การจัดซื้อจัดจ้าง

7 February 2018
Posted by Nong Panida

“การจัดซื้อจัดจ้าง” เป็นประโยคที่หลายคนไม่อยากได้ยินแม้แต่ผู้ปฏิบัติงานด้านนี้โดยตรงก็ตาม ยิ่งตอนนี้มีพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ด้วยแล้ว ยิ่งมีข้อปฏิบัติที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น  แต่เมื่อเป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบก็ต้องปฏิบัติให้ดีที่สุด  ซึ่งวิชาพัสดุก็ไม่มีสอนไว้ในบทเรียน เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ และการฝึกอบรมก็เป็นการเรียนรู้งานเพื่อปฏิบัติงานให้เกิดการผิดพลาดน้อยที่สุด และหน่วยงานก็ได้ส่งไปอบรมฯ ทุกครั้งที่มีการจัดอบรมในเรื่องที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งพอสรุปได้ตามความเข้าใจได้คือ กระทรวงการคลัง  แจ้งให้ยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับการพัสดุ การจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ ข้อบัญญัติและข้อกำหนดใด ๆ ของหน่วยงานของรัฐ (เดิม) และให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพราะต้องการให้มี      

  1. การจัดซื้อจัดจ้างมีกรอบการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
  2. มุ่งเน้นการเปิดเผยข้อมูล เพื่อความโปร่งใสและมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
  3. คำนึงถึงวัตถุประสงค์การใช้งานเป็นสำคัญ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงิน
  4. เน้นการวางแผนและประเมินผล เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  5. ส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อตรวจสอบและป้องกันการทุจตริต
  6. การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อการเปิดเผยโปร่งใส

การจัดซื้อจัดจ้าง การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุ ได้แก่การซื้อ การจ้าง การเช่า หรือแลกเปลี่ยน ซึ่งต้องดำเนินการจัดหาตาม
ระเบียบพัสดุ ไม่ว่าจะเป็นสินค้า งานจ้างก่อสร้าง การจ้างออกแบบและควบคุมงาน งานจ้างที่ปรึกษา หรืองานบริการ เป็นต้น
               สินค้า หมายถึง วัสดุ ครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง การจำแนกว่าอะไรเป็นวัสดุ อะไรเป็นครุภัณฑ์ ตาม ว.68 ให้พิจารณาถึงความคงทนถาวร เสียแล้วสามารถนำกลับมาซ่อมใช้ใหม่ได้ เช่น เก้าอี้พลาสติก จัดให้เป็นวัสดุ แต่เก้าอี้ไม้จัดให้เป็นครุภัณฑ์ ลักษณะการใช้งานมีความคงทนถาวร ใช้งานเกิน 1 ปี แต่เก้าอี้พลาสติกเมื่อชำรุด หัก ไม่สามารถซ่อม/นำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก
งานบริการ  แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

  1. งานจ้างบริการ เป็นการจ้างแรงงานอย่างเดียว
  2. งานจ้างเหมาบริการ เป็นการจ้างทั้งคนและของ (วัสดุอุปกรณ์)
  3. งานจ้างทำของ
  4. การรับขนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

งานก่อสร้าง แบ่งเป็น

  1. งานก่อสร้างอาคาร เช่น อาคารที่ทำการ โรงพยาบาล โรงเรียน สนามกีฬา เสาธง รั้ว
  2. งานสาธารณูปโภค เช่น ประปา ไฟฟ้า สื่อสาร โทรคมนาคม การระบายน้ำ การขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางเรือ ทางอากาศ
  3. การปรับปรุงซ่อมแซม

            ราคากลาง หมายความว่า ราคาเพื่อใช้เป็นฐานสำหรับเปรียบเทียบราคาที่ผู้ยื่นข้อเสนอ ได้ยื่นเสนอไว้ซึ่งสามารถจัดซื้อจัดจ้างได้จริงตามลำดับ คือ

  • ราคาที่ได้มาจากการคำนวณตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการราคากลางกำหนด
  • ราคาได้ที่มาจากฐานข้อมูลราคาอ้างอิงของพัสดุที่กรมบัญชีกลางจัดทำ
  • ราคามารฐานที่ได้จากสำนักงบประมาณหรือหน่วยงานกลางอื่นกำหนด

ข้อ (2) และ (3) เป็นราคาที่ราชการกำหนดไว้แล้ว

  • ราคาที่ได้มาจากการสืบราคาจากท้องตลาด

ระเบียบไม่ได้กำหนดว่าต้องสืบราคาอย่างน้อย 3 ร้าน ถ้ามีข้อกำหนดว่าเป็นผู้ผลิตแต่เพียงผู้เดียว จะมีร้านอื่นไม่ได้

  • ราคาที่เคยซื้อหรือจ้างครั้งหลังสุดภายในระยะเวลาสองปีงบประมาณ
  • วิธีอื่นใดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือแนวทางการปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐนั้น ๆ

ในกรณีที่มีราคาตาม (1) ให้ใช้ราคาตาม (1) ก่อน ในกรณที่ไม่มีราคาตาม (1) แต่มีราคาตาม (2) หรือ (3) ให้ใช้ราคาตาม (2) หรือ (3) ก่อน  โดยจะใช้ราคาใดตาม (2) หรือ (3) ให้คำนึงถึงประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐเป็นสำคัญ ในกรณีที่ไม่มีราคาตาม (1) (2) และ (3) ให้ใช้ราคาตาม (4) (5) หรือ (6) โดยจะใช้ราคาใดตาม (4) (5) หรือ (6) ให้คำนึงถึงประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐเป็นสำคัญ  การใช้ราคากลางต้องเลือกข้อ (1) ก่อนทุกครั้ง ต้องใช้ราคากลางตามลำดับข้อ หรือถ้าใช้ (4) – (6) ต้องมีข้อชี้แจงว่าราชการได้ประโยชน์อะไรบ้าง  การซื้อสินค้าหรือบริการสามารถซื้อเกินราคากลางได้ แต่ต้องมีเหตุผลชี้แจงได้ว่าราชการได้ประโยชน์อย่างไร  การซื้อหรือจ้างตั้งแต่ 100,000.- บาทขึ้นไป ต้องประกาศราคากลาง  ราคากลางงานก่อสร้างจะต้องไม่มากว่าราคากลางที่กำหนด และมีอายุ 30 วัน ถ้าเกินแล้วต้องมีการทบทวนใหม่
             เงินงบประมาณ หมายความว่า เงินงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ เงินซึ่งหน่วยงานของรัฐได้รับไว้โดยได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีให้ไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวีการงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เงินซึ่งหน่วยงานของรัฐได้รับไว้โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามกฎหมาย และเงินภาษีอากร ค่าธรรมเนียม หรือผลประโยชน์อื่นใดที่ตกเป็นรายได้ของราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายหรือที่ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจเรียกเก็บตามกฎหมาย และให้หมายความรวมถึงเงินกู้ เงินช่วยเหลือ และเงินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง  ซึ่งท่านวิทยากรแจ้งว่าเงินรายได้ทั้งหมดถือเป็นเงินงบประมาณภายใต้พระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างที่กฎหมายกำหนดด้วย
             หน่วยงานภาครัฐ หมายถึง ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หน่วยงานอิสระของรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับของรับ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งหน่วยงานต้องกลับไปดูกฎหมายจัดตั้งว่ามีบัญญัติว่าเป็นหน่วยงานของรัฐหรือไม่  ถ้าเป็นก็ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 นี้ด้วย
หมวด 1 บททั่วไป 
       มาตรา 6  เพื่อให้การปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุโดยใช้เงินงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ   เกิดความคุ้มค่าต่อภารกิจของรัฐ และป้องกันปัญหาการทุจริต ให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามแนวทางของพระราชบัญญัตินี้ และกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้
      มาตรา 7  พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่

  • การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง
  • การจัดซื้อจัดจ้างยุทโทปกรณ์และการบริการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ โดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือโดยการจัดซื้อ

จัดจ้างจากต่างประเทศที่กฎหมายของต่างประเทศนั้นกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

  • การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนา การให้บริการทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา หรือการจ้างที่ปรึกษา ทั้งนี้

ไม่สามารถดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ได้

  • การจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้เงินกู้หรือเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ สถาบันการเงินระหว่าง

ประเทศ องค์การต่างประเทศทั้งในระดับรัฐบาลและที่มิใช่ระดับรัฐบาล มูลนิธิหรือเอกชนต่างประเทศ ที่สัญญาหรือข้อกำหนดในการให้เงินกู้หรือเงินช่วยเหลือกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

  • การจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้เงินกู้หรือเงินช่วยจากรัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ

องค์การต่างประเทศทั้งในระดับรัฐบาลและที่มิใช่ระดับรัฐบาล มูลนิธิหรือเอกชนต่างประเทศ ที่สัญญาหรือข้อกำหนดในการให้เงินกู้หรือเงินช่วยเหลือกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น โดยใช้เงินกู้หรือเงินช่วยเหลือนั้นร่วมกับเงินงบประมาณ ซึ่งจำนวนเงินกู้หรือเงินช่วยเหลือที่ใช้นั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

  • การจัดซื้อจัดจ้างของสถาบันอุดมศึกษาหรือสถานพยาบาลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ โดยใช้เงินบริจาครวมทั้งดอกผลของ  

เงินบริจาค โดยไม่ใช้เงินบริจาคนั้นร่วมกับเงินงบประมาณ
            มาตรา 8  หลักการจัดซื้อจัดจ้าง
            หลักการจัดซื้อจัดจ้าง  ยึดหลัก 4 ข้อคือ

  1. คุ้มค่า มีคุณลักษณะตอบสนองวัตถุประสงค์การใช้งานและมีราคาเหมาะสม
  2. โปร่งใส เปิดเผยข้อมูล เปิดโอกาสให้แข่งขันอย่างเป็นธรรม มีระยะเวลาเพียงพอต่อการยื่นข้อเสนอ
  3. ตรวจสอบได้ เก็บข้อมูลเป็นระบบเพื่อการตรวจสอบ
  4. มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล วางแผนการจัดซื้อจัดจ้างมีการกำหนดเวลาที่เหมาะสม และมีการประเมินผล

            มาตรา 9  การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ
            การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่จะทำการจัดซื้อจัดจ้างให้หน่วยงานของรัฐคำนึงถึงคุณภาพ เทคนิค และวัตถุประสงค์ของการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุนั้น และห้ามมิให้กำหนดคุณลักษณะของพัสดุให้ใกล้เคียงกับยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง หรือของผู้ขายรายใดรายหนึ่ง หรือที่เรียกว่า lock spec แต่ถ้ากำหนดแล้วมีสินค้าเข้าได้ถึง 3 ยี่ห้อหรือไม่ ถ้ามีไม่ถึงให้พิจารณากำหนดใหม่  หรือถ้าต้องการระบุยี่ห้อ         ก็สามารถทำได้แต่ต้องให้เหตุผลชี้แจง
            การกำหนดคุณลักษณะของสินค้าที่จะจัดซื้อ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่ต้องการใช้เป็นผู้กำหนดความรายละเอียดความต้องการ และลงนามกำกับในรายละเอียดนั้นด้วย ไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าหน้าที่พัสดุเป็นผู้กำหนด
            มาตรา 10 
            ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอในส่วนที่เป็นสาระสำคัญและเป็นข้อมูลทางเทคนิคของผู้ยื่นข้อเสนอในส่วนที่เป็นสาระสำคัญและเป็นข้อมูลทางเทคนิคของผู้ยื่นข้อเสนอ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ยื่นข้อเสนอด้วยกันต่อผู้ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนั้น หรือต่อผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น เว้นแต่เป็นการเปิดเผยข้อมูลต่อผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายหรือการดำเนินการตามกฎหมาย
            มาตรา 11  การจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้าง ยกเว้น

  1. กรณีเร่งด่วนหรือใช้ในราชการลับ
  2. กรณีที่มีวงเงินตามที่กำหนดหรือมีความจำเป็นฉุกเฉิน หรือที่จะขายทอดตลาด
  3. การจัดจ้างที่ปรึกษาที่มีวงเงินค่าจ้างตามกำหนดหรือเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ
  4. กรณีงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างที่เร่งด่วนหรือเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ

มาตรา 12  บันทึกรายงานผลการพิจาณา

  • หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีการ บันทึกรายงานผลการพิจารณา รายละเอียดวิธีการและขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างและจัดเก็บ

ไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อประโยชน์ในการตรวจดูข้อมูลเมื่อมีการร้องขอ

  • การจัดทำบันทึกรายงานผลการพิจารณา รายละเอียดวิธีการและขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างและการร้องขอเพื่อตรวจดูบันทึก

รายงานดังกล่าว ให้เป็นไปตามระเบียบขอเพื่อตรวจดูบันทึกรายงานดังกล่าว ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
            มาตรา 13 การมีส่วนได้ส่วนเสีย

  • ในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ผู้ที่มีหน้าที่ดำเนินการต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับผู้ยื่นข้อเสนอหรือคู่สัญญาในงานนั้น
  • ในกรณีที่ปรากฏในภายหลังว่า ผู้ที่มีหน้าที่ดำเนินการตามวรรคหนึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับผู้ยื่นข้อเสนอหรือคู่สัญญา

ในขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใดของการจัดซื้อจัดจ้างหรือเป็นกรรมการในคณะกรรมการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง  แต่ไม่มีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้าง อย่างมีนัยสำคัญ การจัดซื้อจัดจ้างนั้นย่อมไม่เสียไป
            มาตรา 14  ข้อผิดพลาดเล็กน้อย
            ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐได้ทำการจัดซื้อจัดจ้างขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใจผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยและไม่มีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ การจัดซื้อจัดจ้างนั้นย่อมไม่เสียไป
            หมวด 2  การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้ประกอบการในการป้องกันการทุจริต
            มาตรา 18 ข้อตกลงคุณธรรม

  • ข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานเจ้าของโครงการ ผู้เสนอราคา และผู้สังเกตการณ์ โดยตกลงร่วมกันว่าจะไม่กระทำการ

ทุจริตในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง

  • ผู้สังเกตการณ์ เป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในโครงการการที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ มีความเป็นกลางและ

เป็นผู้มีส่วนได้เสียในโครงการนั้น ๆ

  • การเข้าร่วมสังเกตการณ์ ตั้งแต่การจัดทำร่าง TOR จนถึงสิ้นสุดโครงการ

            มาตรา 19 ผู้ประกอบการต้องมีแนวทางป้องกันการทุจริต

  • ผู้ประกอบการที่อยู่ในประเภทและวงเงินตามที่กำหนดจะต้องจัดให้มีนโยบายและแนวทางการป้องกันการทุจริตและมี

แนวทางป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างที่เหมาะสม
            หมวด 3  คณะกรรมการ

  1. คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (มาตรา 20) จำนวน 17-19 คน
  2. คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาและการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ (มาตรา 27) จำนวน 15-17 คน
  3. คณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ (มาตรา 32) จำนวน 20-25 คน
  4. คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันทุจริต (มาตรา 37) จำนวน 14-16 คน
  5. คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน (มาตรา 41) จำนวน 14-16 คน

            หมวด 4  องค์กรสนับสนุนดูแลการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
            ให้กรมบัญชีกลางเป็นองค์กรสนับสนุนและดูแลระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนี้

  1. ดูแลและพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
  2. จัดทำฐานข้อมูลราคาอ้างอิง
  3. รวบรวม วิเคราะห์และประเมินผลการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติ
  4. จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตามหลักวิชาชีพ
  5. ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายเลขานุการในคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติ

            หมวด 5  การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ

  1. ให้คณะกรรมการราคากลางกำหนดหลักเกณฑ์ในการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการก่อสร้าง
  2. สำหรับการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการพัสดุอื่น ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการราคากลางเห็นสมควร
  3. ให้กรมบัญชีกลางประกาศรายชื่อผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วในระบบเครือข่ายสารสนเทศ
  4. ในกรณีที่กรมบัญชีกลางได้ขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการไว้แล้ว หน่วยงานของรัฐไม่ต้องจัดให้มีการขึ้นทะเบียนอีก

ฉะนั้นผู้ที่ไม่ขึ้นทะเบียนไม่สามารถยื่นราคาได้ เพื่อเป็นการป้องกันการทิ้งงานและการฮั้ว
            หมวด 6  การจัดซื้อจัดจ้าง
            วิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ 3 วิธี คือ

  1. วิธีประกาศเชิญชวน วงเงินเกิน 500,000.- บาท โดยเชิญชวนให้ผู้ประกอบการทั่วไปที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนด

เข้ายื่นข้อเสนอ ซึ่งสามารถใช้ได้ดังนี้

  • วิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Market : e-market) วงเงินเกิน 500,000.- บาท แต่ไม่เกิน 5,000,000.- บาท ได้แก่การจัดหาพัสดุซึ่งมีรายละเอียดคุณลักษณะที่ไม่ซับซ้อน เป็นสินค้าหรือบริการทั่วไป มีมาตรฐานซึ่งกำหนดให้ส่วนราชการจัดซื้อสินค้าหรืองานจ้างที่กำหนดไว้ในระบบ e-catalog กระทำได้ 2 ลักษณะ คือ (1) ให้ผู้ขาย ผู้ให้บริการ หรือผู้รับจ้าง เสนอราคา โดยใบเสนอราคา (Request for Quotation : RFQ)  (2) การเสนอราคา โดยการประมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Thai Auction)

                   พัสดุที่ต้องดำเนินการจัดหาด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-market) เช่น วัสดุสำนักงาน (กระดาษถ่ายเอกสาร ผงหมึก/ตลับหมึก แฟ้มเอกสาร เทปปิดสำหรับการเข้าเล่ม ซองเอกสาร โต๊ะสำนักงาน เก้าอี้สำนักงาน ฯลฯ) ซึ่งการจัดซื้อครั้งหนึ่งมีวงเงินเกิน 500,000.- บาท และหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาคือใช้เกณฑ์ราคาต่ำสุด 

  • วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic bidding : e-bidding) การจัดหาพัสดุครั้งหนึ่งซึ่งมีราคาเกิน 500,000.- บาท โดยเป็นการจัดหาพัสดุที่มีรายละเอียดคุณลักษณะที่มีความซับซ้อน มีเทคนิคเฉพาะ หรือเป็นสินค้าหรือบริการที่ไม่ได้กำหนดไว้ในระบบ  e-market  หลักเกณฑ์การพิจารณาใช้หลักเกณฑ์ประเมินค่าประสิทธิภาพต่อราคา (Price performance) และใช้หลักเกณฑ์ราคา (Price) ผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นผู้ชนะ

                   1.3  วิธีสอบราคา  ใช้วิธีมายื่นซอง แต่จะใช้ก็ต่อกับพื้นที่/จังหวัด ที่ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต / สัญญาณอินเตอร์เน็ตขัดข้อง

  1. วิธีคัดเลือก ใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีวงเงินเกิน 500,000.- บาท มีวิธีการจัดซื้อจัดจ้างดังนี้

                2.1  ใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปแล้วไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ หรือข้อเสนอไม่ได้รับการคัดเลือก
                 2.2  พัสดุที่มีคุณลักษณะเป็นพิเศษหรือซับซ้อน หรือต้องผลิต ก่อสร้าง หรือให้บริการ โดยผู้ประกอบการที่มีฝีมือโดยเฉพาะ หรือมีความชำนาญเป็นพิเศษ หรือมีทักษะสูงและผู้ประกอบการมีจำนวนจำกัด
                 2.3  มีความจำเป็นเร่งด่วนอันเนื่องมาจากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดหมายได้
                 2.4  ลักษณะของการใช้งานหรือมีข้อจำกัดทางเทคนิคที่จำเป็นต้องระบุยี่ห้อเป็นการเฉพาะ
                 2.5  ต้องซื้อโดยตรงจากต่างประเทศหรือดำเนินการโดยผ่านองค์การระหว่างประเทศ
                 2.6  ใช้ในราชการลับหรือเป็นงานที่ต้องปกปิดเป็นความลับของทางราชการ หรือเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ
                 2.7  งานจ้างซ่อมพัสดุที่จำเป็นถอดตรวจให้ทราบความชำรุดเสียหายก่อนจึงจะประมาณค่าซ่อมได้ อาจจ้างมาถอดตรวจ  เมื่อทราบแล้วว่าอะไรเสียก็เชิญมา 3 ราย แล้วคัดเลือก
                 2.8  กรณีอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง

  1. วิธีเฉพาะเจาะจง ใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีวงเงินไม่เกิน 500,000.- บาท มีวิธีการจัดซื้อจัดจ้างดังนี้

                 3.1  ใช้ทั้งวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปและวิธีคัดเลือก หรือใช้วิธีคัดเลือกแล้ว แต่ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ หรือข้อเสนอไม่ได้รับการคัดเลือก
                 3.2  การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่การผลิต จำหน่าย หรือให้บริการทั่วไป และมีวงเงินในการจัดซื้อจัดจ้างครั้งหนึ่งไม่เกินวงเงินตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
                 3.4  มีความจำเป็นต้องใช้พัสดุโดยฉุกเฉินเนื่องจากอุบัติภัยหรือธรรมชาติพิบัติภัย และการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปหรือวิธีคัดเลือกอาจก่อให้เกิดความล่าช้าและอาจทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรง
                 3.5  เป็นพัสดุที่เกี่ยวพันกับพัสดุที่ได้จัดซื้อจัดจ้างไว้ก่อนแล้ว และมีความจำเป็นต้องจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มเติม โดยมูลค่าของพัสดุที่จะจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มจะต้องไม่สูงกว่าพัสดุที่ได้จัดซื้อจัดจ้างไว้ก่อนแล้ว
                 3.6  เป็นพัสดุที่จะขายทอดตลาด โดยหน่วยงานของรัฐ องค์กรระหว่างประเทศหรือหน่วยงานของต่างประเทศ
                 3.7  ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง
                 3.8  กรณีอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง
            หมวด 7  งานจ้างที่ปรึกษา
            วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป – เชิญชวนให้ที่ปรึกษาทั่วไปที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดเข้ายื่นข้อเสนอ
            วิธีคัดเลือก – เชิญชวนเฉพาะที่ปรึกษาที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 3 ราย ให้ยื่นข้อเสนอ เว้นแต่มีที่ปรึกษาที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดน้อยกว่า 3 ราย
            วิธีเฉพาะเจาะจง – เชิญชวนเฉพาะที่ปรึกษาที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดรายใดรายหนึ่ง ให้เข้ายื่นข้อเสนอหรือให้มาเจรจาต่อรองราคาโดยตรง
            หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอวิธีการจ้างที่ปรึกษา
            ในการพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการโดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและวัตถุประสงค์ของงานจ้างที่ปรึกษาเป็นสำคัญ โดยให้พิจารณาเกณฑ์ด้านคุณภาพ ดังต่อไปนี้

  • ผลงานและประสบการณ์ของที่ปรึกษา
  • วิธีการบริหารและวิธีการปฏิบัติงาน
  • จำนวนบุคลากรที่ร่วมงาน
  • ประเภทของที่ปรึกษาที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน
  • ข้อเสนอทางด้านการเงิน
  • เกณฑ์อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ประเภทของที่ปรึกษาที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนตาม (4) ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
            หมวด 8  งานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง

  • จ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ใช้กับงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างที่มี

ลักษณะไม่ซับซ้อน

  • จ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างโดยวิธีคัดเลือก เป็นงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างที่หน่วยงานเชิญชวนให้ผู้มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข ไม่น้อยกว่า 3 ราย เข้ายื่นข้อเสนอ
  • จ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง เป็นงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง ที่หน่วยงานเลือก

จ้างรายใดรายหนึ่งซึ่งเคยทราบหรือเคยเห็นความสามารถแล้ว

  • จ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างโดยวิธีประกวดแบบบ เป็นงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างที่หน่วยงานเชิญ

ชวนให้ผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดให้เข้ายื่นข้อเสนอ เพื่อออกแบบงานก่อสร้างที่มีลักษณะพิเศษ เป็นที่เชิดชูคุณค่าทางด้านศิลปกรรมหรือสถาปัตยกรรมของชาติ หรืองานอื่นที่กำหนดให้กฎกระทรวง
ข้อห้าม คือ ผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างที่เป็นคู่สัญญา ต้องไม่มีส่วนได้เสียกับผู้ประกอบการงาน
ก่อสร้างในงานนั้น ต้องเลือกว่าจะเป็นผู้ออกแบบหรือเป็นผู้รับเหมา ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
            หมวด 10  การบริหารสัญญาและการตรวจรับพัสดุ

  • การตรวจรับพัสดุให้เป็นไปตามสัญญา
  • การงดหรือลดค่าปรับ หรือการขยายระยะเวลาทำการตามสัญญาให้อยู่ในดุลพินิจตามกรณีที่กำหนด
  • การบอกเลิกสัญญาให้อยู่ในดุลพินิจของผู้มีอำนาจตามกรณีที่กำหนด

          หมวด 11 การประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการ
เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ายื่นข้อเสนอหรือเข้าทำสัญญากับหน่วยงานภาครัฐ ผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด
จะถูกระงับการยื่นเสนอราคา หรือทำสัญญากับหน่วยงานภาครัฐไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ที่กำหนด
หมวด 12 การทิ้งงาน

  • เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้รับการคัดเลือกแล้วไม่ยอมทำสัญญาหรือข้อตกตลเป็นหนังสือกับหน่วยงานของรัฐภายในเวลาที่

กำหนด

  • คู่สัญญาของหน่วยงานของรัฐหรือผู้รับจ้างช่วงที่หน่วยงานของรัฐอนุญาตให้รับช่วงงานได้ ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลง

เป็นหนังสือ

  • เมื่อปรากฏว่าผู้ยื่นข้อเสนอหรือคู่สัญญาของหน่วยงานของรัฐกระทำการอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่าง

เป็นธรรม เสนอราคาที่มีผลประโยชน์ร่วมกันหรือกระทำการโดยไม่สุจริต

  • เมื่อปรากฏว่าผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างหรือผู้ประกอบการงานก่อสร้างไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 88
  • การกระทำอื่น ๆ ที่กำหนดในกระทรวง

         หมวด 13 การบริหารพัสดุ

  • ควบคุมและดูแลพัสดุให้มีการใช้และการบริหารพัสดุที่เหมาะสม คุ้มค่า และเกิดประโยชน์
  • การเก็บ การบันทึก การเบิกจ่าย การยืม การตรวจสอบ การบำรุงรักษา และการจำหน่ายพัสดุ ให้เป็นไปรามระเบียบ
  • หลักเกณฑ์และวิธีการ จะกำหนดในระเบียบต่อไป

            หมวด 14 การอุทธรณ์
            ผู้ซึ่งได้ยื่นข้อเสนอเพื่อทำการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุกับหน่วยงานของรัฐ มีสิทธิอุทธรณ์เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ในกรณีที่เห็นว่าหน่วยงานของรัฐมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ กฏกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ เป็นเหตุให้ตนไม่ได้รับการกาศผลเป็นผู้ชนิหรือไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ
            หมวด 15  บทกำหนดโทษ
            ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่หรือเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้โดยทจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท และหากผู้ใดเป็นผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนในการการะทำความผิดตามวรรคหนึ่งผู้นั้นต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดตามวรรคหนึ่ง
            บทเฉพาะกาล

  • กรณีที่ยังไม่ออกกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศให้นำระเบียบที่ใช้บังคับอยู่เดิมมาใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ

พระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมีกฏกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศในเรื่องนั้น ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (มาตรา 122)

  • กรณีไม่อาจนำระเบียบเดิมมาใช้บังคับในเรื่องใดได้ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด (มาตรา 123)
  • การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปตามระเบียบที่ใช้บังคับอยู่เดิม จนกว่าจะมีประกาศ หรือกฎหรือระเบียบแล้วแต่กรณีใช้

บังคับ (มาตรา 124)

  • กรณีคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้เข้ารับหน้าที่แล้ว แต่ยังไม่มีกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาษให้หน้าที่ในการ

ตีความและวินิจฉัยปัญหาตามระเบียบที่ใช้บังคับอยู่เดิมยังคงเป็นของคณะกรรมการตามระเบียบนั้น ๆ เว้นแต่ หน้าที่ในการตีความและวินิจฉัยปัญหาว่าระเบียบดังกล่าว ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้หรือเป็นไปตามแนวทางของพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการวินิจแย (มาตรา 127)

  • การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้ดำเนินการตามระเบียบที่ใช้บังคับอยู่เดิมก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และการตรวจ

รับและการจ่ายเงินยังไม่แล้วเสร็จให้ดำเนินการตามระเบียบเดิมต่อไป  เว้นแต่ยังไม่ได้ประกาศจัดซื้อจัดจ้าง หรือในกรณีที่มีการยกเลิกการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างนั้น หรือการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างครั้งใหม่ แล้วแต่กรณี ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ (มาตรา 128)
            นอกจากนี้ยังมีมาตราต่าง ๆ ที่ต้องศึกษาและต้องติดตามข่าวสารของกฎระเบียบ ข้อบังคับอื่น ๆ ต่อไป แต่ยังอยู่ในช่วงของการทดลองใช้งาน ต้องทำการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจะมีข้อปฏิบัติอื่นออกมาเป็นระยะ  ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่เจ้าหน้าพัสดุ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องต้องศึกษากฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ และควรเข้าอบรมทุกครั้งที่มีการจัดในหัวข้อนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้ถูกต้องและประโยชน์สูงสุด
              
 
   

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร