ยิ่งหา ยิ่งหาย
ยิ่งหา ยิ่งหาย เป็นชื่อหนังสือ ที่แปลมาจาก เรื่อง The Filter Bubble ที่เขียนโดย Eli Pariser ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวที่มีอิทธิพลในวงการอินเตอร์เน็ต หนังสือเล่มนี้จะเปิดเผยเรื่องราวที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังยักษ์ใหญ่ในวงการอินเตอร์เน็ต ซึ่งใช้เทคโนโลยีการกรองข้อมูลในการสร้าง ความเฉพาะตัวให้กับแต่ละบุคคล (Customizaion) ว่าจะส่งผลอย่างไรบ้างกับชีวิตเรา โดยตั้งคำถามให้ผู้อ่านสนใจอ่านต่อว่า ทำไมผลการค้นหาคำคำเดียวกันใน Google ของคนสองคนถึงไม่เหมือนกัน 100% …เพราะอินเตอร์เน็ตคิดว่าเราเป็นคนยังไง เราทุกคนจึงอาจถูกหล่อหลอมผ่านข้อมูลต่าง ๆ ให้มีลักษณะที่เหมือน ๆ กันโดยไม่รู้ตัว…ทำไมเราถึงไม่เคยเห็นความคิดเห็นของเพื่อนบางคน หรือคนบางกลุ่มผ่านช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์คใด ๆ เลย…เรื่องบางเรื่องที่เราไม่ชอบ แต่ควรรู้ อาจหายไปจากชีวิตเราตลอดกาล เพียงเพราะเราไม่เคยกดไลค์ให้กับเรื่องราวเหล่านั้น…มาร่วมหาคำตอบและวิธีจัดการกับเรื่องเหล่านี้ได้ในหนังสือเล่มนี้
หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า ทำไม Social Network ต่าง ๆ มันถึงนำเสนอสิ่งต่าง ๆ ให้เรารู้สึกดี มีความสุข จนเราหลงใหล หนังสือเล่มนี้อธิบายโดยเปรียบเทียบ Network ต่าง ๆ ที่เราเอาตัวเราเข้าไปสัมพันธ์ด้วยนั้นมีฟองสบู่ ที่คอยและกรองข้อมูลของเราในขณะที่เราพิมพ์ข้อมูล ค้นหาข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว ความรู้สึก ที่บางคนเราตั้งใจพิมพ์ลงไปในเฟสบุ๊ค ในอินสตาแกรม หรือระบบเครือข่ายต่าง ๆ เครือข่ายสังคม หรือเว็บไซต์เหล่านั้นจะกรองข้อมูลและเก็บไว้เป็นข้อมูลเฉพาะตัวเราทีเดียว หลังจากนั้นเบื้องหลังเครือข่ายต่าง ๆ ที่เป็นระบบสมองกลอัจฉริยะ สามารถวิเคราะห์ คัดสรรข้อมูลส่งมาให้เราให้ตามที่เราชอบ หรือสมองกลมันวิเคราะห์ว่าเราชอบ เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ เราอาจสังเกตได้จาก เฟสบุ๊คคัดสรร แนะนำเพื่อนให้เราเพิ่มเข้าไปใหม่ ซึ่งลองสังเกตดูก็จะเห็นว่า บางคนที่เราไม่รู้จักและเฟสบุ๊คแนะนำให้นั้น จะต้องมีความเกี่ยวโยงกับเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจเป็นเพื่อนของเพื่อน เคยอยู่โรงเรียนเดียวกัน เป็นต้น
ในส่วนของ Google ที่ผู้คนส่วนใหญ่จะตั้งไว้เป็นหน้าแรกของการเปิดใช้อินเตอร์เน็ต หนังสือ “ยิ่งหา ยิ่งหาย” บอกว่า การค้นข้อมูลผ่าน google ด้วยคนสองคนที่มีการใช้งาน google เสมอ ๆ และมีลักษณะนิสัยที่ต่างกัน ผลการค้นข้อมูลด้วยคำค้นเดียวกัน จะได้ผลลัพธ์ต่างกัน (ในขณะที่ดิฉันทำหน้าที่ช่วยค้นข้อมูลให้ผู้ใช้บริการ เมื่อบางครั้งไม่สามารถหาได้ จะส่งคำขอไปยังคณะทำงานบริการสารนิเทศฯ ให้ช่วยค้นหาให้ และจะมีเพื่อน ๆ บางสถาบันสามารถหาได้จากที่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ฐานข้อมูลเชิงพาณิชย์) ในแต่ละปี Google จะมีการวิเคราะห์ สรุปคำสืบค้นยอดฮิต เมื่อสิ้นปีจะมีการออกวิดีโอสั้น ที่ชื่อว่า Year in search หรือที่เคยเรียกว่า zeitgeist ให้เราชมเสมอ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจว่า Google สามารถดักเก็บ keyword และเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันมาเชื่อมโยงกันได้อย่างน่าอัศจรรย์
เว็บไซต์ต่าง ๆ มีการติดตั้ง Cookie สำหรับเก็บข้อมูลที่เราพิมพ์ลงไป ในบทนำ “ยิ่งหา ยิ่งหาย” ยังบอกถึงสิ่งที่ทำให้เราฉุกคิดว่า เราได้ประโยชน์จากเว็บไซต์ หรือเว็บไซต์ได้ประโยชน์จากเรา หรือ win win “…คุณกำลังได้รับบริการฟรีจากเว็บเหล่านั้น และราคาที่จ่ายไปให้คือ ข้อมูลเกี่ยวกับตัวคุณ และกูเกิลและเฟสบุ๊คจะแปลงข้อมูลดังกล่าวให้กลายเป็นตัวเงินได้อย่างรวดเร็ว”
การพัฒนาของเว็บไซต์ต่าง ๆ จะเป็นแบบอินเตอร์แอคทีฟที่พยายามทายด้วยว่าคุณกำลังคิดจะพิมพ์อะไร อย่างเช่น Google Instant (ฐานข้อมูลออนไลน์เชิงพาณิชย์ที่ห้องสมุดเราใช้อยู่ปัจจุบันบางฐานข้อมูลก็ใช้หลักการของ Google Instant เหมือนกัน) และ Google ก็บอกว่าสิ่งที่พวกเขาจะทำต่อไป คือ Google จะบอกด้วยว่า พวกเรา (คนพิมพ์) ควรจะทำอะไรต่อไป
การเชื่อมโยงระหว่างระบบอัลกอริธึมของเว็บไซต์กับตัวตนของผู้ใช้เว็บไซต์โดยการคาดเดาจาก keyword ที่ผู้ใช้คลิก แล้วเชื่อมโยงไปยังเรื่องอื่น ๆ กับคนอื่น ๆ ที่ใช้ keyword ตัวเดียวกัน โยงเข้าด้วยกัน แลกเปลี่ยนตัวตน และนำเสนอบริการอื่น ๆ ที่คาดว่าเราจะชอบด้วย เหมือนคนที่ใช้ keyword เดียวกัน
จากเรื่องใกล้ตัว ในฐานข้อมูลออนไลน์ที่เราใช้กันอยู่ ล้วนมี feed สำหรับให้ฐานข้อมูลคัดเลือกสิ่งที่อยู่ในความสนใจของเรา โดยคัดเลือกจาก keyword ที่เราพิมพ์และคลิกไปนั่นเอง หรือถ้าเราลองสังเกตพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของตัวเราเอง จะเห็นว่า เรามักพิมพ์เรื่องที่เราชอบ เมื่อต้องการหาซื้อสินค้าจากออนไลน์ เราก็พิมพ์หาสินค้าที่เราชอบ สินค้าที่เราไม่ชอบเราก็จะไม่คลิกเข้าไปดูเลย
ในแต่ละบทของหนังสือพยายามยกตัวอย่างบริษัททางด้านเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ล้วนประสบความสำเร็จในการทำการค้าออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Google, Amazon, Netflix, Facebook, Utube ว่าแต่ละบริษัท แต่ละเว็บไซต์ได้ทำการกรองข้อมูลของเรา (ที่เราเป็นผู้พยายามนำเสนอให้เขาเอง) และสะท้อนข้อมูลกลับมาให้เราอย่างไร
“ยิ่งหา ยิ่งหาย” จึงน่าจะหมายความถึง ยิ่งเราใช้บริการจากหน้าเว็บไซต์ต่าง ๆ มากเท่าใด ความเป็นตัวตนของเรา ก็ยิ่งหายไปเท่านั้น ซึ่งหนังสือในหน้า 104 ก็บอกว่า “…ฟองสบู่กรองข้อมูลสามารถทำให้ความคิดสร้างสรรค์ลดลงได้ก็คือการกำจัดความหลากหลายบางอย่างที่กระตุ้นให้คนเราเกิดความคิดในแนวทางใหม่ และความคิดสร้างสรรค์ออกไป”
ในหน้า 251 ผู้เขียน จึงออกความเห็นไว้ว่า จุดถ่วงดุลที่ดีทีสุด คือ การเรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ มอบอำนาจที่แท้จริงในการควบคุมข้อมูลส่วนตัวของเราให้กับเรา…สนับสนุนให้มีศุนย์บังค้บใช้ “หลักปฏิบัติเกี่ยวกับสารสนเทศที่เป็นธรรม (Fair Information Practice)” ได้แก่
- คุณควรรู้ว่า ใครมีข้อมูลส่วนตัวของคุณ พวกเขามีข้อมูลอะไร และมันถูกนำไปใช้อย่างไร
- คุณควรสามารถป้องกันข้อมูลเกี่ยวกับตัวคุณที่รวบรวมเอาไว้เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งไม่ให้ถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อย่างอื่น
- คุณควรสามารถแก้ไขข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับตัวคุณเองได้
- ข้อมูลของคุณควรปลอดภัย
การบังคับใช้หลักปฏิบัติเกี่ยวกับสารสนเทศที่เป็นธรรมนั้น เราต้องเริ่มคิดว่าข้อมูลส่วนตัวเป็นทรัพย์สินส่วนตัวประเภทหนึ่ง และต้องปกป้องสิทธิของเราที่มีอยู่นั้น
อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ทำให้รู้สึกว่า ต้องมีความระมัดระวังในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อไม่ให้มีการนำข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้ในทางที่ไม่เป็นธรรม