การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

17 January 2018
Posted by sukanya

ในการดำเนินชีวิตของเรา มักจะประสบปัญหาอยู่บ่อยครั้ง หนักบ้าง เบาบ้าง แต่ละคนก็มีวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน ทั้งปัญหาส่วนตัวและปัญหาที่เกิดจากการทำงาน บางคนก็แก้ได้อย่างรวดเร็ว บางคนกว่าจะแก้ปัญหาได้สำเร็จก็ต้องใช้เวลานาน หรือไม่สามารถแก้ได้ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์หรือทักษะเฉพาะของแต่ละคน
 
มีผู้รู้และนักวิชาการหลายท่านได้คิดค้นหาวิธีการแก้ปัญหาไว้อย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งมีวิธีหรือขั้นตอนที่คล้ายกันพอจะสรุปได้ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การรับรู้ปัญหาและกำหนดปัญหาให้ถูกต้องชัดเจน สามารถทำได้หลายวิธี วิธีหนึ่งที่มีผู้นำมาใช้คือเทคนิค 5W1H โดยจะต้องตอบคำถามเหล่านี้คือ
What อะไรบ้างที่เป็นปัญหาหรือสิ่งผิดปกติ
Why ทำไมถึงเกิดปัญหาหรือสิ่งผิดปกตินั้น
When ปัญหาหรือสิ่งผิดปกตินั้นเกิดขึ้นเมื่อไร
Where ปัญหาหรือสิ่งผิดปกตินั้นเกิดขึ้นที่ไหน
Who ปัญหาหรือสิ่งผิดปกตินั้นเกิดขึ้นกับใคร หรือเกี่ยวข้องกับใครบ้าง
How ปัญหาหรือสิ่งผิดปกตินั้นก่อให้เกิดความเสียหายอย่างไร หรือมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด
 
ขั้นตอนที่ 2 การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน วิธีหนึ่งที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมคือ การวิเคราะห์ SWOT หรือ SWOT Analysis โดยวิเคราะห์ปัจจัยภายใน 2 ด้าน คือ S ย่อมาจาก Strengths เป็นการหาจุดเด่น จุดแข็งหรือข้อได้เปรียบของเรา และ W ย่อมาจาก Weaknesses เป็นการหาจุดด้อย จุดอ่อน หรือข้อเสียเปรียบที่เรามีอยู่ และวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก 2 ด้าน คือ O ย่อมาจาก Opportunities เป็นการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่เอื้อประโยชน์หรือส่งเสริมการดำเนินงานของเรา และ T ย่อมาจาก Threats เป็นการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลเสียหรือกระทบกับเราในทางลบ
 
ขั้นตอนที่ 3 การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลของปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อนำมาใช้ในการกำหนดทางเลือก ข้อมูลที่ได้มาต้องมีเพียงพอและครอบคลุมทุกด้าน เพราะอาจทำให้เราสร้างทางเลือกหรือตัดสินใจผิดพลาดได้ และหากเราหาข้อมูลให้เพียงพอและครอบคลุมทุกด้านแล้ว เราอาจจะพบว่ามีทางแก้ปัญหานั้น ๆ อยู่ในข้อมูลเหล่านั้น หรืออาจพบว่าไม่มีปัญหาเกิดขึ้นก็ได้เนื่องจากมีผู้อื่นหรือหน่วยงานอื่นได้ดำเนินการในสิ่งที่เราคิดว่าเป็นปัญหาสำเร็จไปแล้ว
 
ขั้นตอนที่ 4 การสร้างทางเลือกหรือระบุทางเลือกเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้
 
ขั้นตอนที่ 5 การเลือกวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด โดยมองให้รอบด้าน หาผลดี ผลเสียและผลกระทบของแต่ละทางเลือก แล้วตัดออกทีละทางเลือกจนเหลือทางเลือกสุดท้ายที่คิดว่าดีที่สุด ซึ่งทางเลือกที่ดีที่สุดที่เคยใช้ได้ผลดีในอดีต อาจไม่เหมาะที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็ได้ เนื่องจากในปัจจุบันสภาพแวดล้อม และปัจจัยอื่น ๆ จะต่างไปจากอดีตที่ผ่านมา
 
ขั้นตอนที่ 6 การนำทางออกที่เลือกไว้ไปปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหา โดยอาจมีการวางแผนการแก้ปัญหาไว้ล่วงหน้าเพื่อจะได้ควบคุมสิ่งต่าง ๆ ไม่ให้ผิดพลาดได้
 
ขั้นตอนที่ 7 การติดตามและประเมินผลการแก้ไขปัญหาว่าได้ผลลัพธ์เป็นอย่างไร
 
ขั้นตอนที่ 8 การป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้น ทั้งปัญหาเดิมที่แก้ไขไปแล้ว และปัญหาใหม่ที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
 
บางครั้ง การแก้ไขปัญหาก็ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป อาจมีข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น มีเวลาที่ใช้ในการแก้ปัญหาจำกัด งบประมาณที่จะนำมาแก้ปัญหามีจำกัด บุคลากรที่จะมาดำเนินการแก้ปัญหามีจำนวนจำกัด หรือความรู้ความสามารถของบุคลากรที่จะมาดำเนินการแก้ปัญหามีจำกัด ดังนั้นหากเราต้องเป็นผู้แก้ปัญหาให้สำเร็จลุล่วง เราจะต้องใช้คิด ความพยายาม ดำเนินการตามขั้นตอนของการแก้ปัญหาข้างต้นอย่างรัดกุมและรวดเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าอันจะส่งผลให้เกิดความเสียหายขึ้นได้
 
การจะเป็นผู้แก้ปัญหาที่ดีได้นั้น จะต้องมีการฝึกฝน หมั่นศึกษา ค้นคว้า หาความรู้ หมั่นตั้งคำถาม ฝึกวิเคราะห์ปัญหา ในการแก้ปัญหาแต่ละครั้งจะต้องไม่ใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล มีความยืดหยุ่น ต้องทบทวนปัญหา จัดเรียงความคิด ทบทวนตัวเอง ใช้สติให้มาก ๆ มีทัศนคติเชิงบวก มองโลกในแง่ดี เป็นผู้มีความคิดนอกกรอบบ้างและบางครั้งจะต้องรู้จักปล่อยวาง หยุดนิ่ง เพื่อจะได้ทบทวนในสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หรือถอยหลังสักก้าวเพื่อออกมาให้พ้นสิ่งที่เราเผชิญอยู่ แล้วมองกลับเข้าไป เราอาจจะพบวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดก็เป็นไปได้ สิ่งสำคัญคือ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นอย่าท้อแท้ เบื่อหน่าย อย่าหยุดคิดแก้ปัญหา อย่าหาทางออกด้วยการหนีปัญหาหรือโยนปัญหาไปให้ผู้อื่นเป็นผู้แก้ไข หากเราจนแต้มหาทางออกไม่ได้จริง ๆ เราอาจจะต้องมีผู้ช่วย ทีมงาน ผู้เกี่ยวข้องกับปัญหา หรือผู้บังคับบัญชา ร่วมกันคิดแก้ไขปัญหาด้วยก็ได้  😆 
 

บรรณานุกรม

 
ยุดา  รักไทย และธนิกานต์  มาฆะศิรานนท์.  (2549).  เทคนิคการแก้ปัญหาและตัดสินใจ.  พิมพ์ครั้งที่ 7.  กรุงเทพฯ : เอ็กซเปอร์เน็ท.
 
ศิริพร  ศรุตาพร.  (2554).  คู่มือวิเคราะห์ปัญหาอย่างเป็นระบบ ไขปัญหาด้วยสมองอัจฉริยะ!.  กรุงเทพฯ : เบสบุ๊ค.
 
ฮิกกิ้นส์, เจมส์ เอ็ม.  (2554).  101 เทคนิคการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ = Creative Problem Solving Techniques.  แปลโดย วิทยา  สุหฤทดำรง และ ธนะศักดิ์  พึ่งฮั้ว.  กรุงเทพฯ : อี. ไอ. สแควร์ พับลิชชิ่ง.
 
5 ขั้นตอนช่วยให้คุณเป็น “นักคิด นักพัฒนา และนักแก้ปัญหา” ที่เก่งได้.  (2560).  [ออนไลน์].  จาก https://www.sumrej.com/5-%E0%.  วันที่ค้นข้อมูล 9 มกราคม 2561.

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร