เมื่อคนอื่นเขียนถึงเรา

เฟสบุ๊คส์มีการเตือนความทรงจำเสมอ On this Day ของวันที่ 13 กรกฎาคม 2554 ดิฉันขึ้นสเตตัสไว้ว่า..
 
การดำเนินงานในหอสมุดแห่งนี้เป็นแบบระบบครอบครัว มองโลกด้วยความสวยงาม ไม่ใช่มองเห็นแต่ความทุกข์ …. เราพูดอะไรแบบนี้ด้วยหรือนี่…. พร้อมทั้งมีลิงค์ที่ดิฉันพูดไว้ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2552
 
ขณะนั้นดิฉันเป็นหัวหน้าฝ่ายบริการ แล้วพูดให้กับคณะกรรมการพัฒนาวิทยาลัยสู่องค์การเรียนรู้ วิทยาลัยแสงธรรม ซึ่งเป็นผู้เข้ามาศึกษาดูงาน และทางคณะฯ ได้ถอดบทเรียนไว้อย่างดีพร้อมกับเผยแพร่ที่ http://www.saengtham.ac.th/knowledge/index.php/component/content/article/34-km-news/13-2010-03-08-04-27-33
 
ดูจากระยะเวลาแล้วเขียนสเตตัสเรื่องนี้เมื่อเวลาผ่านไปถึงสองปี หากนับจากวันนั้นคือปี 2552 ถึงปัจจุบัน เกือบสิบปีทีเดียว แต่อ่านดูแล้วยังรู้สึกเหมือนเดิม จึงขอคัดลอกออกมาเผยแพร่ต่อว่าเราคิดและรู้สึกอย่างไรกับเรื่องการจัดการความรู้ ซึี่งโดยส่วนตัวแล้วมีความเห็นว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อชีวิตทุกด้าน
 
คำที่อยู่ในวงเล็บเป็นการขยายต่อความคิดในปัจจุบัน อ่านแล้วเหมือนเถียงกับตัวเองหรือคุยกับตัวเอง
– ปัญหาใหญ่ของ KM คือ คนในองค์กรไม่ค่อยคุยกัน คนที่เป็นผู้บริหารไม่ทำ KM อ้างว่ามีเวลาน้อย : (ทั้งที่ต่างมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน เรื่องเวลาได้แต่กรอกตา)
– องค์กรจะต้องมีความเข้มแข็ง โดยดูที่ตัวบุคคล (ทำงานเก่ง) ที่สำคัญต้องเป็นคนที่ “รักการเรียนรู้” และรักการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รักการสร้างบรรยากาศ KM รู้นโยบายการสร้าง KM ของสถาบัน : (เริ่มที่ตัวเองทั้งสิ้น)
– สร้างและให้โอกาสแก่บุคคลในการสร้าง KM ทำอย่างไรจึงจะได้ทั้งคนดี คนเก่ง คนมีความสามารถ และมีความสุขจากการทำงาน : (ถ้ามองว่าเป็นโอกาสคือโอกาส ถ้ามองว่าเป็นภาระก็ไม่ใช่โอกาส)
– เปลี่ยนแนวความคิดจากการพิจารณา “ส่วนที่เลว” เป็น “ส่วนที่ดี” และสามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น : (เรื่องนี้มักขึ้นกับอารมณ์ สถานการณ์และภูมิหลัง)
– หัวหน้ามีหน้าที่ดูแล แก้ปัญหา ให้กำลังใจ ไม่ใช่ลงมือทำเองทั้งหมด จะทำให้รู้สึกว่าผู้ต้องปฏิบัติทำอะไรไม่เป็นเลย : (ให้กำลังอาจไม่ใช่คำพูดสวยๆ แต่เป็นสิ่งที่ไปต่อได้)
– การทำงานทุกอย่างจะต้องมีการประเมินผล และยอมรับผลการประเมิน (แม้จะเจ็บปวดก็ตาม) :  (ชีวิตต้องเรียนรู้ ทุกอย่างคือบทเรียน)
– การจัดการเรียนรู้จะต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงออก (ด้วยคำพูด/การกระทำ) รักการ “เก็บ” สิ่งที่ได้รู้มาเพื่อนำไปปฏิบัติหรือประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ : (ลาก่อนกับคำว่า “อีกแล้ว” “ประจำ” )
– การประชุมคือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของสมาชิกในที่ประชุม ไม่ใช่มีลักษณะเป็นแบบการนั่งฟังเล็กเช่อร์ : (ขยันจด เท่าๆกับ อ่าน ทบทวน และลงมือทำ) 
– KM เป็นกระบวนการที่ได้จาก “ประสบการณ์ตรง” และนำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำไปสู่การปฏิบัติ: (ไม่ทำ ไม่ลงมือ ต่อไปเราก็จะพูดกับใครไม่รู้เรื่อง  หรือวงที่เราพูดด้วยแคบลงๆ) 
– การดำเนินงานในหอสมุดแห่งนี้เป็นแบบระบบครอบครัว มองโลกด้วยความสวยงาม ไม่ใช่มองเห็นแต่ความทุกข์: (ความงาม ความสุขของทุกงานมีอยู่ แค่หาให้พบและสนุกกับทุกสิ่งที่เข้ามาในชีวิต) 
 
ส่วนบทสุดท้ายเป็นการสรุปว่า …..
การดำเนินงานด้าน Knowledge Management เป็นการสร้าง/เปิดช่องทางในการสื่อสารทั้งการเขียน และ on line ใช้กระบวนการถ่ายทอดความรู้ที่หลากหลาย มีการจัดทำแผนการจัดการความรู้ที่เด่นชัด มีการกำหนดบุคคลอย่างน้อยสองคนทำงานร่วมกันเพื่อไม่ให้ระบบสารสนเทศชะงักเมื่อคนใดคนหนึ่งไม่อยู่และคนที่อยู่สามารถจะตอบคำถามได้ และต้อง/ควรมีการเตรียมบุคคลเพื่อสานต่องาน/กิจกรรมเพื่อให้มีการต่อเนื่อง IT เป็นอุปกรณ์ที่สามารถเรียนรู้วิธีการใช้งานได้ อุปกรณ์จะมีประโยชน์เมื่อเรารู้ถึงสมรรถนะของอุปกรณ์นั้น ๆ ขอเสนอให้ใช้ระบบ KM ในเนื้องาน ไม่มีใครรู้ไปหมดทุกอย่าง แต่เราสามารถเรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ได้ ถึงแม้เราแต่ละคนอาจจะมีมุมมองที่ต่างกัน (ตามลักษณะงานที่ตนรับผิดชอบ) ทำให้เกิดความรู้ที่หลากหลายจากสิ่งเดียวกัน
– มองและให้กำลังใจตนเอง เช่น ชมตนเองจากผลงานที่เราชื่นชม (โดยไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นมาชื่นชม)
– หน่วยงานจะต้องมีความหนักแน่น และมีความแน่นอนในหลักการ และหลักปฏิบัติ
– ตรวจสอบว่ามีการเรียนรู้ มีการแลกเปลี่ยน มีการประเมินผล และมีการพัฒนาต่อยอดการเรียนรู้หรือไม่ เพียงใด
– การเดินไปเดินมาเพื่อใฝ่หา “ความคิด” จากเพื่อร่วมงาน และผู้รับบริการนั้น ก็คือ KM
 
…………………………………….
สิ่งที่อ่านแล้วสัมผัสได้คือบันทึกนี้ทำให้เห็นวิธีการดูงานและการสรุป เพราะตรงจุดตอบวัตถุประสงค์ของคนที่ไปซึ่งถือเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะการไปดูงานแต่ละที่มักมีหลายคนพูด ซึ่งอาจพูดไปตามบทหรือตามความคิด  ณ ขณะนั้น การที่หน่วยงานจัดบุคคลให้ทำหน้าที่เป็นคุณลิขิตเก็บข้อมูลที่เป็นแก่นสารและนำเผยแพร่ต่อจึงดีกับทุกชีวิต
 
ถามว่ารู้สึกอย่างไรเวลาอ่าน ขอบอกว่าก็เพลินดี มีความเพลินเท่าๆกับเราอ่านความคิดของคนอื่น เพราะไม่ว่าความคิดแบบไหนหรือเป็นของใคร อย่างไรก็ต้องไปคิดต่อ ว่าจริงไหม คิดเหมือนเดิมไหม มีอะไรเพิ่มเติมไหม และอะไรเป็นปัจจัยในปัจจุบันกาล ➡
 
ปล. ในลิงค์ดังกล่าวมีส่วนที่พี่แมวได้พูดไว้ด้วยเช่นกัน ลองอ่านกันค่ะ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร