ว่าด้วยเรื่อง “ไปราชการ”

14 February 2018
Posted by sukanya

คงมีบ้างนะคะ ที่เราได้รับคำสั่งให้ไปราชการ เพื่อเข้าร่วมประชุม อบรม หรือเข้าร่วมสัมมนา แล้วเกิดความรู้สึกว่า ไม่เห็นอยากไปเลยกลับมาต้องเขียนรายงาน ให้ไปอีกแล้วทำไมไม่ให้คนอื่นไปบ้าง ไม่อยากเดินทางไกลให้ไปไกล ๆ อยู่ได้ ให้ไปคนเดียวทำไมไม่ให้มีเพื่อนไปด้วย และอื่น ๆ อีกมากมาย
 
เราควรทำใจร่ม ๆ แล้วคิดตามเหตุและผล เราจะรับรู้ว่า สิ่งที่ผู้บริหารสั่งให้เราไปนั้น มันสมควรแล้วด้วยประการทั้งปวง เช่น
1.  เป็นงานที่เรารับผิดชอบอยู่ จึงต้องเข้าร่วมประชุมในฐานะตัวแทนของหน่วยงาน หรือต้องไปปฏิบัติงานเหล่านั้น
2.  เพื่อเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ ความสามารถของเรา ทำให้เราไปรับรู้ว่าที่อื่น ๆ เขาเป็นอย่างไรกัน วิธีการทำงานหรือวิทยาการต่าง ๆ ในสาขาวิชาชีพของเราก้าวหน้าไปไกลถึงไหนแล้ว ซึ่งเรามักจะเรียกกันเล่น ๆ ว่า “ไปเปิดกะโหลก” หรือ “ไป Update ข้อมูล”
3.  เพื่อให้ไปรู้จักเพื่อนร่วมวิชาชีพ จะได้เป็นเครือข่ายในการทำงานต่อไป
4.  องค์กรของเราได้นำเทคโนโลยีหรือวิธีการทำงานใหม่ ๆ เข้ามาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานให้กับเรา หรือเพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการให้กับองค์กร ซึ่งมีประโยชน์ทั้งตัวเราเองและองค์กรของเรา
 
และเมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้รับบันทึกข้อความจากหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัย ส่งถึงผู้บริหารหอสมุด เรื่อง แจ้งยืนยันผู้เข้าร่วมโครงการประชุมสัมมนาฯ เนื้อความตอนหนึ่งระบุว่า “…เจ้าหน้าที่…ทุกคน ต้องเข้ารับการอบรมทุกระบบการใช้งาน ดังนั้น หากบุคลากรในสังกัดของท่านติดราชการหรือภารกิจอื่น ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ ให้เสนอขออนุญาตต่อรองอธิการบดี…พร้อมชี้แจงเหตุผลความจำเป็น โดยเสนอผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ภายในกำหนดข้างต้น อนึ่ง เมื่อแจ้งยืนยันรายชื่อแล้ว หากบุคลากรขอยกเลิกการเข้าร่วมโครงการ…ภายหลังวันที่…บุคลากรต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง เนื่องจากเมื่อยืนยันจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการกับสถานที่พักแล้ว ทางสถานที่พักจะคิดค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่มหาวิทยาลัยยืนยัน
 
เนื้อความดังกล่าวหากมองกันอย่างผิวเผินอาจจะคิดว่าเป็นคำสั่งอย่างเฉียบขาด หากมองกันอย่างลึกซึ่งหรือมองในแง่บวกจะพบว่า สิ่งที่มหาวิทยาลัยกำลังเพียรพยายามจัดการอบรมเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องนี้ เพื่อให้เราสามารถทำงานในระบบงานใหม่ที่มหาวิทยาลัยจัดหาเข้ามา เข้าข่ายเหตุและผลทั้ง 4 ประการข้างต้น เราจึงให้ความร่วมมือเข้าอบรมอย่างตั้งใจ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและทำและใช้งานในระบบงานต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง เพื่อจะไม่ทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติงานของเราเองซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของคนอื่นที่เกี่ยวข้องกับงานของเราด้วย และที่ต้องให้บุคลากรรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเองนั้น ในการจัดงานแต่ละครั้งต้องมีค่าใช้จ่ายตามรายหัวของผู้เข้าร่วม เช่น ค่าอาหาร ค่าที่พัก หากผู้ไม่เข้าร่วมงานดังกล่าวไม่เข้าร่วมงานตามกำหนดโดยไม่แจ้งล่วงหน้าก่อนที่ผู้จัดจะยืนยันในเรื่องดังกล่าว ทางผู้จัดก็ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้
 
สิ่งที่เราต้องดำเนินการ เมื่อได้รับอนุมัติให้ไปราชการเพื่อเข้าร่วมประชุม อบรม สัมมนาหรือไปปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ คือ
1.  ลงทะเบียนการเข้าร่วมประชุม อบรม หรือสัมมนา ซึ่งมีทั้งการลงทะเบียนแบบ Online หรือที่เป็นแบบฟอร์มในกระดาษโดยกรอกข้อความและจัดส่งไปให้หน่วยงานผู้จัด
2.  ยืมเงินทดรองจ่าย และนำไปชำระค่าลงทะเบียน
3.  ยืมเงินทดรองจ่าย และไปจองตั๋วโดยสาร ไม่ว่าจะเป็น รถไฟ เครื่องบิน หรือรถโดยสารประจำทาง ค่าตั๋วโดยสารนี้หากมีการยกเลิกหรือเปลี่ยนตั๋วด้วยประการทั้งปวง ผู้ไปราชการต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง ราคาตั๋วที่เบิกจ่ายเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการได้ ได้แก่ ค่าโดยสารและภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจะไม่สามารถเบิกฯ ได้ เช่น ค่าเบี้ยประกันภัย ค่าสัมภาระเพิ่มเติม ค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนตั๋ว เป็นต้น  (ดูเพิ่มเติมได้จาก blog อยากโดยสารเครื่องบินไปราชการในประเทศ)
4.  จองโรงแรมที่พัก อัตราค่าที่พักนี้จะเบิกได้ตามสิทธิของแต่ละคน หากเดินทางไปราชการหลายคนต้องพักห้องคู่ หากมีเศษหรือคนละเพศสามารถพักห้องเดี่ยวได้แต่เบิกค่าที่พักได้ภายในวงเงินตามสิทธิ
5.  ก่อนวันเดินทาง มายืมเงินทดรองจ่ายเพื่อนำไปจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในระหว่างเดินทาง โดยคำนวณเงินมาให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลเงินทดรองจ่ายดูด้วยว่าต้องนำไปจ่ายค่าอะไรบ้าง เป็นเงินประมาณเท่าไร เพื่อจะได้ให้ยืมเงินไปพอกับค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น
6.  เดินทางไปราชการ โดยปกติในคำสั่งให้ไปราชการ มักจะอนุมัติให้เดินทางล่วงหน้าได้ไม่เกิน 1 วัน และกลับถึงบ้านได้ไม่เกิน 1 วันนับจากวันที่เข้าร่วมประชุม อบรม หรือสัมมนาเสร็จสิ้น แต่ก็มีข้อยกเว้น (ดูเพิ่มเติมได้จาก blog การเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางกรณีที่มีการลาก่อนหรือหลังปฏิบัติราชการ)
7.  เก็บรวบรวมหลักฐานการชำระเงินต่าง ๆ เช่น ค่าลงทะเบียน ค่าเช่าที่พัก กากตั๋วโดยสารยานพาหนะต่าง ๆ เป็นต้น
8.  จัดทำเอกสารเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ โดยแนบหลักฐานตามข้อ 7
9.  จัดทำรายงานสรุปเนื้อหา เสนอผู้บริหาร
 
สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ ต้องได้รับอนุมัติหรือได้รับคำสั่งให้ไปราชการก่อนจึงจะไปดำเนินการลงทะเบียนเข้าร่วมอบรม ประชุมหรือสัมมนาหรือไปจองตั๋วโดยสารได้  เพราะหากไปดำเนินการก่อนจะเป็นการไปทำโดยพลการก่อนที่ผู้บริหารจะอนุมัติให้เดินทางไปราชการ (วันที่ในเอกสารเหล่านั้นกับวันที่ได้รับอนุมัติหรือสั่งให้ไปราชการจะขัดแย้งกัน)  😆 
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร