท่าน ข้อมูลออนไลน์ จึงเป็นที่พึ่งอันฉับพลันทันใจ
ด้วยคำค้น “ระเบียบจำนวนคนต่อที่อยู่อาศัย” ทำให้พบบทความตรงประเด็น คือ “จำนวนคนต่อที่อยู่อาศัย” 
เขียนโดย ชุมพร  พลรักษ์ จาก นสพ. สยามรัฐ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

บทความโดยสรุป ผู้เขียนแจ้งว่าเป็นการตอบคำถามแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนราษฎร์
ที่สอบถามปัญหาจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เฉพาะอย่างยิ่งระดับท้องถิ่น ที่มักพบปัญหา เช่น
บ้านขนาดเพียง 40 ตารางเมตร มีชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วม 20 คน บางแห่งเป็นห้องเช่า แต่มีชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วม 30 คน
บางแห่งเป็นบ้านพักคนงาน ที่มีชื่อคนอยู่ในทะเบียนบ้านร่วม 100 คน
เมื่อประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก็มักพบ “ชื่อผี” ในทะเบียนบ้าน ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข
แต่ทั้งนี้ไม่พบว่ามีระเบียบทะเบียนราษฎร์ ที่ว่าด้วยเรื่องจำนวนคนต่อบ้าน หรือต่อที่อยู่อาศัยโดยตรง
เมื่อศึกษาระเบียบ และกฎหมายของกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่ากระทรวงสาธารณสุข
มีประกาศกระทรวง 3 ฉบับ กำหนดจำนวนคนต่อพื้นที่ของอาคารประเภทต่างๆ ที่ถือว่ามีคนอยู่มากเกินไป
ซึ่งพอจะใช้เป็นข้ออ้างอิงตามกฎหมาย เพื่อความถูกต้องและมีระเบียบรองรับ เพื่อจัดการ “ชื่อผี” ในทะเบียนบ้านได้
ประกาศดังกล่าวได้แก่

  • ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ 6/2538 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 ลงนามโดย อาทิตย์ อุไรรัตน์ รมต. สาธารณสุข
    ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนที่ 58 ง วันที่ 20 กรกฎาคม 2538 หน้า 20
    เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่อจำนวนพื้นที่ของอาคารที่พักอาศัยที่ถือว่ามีคนอยู่มากเกินไป  
  • ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ 7/2538 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 ลงนามโดย อาทิตย์ อุไรรัตน์ รมต. สาธารณสุข
    ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนที่ 58 ง วันที่ 20 กรกฎาคม 2538 หน้า 21-22 
    เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่อจำนวนพื้นที่ของอาคารที่พักของคนงานก่อสร้าง ที่ถือว่ามีคนอยู่มากเกินไป
  • ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ 8/2538 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 ลงนามโดย อาทิตย์ อุไรรัตน์ รมต. สาธารณสุข
    ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนที่ 58 ง วันที่ 20 กรกฎาคม 2538 หน้า 23 
    เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่อจำนวนพื้นที่ของอาคารโรงงาน ที่ถือว่ามีคนอยู่มากเกินไป 

โดยประกาศทั้ง 3 ฉบับ มีสาระสำคัญในข้อ 2 ซึ่งต่างกำหนดจำนวนคนต่อจำนวนพื้นที่อาคารแต่ละประเภทระบุไว้ตรงกันว่า
พื้นที่ที่มีคนอยู่เกินกว่าหนึ่งคนต่อพื้นที่ 3 ตารางเมตร ถือว่ามีคนอยู่มากเกินไป
เรื่องราวที่นำมาฝากเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ข้าพเจ้าไม่เคยรู้ จึงนำมาแบ่งปัน…รู้ไว้ใช่ว่านะคะ
ข้อมูลอ้างอิง
http://www.siamrath.co.th/web/?q=จำนวนคนต่อที่อยู่อาศัย 
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2538/D/058/20.PDF
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2538/D/058/21.PDF
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2538/D/058/23.PDF

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร