อาชีพบรรณาธิการ/บรรณาธิการมืออาชีพ

ในกระบวนการผลิตหนังสือหรือสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อเผยแพร่ต่อผู้อ่านนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดในการผลิตหรือจัดทำคือ ความถูกต้องของเนื้อหาข้อมูลที่ชัดเจน หากขาดซึ่งสิ่งนี้แล้ว คนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือผู้อ่านหรือผู้รับข้อมูลข่าวสาร เพราะอาจได้รับข้อมูลที่ผิดๆไปโดยไม่รู้ตัว บรรณาธิการ คือผู้มีบทบาทสำคัญในการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ คุณสมบัติของบรรณาธิการที่ดีนั้น ต้องเป็นผู้ที่รักการอ่านมากถึงมากที่สุด อ่านหนังสือได้แตกฉาน ตีความหมายเป็นจับประเด็นได้ ต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ไม่หยุดนิ่ง การได้อ่านมากเท่าไรก็จะยิ่งสะสมความรู้จากการอ่านไปในตัว ได้เรียนรู้การใช้คำ สำนวนการเขียน รูปประโยค คำศัพท์ที่ถูกต้องมากขึ้นเท่านั้น
บทบาทและหน้าที่สำคัญของบรรณาธิการคือ การทำงานเกี่ยวข้องกับต้นฉบับของสื่อสิ่งพิมพ์ตั้งแต่การวางแผนหาต้นฉบับงานเขียน รวบรวมต้นฉบับเพื่อคัดเลือกต้นฉบับที่ดีที่สุดและตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ตรวจทานและแก้ไขปรับปรุงต้นฉบับให้ถูกต้องสมบูรณ์ เช่นตรวจสอบการสะกดคำ การเติมถ้อยคำสำนวนให้สละสลวย แต่งรูปประโยคให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์  การใช้เครื่องหมายต่างๆอย่างถูกต้อง บรรณาธิการจะเป็นผู้เรียบเรียงภาษาของนักเขียนให้น่าอ่านยิ่งขึ้น ทุกขั้นตอนนี้ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องที่สุด ในยุคก่อนนั้นผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นบรรณาธิการได้ล้วนต้องผ่านงานมาอย่างหนัก ต้องรอบรู้ มีประสบการณ์สูง และมีอุดมการ์ในการทำหนังสืออย่างแรงกล้า บรรณาธิการเก่งๆนั้นต้องทำงานเกี่ยวข้องกับหนังสืออย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป บางคนเริ่มตั้งแต่การตรวจปรู๊พ เรียนรู้และลงมือทำทุกกระบวนการของการทำหนังสือหรือสิ่งพิมพ์ เพื่อสั่งสมทักษะและประสบการณ์ นอกจากจะเป็นบรรณาธิการแล้ว บางท่านยังเป็นนักคิด นักเขียน นักต่อสู้ สามารถสะท้อนเรื่องราวของสังคมในแต่ละยุคสมัยได้อย่างหนักแน่นและแหลมคมอีกด้วย หากอยากจะรู้ว่าสื่อสิ่งพิมพ์ไหนมีนโยบายหรือจุดยืนไปในทิศทางใด ก็สามารถอ่านดูได้จากบทบรรณาธิการของสิ่งพิมพ์นั้นๆ บทบรรณาธิการจะเป็นเสมือนกระจกหรือหน้าตาของสื่อสิ่งพิมพ์แต่ละฉบับ ที่สามารถสะท้อนบุคลิก ลักษณะนโยบายจุดยืน รวมทั้งคุณภาพของสื่อนั้นได้อย่างดี บางครั้งยังสะท้อนถึงเป็นความเป็นผู้นำทางสังคมด้วย โดยเฉพาะบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารรายสัปดาห์แนววิเคราะห์ข่าวหลายๆสำนัก
นอกจากนี้บรรณาธิการยังเป็นเสมือนสะพานให้กับนักเขียนหน้าใหม่ๆได้มีโอกาสก้าวมาสู่แวดวงนักเขียนอย่างเต็มตัว ได้มีโอกาสโลดแล่นอยู่ในวงการหนังสือหลายๆคนมีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นนักเขียนมือทอง โดยเฉพาะนักเขียนในแนวเรื่องสั้นและนวนิยาย หรือสารคดี บรรณาธิการจึงเปรียบเสมือนนักปั้นที่อยู่เบื้องหลังนักเขียนเหล่านั้น บรรณาธิการรุ่นเก่าที่เรารู้จักและยอมรับฝีมือว่าเยี่ยมยอดนั้น อาทิ คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง บรรณาธิการนิตยสารสตรีสารในอดีต(เลิกจัดพิมพ์นานไปแล้ว ถ้าเป็นนักอ่านอายุ 40 ขึ้นไปน่าจะรู้จักดี) คุณสุภัทร สวัสดิรักษ์ บรรณาธิการนิตยสารสกุลไทย (เพิ่งเลิกจัดพิมพ์เมื่อปลายปีที่แล้ว)ซึ่งทั้งสองท่านนี้ได้ล่วงลับไปแล้วเช่นกัน ทั้งสองท่านได้สร้างนักเขียนนวนิยายชั้นนำประดับวงการมากมาย เช่น กฤษณา อโศกสิน ,ดวงใจ, สีฟ้า, โบตั๋น, มนันยา, สิริมา อภิจาริน, ประภัสสร เสวิกุล, วาณิช จรุงกิจอนันต์ฯลฯ ซึ่งนักเขียนเหล่านี้เป็นนักเขียนชั้นครูทั้งสิ้น
บรรณาธิการส่วนใหญ่จะเรียนมาทางด้านอักษรศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ ประเทศไทยเรามีการผลิตหนังสือและสิ่งพิมพ์มากมาย มีทั้งสำนักพิมพ์/โรงพิมพ์แต่ครั้งอดีต แต่น่าแปลกที่เรากลับไม่เคยมีหลักสูตรในการผลิตบุคลากรในสาขาอาชีพทางบรรณาธิการโดยตรงเลย เพิ่งจะมีการเปิดหลักสูตรบรรณาธิการศึกษา ในภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยบูรพา เป็นแห่งแรก เมื่อปีพ.ศ. 2549 แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เปิดได้เพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้นก็ยกเลิกและปิดหลักสูตรนี้ไปเสียแล้ว  ปัจจุบันมีการเปิดสอนหลักสูตรนี้เป็นวิชาโทบรรณาธิการศึกษา ในภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีอาจารย์มกุฏ อรดี บรรณาธิการแห่งสำนักพิมพ์ผีเสื้อ เป็นอาจารย์พิเศษในวิชานี้  ซึ่งอาจารย์มกุฏ อรดี ท่านนี้เองได้มีส่วนผลักดันให้เกิดหลักสูตรวิชานี้ที่มหาวิทยาลัยบูรพามาก่อน จุดประสงค์ก็เพื่อจะให้เกิดการผลิตบรรณาธิการอาชีพออกไปทำงานในสถานประกอบการของผู้ผลิตและเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์  เฉกเช่นเดียวกับสาขาอาชีพอื่นๆที่มีการเรียนการสอนเฉพาะด้านออกไปรับใช้สังคม
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร