จะเลี้ยงดูลูกอย่างไรให้มีสุขภาพจิตดี

23 February 2018
Posted by worra

          เด็กที่มีสุขภาพจิตดี หมายความว่า  เด็กที่มีการพัฒนาการเป็นตามวัยปกติ  มีอารมณ์รื่นเริง  และมีสติปัญญาที่พัฒนาการเหมาะสมไปตามวัย  สามารถทำงานเป็นกลุ่ม  เข้าสังคมได้   เวลาที่มีความเครียดหรือมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมเด็กสามารถปรับตัวได้   และมีความคิดสร้างสรรค์  มีความอยากรู้อยากเห็น      มีเด็กบางรายที่มีสุขภาพจิตไม่ดี  อาจเกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่  ผู้ปกครอง  เช่นการปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพัง  ไม่มีเวลาให้และไม่ให้ความสำคัญ   ทั้งๆที่เด็กมีสติปัญญาที่ดี  แต่จะทำให้เด็กไม่รู้จักการเข้าสังคม  ชอบและชินกับการอยู่คนเดียว  ไม่มีเพื่อน  เด็กลักษณะนี้อาจจะนั่งเฉยๆ อยู่คนเดียวและไม่ยอมเล่นกับใคร อย่างนี้ถือว่ามีสุขภาพจิตไม่ดี
 
การจะเลี้ยงลูกให้มีสุขภาพจิตดีมีหลายประการ เช่น
          ประการแรก : พ่อแม่ต้องมีสุขภาพจิตดีด้วย มีความสุข มีความรื่นเริง มีความเป็นอยู่สมกับเศรษฐฐานะ และมีความรักความผูกพันในครอบครัว
          ประการที่สอง : ครู เพราะโรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านที่สองของเด็ก เพราะฉะนั้นครูจึงเปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่สอง ครูจะต้องเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดีด้วย การเรียนการสอนต้องเหมาะสมกับวัย ส่วนการเรียนการสอนที่มากจนเกินไป เช่น วัยอนุบาลก็สอนกันอย่างเข้มข้นมากมายเกินกว่าวัย จะทำให้เด็กมีสุขภาพจิตไม่ดีได้
          วัยเด็กเป็นวัยที่มีพัฒนาการหลายๆ ด้าน ไม่ใช่พัฒนาด้านสติปัญญาอย่างเดียว  ควรมีการพัฒนาการด้านอารมณ์ บุคลิกภาพ และร่างกาย  เด็กควรจะมีการออกกำลังกาย  มีการเล่นอะไรต่างๆ  ไม่ใช่การมุ่งแต่เรียนหนังสือเท่านั้น   สิ่งที่เด็กอยากเรียนรู้และมีสุขภาพจิตดีในวันข้างหน้า คือการเรียนรู้ชีวิตประจำวัน  การทำกิจกรรม
 
พ่อแม่ควรทำอย่างไรให้ลูกมีสุขภาพจิตดี
1. ควรจะเข้าใจธรรมชาติของเด็ก รู้ว่าเด็กวัยนี้มีลักษณะอย่างไร เพื่อที่จะได้ดูแลเขาให้ถูกต้องตามวัย เช่น
–  วัยรุ่น  จะเป็นตัวของตัวเอง  อยากมีอิสระ  อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย  การดูแลจะทำเหมือนเด็กไม่ได้
–  วัยอนุบาล  เป็นวัยที่ยังไม่พร้อมที่จะเรียนมากมาย พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าวัยนี้เป็นวัยที่เตรียมตัวเข้าเรียน ไม่ใช่อัดอะไรให้ทุกอย่าง
 
2. ตอบสนองความต้องการของเด็กอย่างถูกต้อง ความต้องการของเด็กมี 2 อย่างคือ
–  ความต้องการทางร่างกาย  เช่น  การออกกำลังกาย เรื่องอาหาร
–  ความต้องการทางจิตใจ  เช่น  ให้ความรัก ความผูกพัน  ความอบอุ่น ความมั่นคง  ทำให้รู้สึกปลอดภัย
การตอบสนองที่ถูกต้อง พ่อแม่ต้องไม่ใช้ตัวเองเป็นมาตรฐานหรือเป็นศูนย์กลาง  ต้องใช้เด็กเป็นเกณฑ์ เพราะเด็กแต่ละวัยมีความต้องการต่างกัน  ถ้าพ่อแม่ใช้ตัวเองเป็นเกณฑ์จะเป็นความต้องการของพ่อแม่มากกว่าเป็นความต้องการเด็ก
 
 3. กระตุ้นให้เหมาะสมกับวัย หากเซลล์สมองของเด็กถ้าได้รับการกระตุ้นตามสมควร และเหมาะสมกับวัยจะทำให้เซลล์สมองพัฒนาได้ดี   การกระตุ้นเด็กให้เด็กได้เรียนรู้  ให้เด็กได้สัมผัส  ให้เด็กมีปฏิกิริยาต่อสิ่งต่างๆ ทำให้เด็กได้มีพัฒนาการทางด้านสติปัญญาได้ดี
 
4. เลี้ยงให้เป็นตัวของตัวเอง ให้สามารถปรับตัวได้ เมื่อเจอความตึงเครียด หรือเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ใช่คอยปกป้องตลอดเวลา เพราะเมื่อสิ้นพ่อแม่ไปแล้วลูกจะช่วยตัวเองไม่ได้
 
5. มีทัศนคติสายกลาง รักอย่างพอดี เพราะบางคนรักและทะนุถนอมเลี้ยงลูกอย่างไข่ในหิน ต่อไปข้างหน้าเด็กจะขาดทักษะในการปรับตัว เวลาพ่อแม่ปกป้องและเมื่อไม่มีพ่อแม่ปกป้องจะลำบาก ทำอะไรไม่ได้ และไม่กล้าตัดสินใจ
 
6. ตามใจมากเกินไป จะทำให้เด็กใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง ทำให้เข้ากับเพื่อนไม่ได้
 
7. เลี้ยงอย่างวิตกกังวล พ่อแม่มักจะคอยย้ำถาม ย้ำปฏิบัติ ลูกไม่อยากได้พ่อแม่ก็ถามอยู่เรื่อย เด็กที่พ่อแม่เลี้ยงอย่างวิตกกังวลจะกลายเป็นคนหงุดหงิด ในที่สุดก็จะกลายเป็นคนวิตกกังวลไปด้วย
 
8. เลี้ยงอย่างเจ้าระเบียบมากเกินไป ทำอะไรไม่เคยถูกใจพ่อแม่เลย เพราะพ่อแม่เป็นคนจู้จี้จุกจิก จะทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองค่อนข้างจะต่ำต้อย  ไม่มั่นใจ  ปรับตัวยาก  ไม่กล้าแสดงออก  ไม่กล้าตัดสินใจ  และรู้สึกว่าด้อยกว่าคนอื่น
 
9. ปฏิเสธและไม่รักลูก เช่น ลูกที่เกิดมาจากพ่อแม่ที่อายุน้อยไม่ได้หวังว่าจะให้เกิดมา หรือไปดูดวงมาว่าถ้าเกิดในช่วงนี้จะทำให้บ้านล่มจม กลายเป็นเด็กที่พ่อแม่ไม่ต้องการ  พ่อแม่จะลงโทษและแสดงความจงเกลียดจงชัง  ทำให้ความรู้สึกผูกพันและความรักพื้นฐานไม่เกิดขึ้น  อนาคตเด็กเมื่อโตขึ้นจะกลายเป็นคนที่ต่อต้านสังคม ก้าวร้าวรุนแรง
 
ที่มา  นิตยสารหมอชาวบ้าน  เล่มที่ 108

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร