พฤฒพลัง

ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาเมื่อครั้งที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมานั้น ตามประเพณีอันดีงามก็จะมีช่วงหนึ่งที่แต่ละห้องสมุดต้องทำหน้่าที่สรุปผลการดำเนินงาน ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือต้องปิดช่องว่างของการดำเนินงานในครั้งที่ผ่านมาด้วย ใช้เวลาประมาณ 15 นาที่ ก้อว่ากันไปแล้วแต่จริตของคนนำเสนอ ต่อไปเมื่อดิฉันหมดหน้าที่แล้วคนที่มาแทนก็ต้องทำแบบนี้เช่นกัน
 
มีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่งคือ “เรามีประชาชนต้องดูแล” ซึ่งดิฉันหมายถึงผู้ใช้บริการภายนอก ที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยในประเทศต้องทำหน้าที่กึ่งๆ ห้องสมุดประชาชนด้วย ซึ่งกรรมการบอกว่าให้ไปคิดต่อหากเมื่อเราไปสู่สังคม “ผู้สูงอายุ” อย่างแท้จริง
 
ดิฉันจึงมีโอกาสโม้ว่าเมื่อสมัยเรียนหนังสือเมื่อปี 2526 ได้เคยทำรายงานเรื่อง “ห้องสมุดดอกลำดวน” เนื่องจาก เป็นดอกไม้สัญญลักษณ์ของผู้สูงอายุ ด้วยเหตุที่ “ลำดวน” ทั้งต้นและดอกล้วนแทนความงาม อายุยืน ร่มเงา กลิ่นหอมและแข็งแรง จึงไม่ต้องจินตนาการอะไรมาก เพราะยังจำได้ถึงการค้นคว้าอ่านหนังสือมากมายขนาดไหน ถึงรายงานชิ้นนั้นออกมาได้ คิดๆไปเราคงเป็นคนในโลกอนาคต เพราะห้องสมุดดอกลำดวนที่คิดได้ในขณะนั้น มีหนังสือไม่มาก ใช้เสียงและภาพเป็นหลัก ที่นั่ง ขนาดตัวอักษรต่างจากหนังสือทั่วไป ที่สำคัญทำให้รู้จักห้องสมุดเสียง ของมหาวิทยาลัยศิลปากร และพูดถึงการตกแต่ง เสียดายที่การทำสำเนาสมัยโน้นไม่ได้สะดวกสบายเช่นปัจจุบัน แต่อย่าถามว่าวิชานั้นได้เกรดเท่าไร และดิฉันก็ไม่เห็นว่าอาจารย์บอกว่าอะไร จนเวลาผ่านไปเป็นปี มีรุ่นน้องที่สนิทกันมาเล่าให้ฟังว่าอาจารย์ได้นำงานชิ้นนี้มาเป็นตัวอย่างให้กับรุ่นน้องๆ และน้องๆปวดใจ  😛 //
 
ว่ากันว่า เราเป็นอย่างไรให้คนอื่นๆๆๆๆ บอก  😀
ว่ากันว่า อย่ารอคนอื่นให้กำลังใจตัวเรา  😀  
 
มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ บอกว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยจากข้อมูลของ United Nations World Population Ageing พบว่า หลังจากปี 2552 ประชากรที่อยู่ในวัยพึ่งพิงได้แก่ เด็กและผู้สูงอายุ จะมีจำนวนมากกว่าประชากรในวัยแรงงาน และในปี 2560 จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชากรเด็กน้อยกว่าผู้สูงอายุ สถานการณ์นี้เป็นผลมาจากการลดภาวะเจริญพันธ์อย่างรวดเร็ว และการลดลงอย่างต่อเนื่องของระดับการตายของประชากร ทำให้จำนวนและสัดส่วนประชากรสูงอายุของไทย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  (https://goo.gl/sRjPDY
 
ผู้สูงอายุ Older person) คือ คนอายุเท่าไรกัน ดิฉันมองไปที่การเกษียณอายุราชการคือ 60 ปี ค้นคว้าหามาพบว่าองค์การสหประชาชาติ ได้แบ่งผู้สูงอายุเป็น 3 ระดับ ได้แก่ (http://www.stou.ac.th/stouonline/lom/data/sec/Lom12/05-01.html) 

     1. ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ7ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
     2. ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ60ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ20 ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่าร้อยละ14 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์
    3. ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่

 
สำหรับการทำหน้าที่ในหน่วยงาน เมื่อได้รับโจทย์ที่มีอยู่ทุกวัน ก็ต้องนำไปคิดต่อว่าจะเริ่มต้นหรือทำอย่างไรให้เหมาะสมกับภารกิจหลักของเรา ดิฉันเพียรหาข้อมูลพบว่ามีการตื่นตัวในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เช่น เนคเทค ที่ดิฉันลงทุนลาพักร้อนไปด้อมๆมองๆ เพราะหากลาไปก็จะงงกับตัวเอง พบว่ามี สถาบันเทคโนโลยีเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ จดๆจำๆว่ามีอะไรบ้าง เพื่อคิดต่อไป วางไว้ก่อนแปะโป้งไว้ แล้วจะไปใหม่หากตัวเองมีอะไรๆที่ชัดเจนกว่านีั
 
คุยกับพี่ดวงตา เพราะทราบว่าพี่เป็นผู้ สว. กว่าเราและมาห้องสมุดบ่อยๆ พี่บอกว่าจะช่วยประสานงานในกลุ่มผู้สูงอายุให้ และได้ความว่า สว.ในกลุ่มพี่นิยมชมชอบกับการท่องเที่ยวแบบวันเดียว ส่วนเรื่องอ่านหนังสือ ขอลาแล้วจ้า วางไว้ก่อน ขอสำรวจให้ได้จำนวนมากๆก่อน เพราะน่าจะมีอะไรๆที่ชัดเจนกว่านีั
 
เดือนก่อนโซซัดโชเซไปตึกข้างๆ รั้วมหาวิทยาลัย พบกับพี่ท่านหนึ่งคุยกันเรื่องผู้สูงอายุ พี่บอกว่า ตัวพี่นั้นกำลังทำเรื่อง พฤฒพลัง ลืมถามว่าเขียนอย่างไร กระทั่งเมื่อวาน (30 มกราคม) พบกันในรถตู้จึงถามย้ำอีกครั้งจึงได้รู้ว่าเขียนแบบนี้และมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Active Aging สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ให้คำจำกัดความไว้อย่างน่ารักๆว่า  พฤฒพลัง คือ พลังผู้เฒ่า ที่องค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization: WHO ที่บัญญัติในปี1990 ว่าหมายถึง การเป็นผู้สูงอายุที่ปราศจากโรคและรวมถึงการมีความสามารถในการใช้ร่างกาย สรีระวิทยา จิตใจ และสังคม ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปตามกระบวนการชราที่เกิดขึ้น ให้ทำงานได้อย่างเหมาะสม มีความสามารถทำอะไรๆ ได้ตามสิทธิที่มีอยู่ มีชีวิตที่มีอิสระ มีชีวิตที่มีส่วนร่วม และทำได้สำเร็จด้วยตัวเอง (Self Fulfillment) (https://www.hsri.or.th/people/media/care/detail/5737) ทั้งนี้ได้มีเอกสารเรื่อง Active Aging A Policy Framework ไว้ให้คนในโลกดำเนินตาม และคาดว่าเอกสารชิ้นนี้คงอยู่ในงานวิจัยอีกหลายๆเล่ม http://apps.who.int/iris/bitstream/10665/67215/1/WHO_NMH_NPH_02.8.pdf 
 
การคาดการณ์ว่า เอกสารชิ้นนี้คงอยู่ในงานวิจัยอีกหลายๆเล่ม  ทำให้คิดได้ว่าบรรณารักษ์ควรต้องทำงานอย่างไร เพื่อให้เสริมงานปัจจุบัน เพราะทุกอย่างไม่มีอะไรจีรัง ใช้ EndNote อยู่ดีๆ ยังเปลี่ยนเป็น Mendeley  รับเงินทอนอยู่แท้ยังต้องเปลี่ยนเป็นยิงบาร์โค้ด ฯลฯ ตราบใดที่เรายังเลือกอาหารในทุกมื้อ ตราบนั้นความต้องการมนุษย์ยังไม่สิ้นสุด ครั้งก่อน ตอนนั้นอาจไม่ใช่คำตอบในปัจจุบัน เพราะความไม่จีรังคือความจีรัง ขณะที่เราอยากให้ความสุขนั้นจีรังไปกับเราตลอดกลาง  
 
เมื่อวันที่ 16 มกราคม ซึ่งเป็นวันครู เพื่อนๆ ของดิฉันได้ร่วมด้วยช่วยกันเชิญคุณครูที่สอนกันตั้งแต่ ป.1 มาพบปะสังสันทน์และพวกเราก็จะได้มีโอกาสได้แสดงมุทิตาจิตกับครู ดิฉันได้นำเรื่องของ “ผู้สูงอายุ” เป็นบทสนทนากับท่าน ให้ท่านช่วยชี้แนะว่าจะเริ่มจากตรงไหนดี เพราะกรอบความคิดกระจัดกระจาย ครูบอกว่าแบบนี้เรียกธาตุไฟแตก ครูบอกให้เริ่มจากคนใกล้ๆตัวว่าพวกเขาคิดและต้องการอะไร อยากให้เราเข้าไปช่วยตรงไหน  กราบครู ไม่ว่าเราจะวัยขนาดไหน อยู่ที่ใดครูก็คือครู คนใกล้ๆตัวกิฉันก็มองไปรอบๆ โต๊ะก็เริ่มถาม เริ่มคุยไปเรื่อยๆ เก็บงำความคิดเห็น ค่อยๆปะติดปะต่อเรืองราว วางไว้ก่อนแปะโป้งไว้ก่อน ขอคิดก่อนว่าจะทำอะไร    
 
มาทำงานเดินไปที่โอแพคเห็นอาจารย์ท่านมาค้น จึงเร่เข้าไปสนทนา อาจารย์บอกว่าเทอมนี้มีรายวิชาใหม่ที่ต้องสอนเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ส่วนดิฉันกรี้ดกร้าดในใจเหมือนบุญมาวาสนาส่งที่ให้ได้มาพูดคุยกับอาจารย์ และเราก็สัญญากันว่าเราจะช่วยกันทำงานต่อไป วางไว้แล้วลงมือทำกรอบแนวคิดว่าจะทำอะไร    
 
ระหว่างนี้ดิฉันคงต้องใช้พลังที่มีอยู่สะสมลมปราณให้ตนเองเป็น พฤฒพลัง ต่อไป ส่วนงานหน้าตาจะเป็นแบบไหน ต้องขึ้นกับข้อมูลที่ไปเสาะแสวงหาทั้งจากเอกสารและจากกลุ่มเป้าหมาย 
 
การมีโจทย์มาให้เราคิดก็สนุกแบบนี้แหละ  😛  

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร