เป็น อยู่ คือ อย่างไรดี

ดิฉันตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2561 หลังจากมีการวงสนทนาเล่นๆ กับน้องในวงการห้องสมุดแห่งหนึ่ง ที่พูดถึงความเปลี่ยนแปลงในที่ทำงาน ตอนแรกก็คิดว่าเล่น คุยไปคุยมาจริงจังมากขึ้นแบบเข้มข้นจนอยากจะเล่าต่อ หากเป็นคนที่สนิทๆ ก็จะให้อ่าน เพราะจะได้เห็นชัดๆ รับรู้ถึงอารมณ์และความรู้สึก
 
เมื่อไม่สามารถให้อ่านทุกคนได้ ความตั้งใจแรกคือประสงค์จะเขียนให้อ่าน แต่เหมือนยังไม่ตกผลึกในการเขียนจึงหยุดก่อน รอเวลา และตั้งใจว่าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 น่าเป็นฤกษ์งามยามดีที่ให้มีข้อมูลและพอมีเวลาที่จะนั่งเขียน
 
เรื่องที่สนทนากับน้องคือเรื่องการปรับโครงสร้างองค์กรภายในของห้องสมุด ที่จำเป็นต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง ที่ว่าเกิดจากมีสัญญาณส่งต่อมาเป็นระยะๆ แต่ปลายทางบางส่วนคิดว่า “ไม่น่า” “ยังหรอก” “ตื่นตูม” “เยอะ” “เว่อร์”  
 
ดิฉันนึกถึงจานรับสัญญาณที่องศาไม่ได้กับเครื่องส่งสัญญาณ แถมบางครั้งยังมีเมฆลอยมาบดบัง ภาพจึงหาย ไม่ชัด หรือเบลอๆ เมื่อต้องการให้ชัดจึงต้องขยับทีละนิดๆๆๆ 
 
ช่วงนี้ดิฉันได้รับเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างภายในอยู่หลายฉบับ เพียรอ่าน เพียรคิด เพียรถาม และมองย้อนกับอดีตว่าเราใช้เวลากับพวกนี้ไปนานมาก บางเรื่องพูดไว้ไม่ต่ำกว่า 10 ปี การเป็นคนในโลกอนาคตบางครั้งเหมือนคนแปลกปลอม แต่ข้อดีคือไม่เหนื่อยเพราะคิดไว้มานานแล้ว และการอ่านมาเยอะๆ ตามวันเวลานานๆที่คิด จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้การทำงานในปัจจุบันง่าย สั้นและกระชับ ส่วนเรื่องนี้เขียนไว้เมื่อ 2014 http://202.28.73.5/snclibblog/?p=41597
 
Capture1
 
สตีฟ โอคอนเนอร์ (2018) บอกว่าในอนาคตของเราจะถูกแทรกแซง (disrupted) วิธีการปฏิบัติงานของเราวันนี้ จะมิใช่วิธีการที่เราจะใช้ปฏิบัติงานในภายหน้า การรับรู้ของห้องสมุดและทรัพยากรสารสนเทศเป็นงานด้านการตลาดอย่างแท้จริง แนวโน้มที่ชัดเจนคือเรื่องการบริการตนเองและความสมบูรณ์แบบด้านสารสนเทศ การเข้าถึงจิตใจผู้ใช้บริการห้องสมุด และการตอบสนองผู้ใช้บริการรายใหม่ในบริบทของทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ และห้องสมุดยังคงมีความสำคัญในฐานะผู้ให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ในภาพรวมแล้วผู้ใช้บริการยังมีมุมมองที่เป็นบวกต่อห้องสมุด แม้จะล้าสมัยไปบ้าง ความท้าทายที่เราประสบร่วมกันคือการตัดสินใจว่าจะลงทุนเพิ่มขึ้น จะลงทุนน้อยลง จะสร้างนวัตกรรม จะเปลี่ยนแปลงสิ่งล้าหลัง จะสื่อสารเพิ่มขึ้น หรือจะทำการตลาดให้ดีขึ้น ณ จุดไหน” คำถามคือ เราจะทำตามข้อสรุปได้อย่างไร ณ จุดนี้เราจำเป็นต้องมีเทคนิคใหม่โดยผละจากความคิดแบบปัจจุบันและภาระทางความคิดที่ติดพ่วงมาด้วย และนี่คือจุดที่งานด้านการตลาดจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความเข้าใจและมโนทัศน์ใหม่ (http://tkforum.tkpark.or.th/short_steve/)
 
ศัพท์แสงอาจทำให้เข้าใจยาก แต่ก็ไม่ยากที่จะทำความเข้าใจหาก เรา Change/Share/Open คิดตามโจทย์ จินตนาการอนาคตอีก 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี ว่าเราควร เป็น อยู่ คือ อย่างไรดี และที่สำคัญคือเราต้องอยู่ได้ อยู่ด้วยกันและอยู่อย่างมีความสุข
 
หลายคนมักพูดถึงการปรับ Attitude ของคน ซึ่งดิฉันเชื่อว่าต้องเกิดจากเนื้อในตนเองและอิทธิพลของคนใกล้ชิด เขียน
แครอล เอส ดเว็ค (https://www.sumrej.com/why-attitude-is-more-important-than-iq/) บอกว่า “ทัศนคติบ่งบอกถึงความสำเร็จได้มากกว่าระดับไอคิว” เธอพบว่าทัศนคติที่เป็นแกนหลักของคนเราแบ่งเป็นสองประเภท หนึ่งคือ กรอบความคิดแบบจำกัด (Fixed Mindset) สองคือ กรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) 
 
คนที่มี กรอบความคิดแบบจำกัด (Fixed Mindset) จะเป็นคนที่ยึดมั่นในความคิดตนเองและไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อสิ่งใดๆ ซึ่งการมีวิธีคิดแบบนี้เอง ที่อาจเป็นปัญหาได้เวลาที่พบเจอกับสิ่งที่ตัวเองไม่สามารถรับมือได้ และมันจะทำให้รู้สึกสิ้นหวังและพ่ายแพ้ได้
 
ส่วนคนที่มี กรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) จะเป็นคนที่มักเชื่อว่าคนเรานั้นสามารถพัฒนาตัวเองได้เสมอ ตราบใดที่เรามีความพยายาม และวิธีคิดแบบนี้เองที่จะทำให้เกิดความก้าวหน้ายิ่งกว่าคนที่มีกรอบความคิดแบบตายตัว แม้ว่าจะมีไอคิวที่ไม่สูงก็ตาม เพราะคนประเภทนี้จะชอบสิ่งที่ท้าทาย และมองว่าสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาคือโอกาสในการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ
 
ห้องสมุดมีหนังสือของแครอล เอส ดเว็ค เรื่อง เปลี่ยน Mindset…ชีวิตเปลี่ยน = Mindset : the new Psychology of success ลองหาอ่านดูแล้วคุยกับคนข้างๆ เพราะคนข้างๆจะช่วยสะท้อนคุณได้ หากผู้นั้นตรงไปตรงมาและคุณต้องแข็งแกร่งพอที่จะรับฟัง 
 
วันก่อนดิฉันคุยกับสาวๆเรื่อ่งเดอะว๊อยส์ ต่อไปถึงรายการเดอะเฟซ ดิฉันบอกว่ารายการแบบนี้สิ่งที่คนดูได้นอกจากความบันเทิงแล้วคือการพัฒนาตนเอง จำได้ว่าเคยเขียนเรื่องนี้ไว้สั้นๆ ที่ http://202.28.73.5/snclibblog/?p=86 การฟังแล้วกรอง ไม่ดราม่า ทบทวนทีละคำๆ พินิจตัวเราว่า เป็น อยู่ คือ อย่างไรดี  
 
คำว่า “หนูไม่รู้” “พี่ไม่บอก” “โน่นไม่ดี” จะอยู่ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ไหม https://tv.line.me/v/2767562
 
และไม่ว่าจะอย่างไรพวกเราก็ต้องไปข้างหน้าด้วยกัน ช่วยกันเกื้อกูล ไม่มีเธอ ไม่มีฉัน มีแต่เรา ทุกคนต้องยืนด้วยตนเองได้ และได้อย่างมั่นคงและแข็งแรง   
 
rita
 
 
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร