การจัดหา

การจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ หมายถึง วิธีการต่างๆ ที่จะทำให้ได้มาซึ่งทรัพยากรสารสนเทศเพื่อการบริการผู้ใช้ในห้องสมุด โดยปกติ จากที่เราร่ำเรียนกันมาในวิชาชีพบรรณารักษ์ก็จะมีอยู่ 5 วิธีด้วยกัน คือ การจัดซื้อ การขอและรับบริจาค การแลกเปลี่ยน การบอกรับ และการผลิตหรือจัดทำขึ้นเอง
สำหรับในส่วนของหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์นั้น บรรณารักษ์ผู้รับผิดชอบก็ดำเนินการอยู่ขั้นตอนและวิธีการทั้ง 5 วิธีการดังกล่าว ด้วยเช่นกัน โดยทรัพยากรสารสนเทศที่จัดหามานั้น เป็นทรัพยากรสารสนเทศที่จัดหาตามนโยบายหรือวัตถุประสงค์ของห้องสมุด ให้ความรู้พื้นฐานเบื้องต้นที่สำคัญของสาขาวิชาต่าง ๆ ทรัยากรสารสนเทศที่เป็นที่ต้องการของผู้ใช้ห้องสมุด ทรัพยากรสารสนเทศในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่ต้องทันสมัย ซึ่งบรรณารักษ์จะติดตามความเคลื่อนไหวของทรัพยากรสารสนเทศที่ออกมาใหม่ ๆ จากเครื่องมือช่วยการคัดเลือกทรัพยากรสารสนเทศเพื่อช่วยในการพิจารณา เช่น หน้าเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ จากหน้าเฟสบุ๊คของสำนักพิมพ์และผู้เขียน, ผู้แปล จากแคตตาล็อกที่สำนักพิมพ์ส่งมาให้คัดเลือก เป็นต้น
1. การจัดซื้อ

  • หอสมุดฯ จะดำเนินการจัดซื้อหนังสือในส่วนของงบประมาณของคณะวิชาที่หอสมุดฯได้จัดสรรไปให้ ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากภาควิชาหรือคณะวิชาโดยอาจารย์เป็นผู้คัดเลือกให้
  • หอสมุดฯ จะดำเนินการจัดซื้อหนังสือในส่วนงบประมาณของหอสมุดฯ บรรณารักษ์จะเป็นผู้คัดเลือกด้วยวิธีการดังนี้ 1) ร้านค้าเสนอขาย โดยการนำตัวเล่มหนังสือมาเสนอคัดเลือก ณ ห้องสมุด หรือที่ภาควิชิา/คณะวิชา 2) บรรณารักษ์จะเป็นผู้คัดเลือกหนังสือจากเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ จากหน้าเฟสบุ๊คของสำนักพิมพ์ รวมทั้งในงานต่างๆ ที่จัดเกี่ยวกับหนังสือ เช่น งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติฯ งานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ งานบุ๊คแฟร์ เป็นต้น 3) บรรณารักษ์จะเป็นผู้คัดเลือกหนังสือโดยตรงที่ร้านค้า 4) อาจารย์ นักศึกษาและผู้ใช้ทั่วไป เสนอรายการหนังสือเพื่อสั่งซื้อเข้าห้องสมุด 5) บรรณารักษ์ หรือ อาจารย์ พิจารณาคัดเลือกจากรายการหนังสือหรือ Catalog หนังสือ
  • หนังสือที่ได้รับการจัดซื้อได้แก่ หนังสือที่ยังไม่มีให้บริการในหอสมุดฯ และหรือหนังสือที่มีบริการในหอสมุดฯ แล้ว แต่ถ้ามีผู้ใช้บริการมาก และไม่เพียงพอกับความต้องการ
  • การจัดซื้อหนังสือจากตัวแทนจำหน่ายหนังสือ จะพิจารณาจากร้านค้าที่มีการเสนอราคาที่ยุติธรรม ราคาถูกกว่าร้านอื่น ส่งของถูกต้อง ตรงต่อเวลา และให้บริการด้วยความรวดเร็ว
  • การจัดซื้อหนังสือหอสมุดฯ จะดำเนินการเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องตลอดปีงบประมาณ

2. การขอและรับบริจาค
เป็นวิธีการที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะได้มาซึ่งทรัพยากรสารสนเทศ (หนังสือ วารสาร โสตทัศนวัสดุ) เนื่องจากทรัพยากรบางอย่างไม่มีการวางจำหน่าย การขอและรับบริจาคหอสมุดฯ อาจทำเป็นครั้งคราวหรือเป็นประจำจากแหล่งที่บริจาค ได้แก่ หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ หรือหอสมุดฯ อาจได้รับเองโดยไม่ต้องขอ หนังสือบริจาคที่ได้รับจากทั้งหน่วยงานหรือส่วนบุคคล หอสมุดฯจะทำการคัดเลือก เนื่องจากมีทั้งเก่าและใหม่ และอาจไม่ตรงตามความต้องการ ประเมินคุณค่าและพิจารณาจัดให้บริการในหอสมุด โดยใช้เกณฑ์เดียวกับหนังสือซื้อได้แก่ หนังสือที่ยังไม่มีให้บริการในหอสมุดฯ และหรือหนังสือที่มีบริการในหอสมุดฯ แล้วแต่มีผู้ใช้บริการมาก และไม่เพียงพอกับความต้องการ และนโยบายในการขอหรือรับบริจาค
3.  การแลกเปลี่ยน
เป็นการแลกเปลี่ยนทรัพยากรสารสนเทศกันระหว่างห้องสมุด เป็นทรัพยากรสารสนเทศที่ไม่มีวางจำหน่าย เช่น วิทยานิพนธ์ หรือสิ่งพิมพ์ที่หน่วยงานผลิต ฯลฯ อาจทำได้ 2 วิธี
3.1 การแลกเปลี่ยนโดยตรงระหว่างห้องสมุด เช่น คณะทำงานฝ่ายพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศห้องสมุดที่มีการส่งรายชื่อให้แก่ห้องสมุดที่สนใจเพื่อคัดเลือก
3.2   การแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานที่เป็นตัวกลาง เช่น งาน Friend of Librarys (จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)
4. การบอกรับ
การบอกรับเป็นวิธีการที่นิยมใช้กับทรัพยากรสารสนเทศที่มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เช่น วารสาร ฐานข้อมูล การบอกรับกระทำโดยการเป็นสมาชิกของสำนักพิมพ์/ผู้ผลิตโดยตรงหรือผ่านตัวแทนจำหน่าย/บริษัทผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการ 
5. การผลิตหรือจัดทำขึ้นเอง
หอสมุดฯจำเป็นต้องมีการผลิตทรัพยากรสารสนเทศบางประเภทขึ้นเอง เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ เช่น กฤตภาค ดัชนีวารสาร โสตทัศวัสดุบางประเภท  รวมทั้งการแปลงสื่อสิ่งพิมพ์บางประเภทเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น หนังสือหายากบางเล่มที่แปลงเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสะดวกในจัดเก็บและเข้าถึงของผู้ใช้
การสั่งซื้อ
ในกรณีนี้จะกล่าวถึงเฉพาะ กรณีการซื้อไม่ใช้เงินสดหรือการซื้อแบบเครดิต ด้วยการไปเลือกซื้อที่ร้านค้า/ตัวแทนจำหน่าย  และนำใบเสนอราคาหรือใบคัดเลือกมาด้วยตัวเอง หรือ เลือกจากรายการหนังสือหรือ Catalog หนังสือที่ร้านนำมาเสนอ
            **อาจารย์แต่ละคณะ/ภาควิชาสามารถจะไปเลือกซื้อหนังสือจากร้านค้าด้วยตัวเอง จึงมีโอกาสพิจารณาเนื้อหาของหนังสือได้ที่ตรงสาขาวิชาที่สอน
มีวิธีการดังนี้
           1. เลือกตัวเล่มตามสาขาวิชาที่ต้องการสั่งซื้อ แล้วคัดตัวเล่มหรือรายชื่อออกมารวมไว้
           2. แจ้งให้ร้านทำใบเสนอราคา หรือไปคัดเลือกหนังสือที่เลือกไว้โดยให้รายละเอียดต่างๆ คือ ราคา, ชื่อหนังสือ, ชื่อผู้แต่ง, ISBN ฯลฯ ระบุชื่ออาจารย์ผู้เลือกและภาควิชา(ในกรณีที่อาจารย์เป็นผู้คัดเลือก) เพื่อส่งให้หอสมุดฯ ตรวจสอบซ้ำ
            3. ร้านค้าส่งเอกสารตามข้อ 2 มายังหอสมุดฯ
          4. หอสมุดฯ ตรวจสอบซ้ำซ้อน แจ้งว่ามีบริการในหอสมุดฯแล้ว (พร้อมจำนวนและปริมาณการยืมแก่อาจารย์ผู้เลือก ในกรณีที่อาจารย์เป็นผู้คัดเลือก) หรือยังไม่มีบริการในหอสมุดฯ
            5. หอสมุดฯ ส่งทำบันทึกไปยังคณะ/ภาควิชาให้ทำบันทึกฯ การยืนยันการสั่งซื้อ หรือยกเลิก เพื่อที่คณะจะได้ควบคุมวงเงิน และส่งให้หอสมุดฯ (ในกรณีที่อาจารย์เป็นผู้คัดเลือก) 
            6. หอสมุดฯ ดำเนินการสั่งซื้อจากร้านค้า/ตัวแทนจำหน่าย
 
*ข้อควรระมัดระวัง หนังสือหรือเอกสารที่ซื้อต้องเป็นเอกสารใหม่ที่ยังไม่ผ่านการใช้งานมาก่อน

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร