ขอหวานๆสักเรื่อง

     ตั้งชื่อเรื่องยังกะจะเขียนนิยายรักแนวโรแมนติก อย่าฝันไปเลยค่ะไม่ใช่แนว! ขอเตือนก่อนว่าอย่าอ่านมากเดี๋ยวเบาหวานจะขึ้น ก็มันว้าน หวาน!!จริงๆไม่ได้โกหกนะเพราะมันเป็นเรื่องของพืชต้นกำเนิดแห่งความหวานชนิดหนึ่ง เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญไม่แพ้ “ข้าว” แล้วยังมีปลูกกันมากมายในแถบภูมิภาคตะวันตกของเรานี่แหละ มาตามหาความหวานของเขากันดีกว่า
     อ้อย  คือเจ้าของนามที่แสนหวานนี้ เธอมีถิ่นกำเนิดอยู่บนเกาะนิวกินี แล้วได้แพร่กระจายความหวานไปยังถิ่นต่างๆทั่วโลก อ้อยเป็นพืชที่จัดอยู่ในจำพวกหญ้าที่มีลำต้นสูง มีข้อปล้อง แตกกอได้ดีเหมือนข้าว ชอบแสงแดดเต็มที่ สำหรับประเทศไทยของเรามีการปลูกอ้อยตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่เดิมเราใช้อ้อยในการบริโภคสดๆเพราะน้ำอ้อยมีรสหวานช่วยแก้กระหายน้ำและทำให้รู้สึกสดชื่น อ้อยยังใช้ในตำรับยาแผนโบราณเข้าเครื่องสมุนไพรต่างๆอีกด้วย
     นอกจากนี้อ้อยยังถือเป็นพืชมงคล ที่นำไปใช้ประกอบในพิธีกรรมทั้งทางศาสนาและประเพณีไทย ทั้งยังใช้ในงานสถาปัตยกรรมไทยโบราณด้วยโดยใช้น้ำอ้อยผสมกับปูนในการฉาบหรือปั้นปูน   ในส่วนของการขยายพันธุ์อ้อยนั้นนอกจากใช้ลำต้นของอ้อยแล้ว ยังมีการใช้เมล็ดของอ้อยในการเพาะและผสมพันธุ์อ้อยเพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ดีและมีความเด่นทางพันธุกรรมโดยนักวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีสถานีเพาะพันธุ์อ้อยอยู่ที่บ้านทิพุเย ตำบลชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
พันธุ์ของอ้อย แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
     – อ้อยเคี้ยวหรืออ้อยคั้น เป็นอ้อยเปลือกนิ่ม ชานนิ่ม ความหวานปานกลางถึงค่อนข้างสูง รสหวานหอม ปลูกเพื่อการบริโภคโดยตรง พันธุ์ที่นิยมคือ อ้อยสิงคโปร์หรืออ้อยสำลี ลำต้นสีเหลืองอมเขียว เมื่อคั้นน้ำแล้วจะได้น้ำอ้อยสีสวยน่ากิน อีกพันธุ์หนึ่งคือ พันธุ์เมอริเชียส ลำต้นสีม่วงแดง ไม่เหมาะกับการนำไปคั้น แต่เหมาะกับการบริโภคโดยตรง นิยมทำอ้อยควั่นใช้เคี้ยวกินสดๆมีความกรอบหวานชานนิ่ม อ้อยพันธุ์นี้นิยมปลูกในแถบราชบุรี นครปฐมและสุพรรณบุรี นอกจากนี้ยังมีอ้อยน้ำผึ้ง อ้อยแดงและอ้อยขาไก่ ซึ่งเป็นอ้อยพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม ที่ยังมีปลูกอยู่บ้างในบางพื้นที่
     – อ้อยทำน้ำตาล เป็นอ้อยลูกผสมมาจากต่างประเทศ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์มาอย่างต่อเนื่องโดยนักวิชาการของไทยเรา อ้อยที่นิยมปลูกทำน้ำตาลมีอยู่ประมาณ 23 สายพันธุ์ พันธุ์อ้อยที่นิยมปลูกกันทั่วไป เช่น พันธุ์อู่ทอง ของศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี, พันธุ์กพส. ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม, พันธุ์ เค.ต่างๆ ของศูนย์เกษตรอ้อยภาคกลาง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี (ที่นิยมกันมากคือ เค.84-200)  อ้อยเมื่อผ่านกระบวนการผลิตน้ำตาลแล้วกากน้ำตาลยังนำไปผลิตเอทานอลซึ่งเป็นพลังงานทดแทนได้ และชานอ้อยก็นำไปผลิตป็นเยื่อกระดาษได้อีกเช่นกัน
     ลำต้นของอ้อยที่นำมาแปรรูปเป็นน้ำตาลจะมีปริมาณซูโครสอยู่ประมาณ 17-35% น้ำอ้อยเมื่อผ่านกระบวนการจะได้น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลกรวด น้ำตาลทรายขาว(ที่ผ่านการฟอกสี) ส่วนแหล่งปลูกอ้อยและแหล่งตั้งโรงงานน้ำตาลในยุคแรกๆนั้นอยู่ในแถบอำเภอนครชัยศรี ลุ่มน้ำท่าจีนนี่เอง ซึ่งอยู่ในช่วงต้นยุครัตนโกสินทร์(สมัยรัชกาลที่ 2-3) ถือเป็นยุคที่มีการปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลมากจนส่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ เนื่องจากช่วงนั้นมีชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งนำภูมิปัญญาการทำน้ำตาลมาถ่ายทอดแก่คนไทยด้วย นับเป็นยุครุ่งเรืองของการค้าน้ำตาลยุคหนึ่งและเริ่มเสื่อมถอยลงในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 ผู้ปลูกอ้อยหันไปปลูกข้าวแทน โรงงานน้ำตาลจึงทยอยปิดตัวลงไปในที่สุด 
     ประเทศไทยเริ่มกลับมามีโรงงานน้ำตาลและมีการปลูกอ้อยกันอย่างมากอีกครั้ง ในราวปี 2502 จนสามารถผลิตและส่งขายต่างประเทศได้อีกวาระหนึ่ง และขยับขยายพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เฉพาะในแถบภูมิภาคตะวันตกของเรานั้นถือเป็นแหล่งปลูกอ้อยที่สำคัญพื้นที่หนึ่งในเขตภาคกลาง มีการสร้างโรงงานน้ำตาลเพื่อเป็นอุตสาหกรรมในการหีบอ้อยและผลิตน้ำตาลทรายขึ้นมากมายหลายแห่งในแถบลุ่มน้ำแม่กลอง ตั้งแต่ บ้านโป่ง ท่ามะกา พนมทวน กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และประจวบคีรีขันธ์  เรามีโรงงานน้ำตาลถึง 14 แห่ง ในเขต 4 จังหวัด คือ จังหวัดราชบุรี อยู่ในเขตอำเภอบ้านโป่ง 2 แห่ง > จังหวัดกาญจนบุรี มีถึง  8 แห่งโดยอยู่ในเขตอำเภอท่ามะกา 5 แห่ง, อำเภอท่าม่วง อำเภอบ่อพลอย และอำเภอเมือง อีกที่ละแห่ง > จังหวัดสุพรรณบุรี มีรวม 3 แห่งคือที่อำเภออู่ทอง อำเภอสามชุกและอำเภอด่านช้าง > และที่อำเภอปราณบุรีของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มี 1 แห่ง สำหรับจังหวัดนครปฐมก็มีพื้นที่ปลูกอ้อยอยู่ไม่น้อยในแถบอำเภอกำแพงแสน ดอนตูมและอำเภอเมือง  นอกจากนั้นในเขตจังหวัดแถบนี้ยังมีการตั้งกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 ขึ้นซึ่งในอดีตถือว่าเป็นกลุ่มสมาชิกที่ใหญ่มากมีบทบาทสำคัญและทรงอิทธิพลระดับชาติทีเดียว ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งโรงงานน้ำตาลและปัจจุบันเป็นตระกูลที่มีบทบาทสำคัญในวงการอุตสาหกรรมน้ำตาล คือ ระกูลว่องกุศลกิจ เจ้าของกลุ่มบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เป็นครอบครัวชาวจีนแคะที่อพยพมาตั้งรกรากอยู่ที่ตำบลกรับใหญ่ อำเภอบ้านโป่ง จ.ราชบุรี  ที่เริ่มจากเป็นเกษตรกรปลูกอ้อยแล้วพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัวและเติบโตจนเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำตาลขนาดใหญ่ระดับต้นๆของประเทศ ปัจจุบันได้ขยายโรงงานน้ำตาลไปยังภาคอีสาน แล้วยังขยายการลงทุนไปต่างประเทศด้วยมีโรงงานน้ำตาลในประเทศลาวและประเทศจีน  

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร