ราชกิจจานุเบกษา
ราชกิจจานุเบกษา เป็นหนังสือที่รวบรวมคำประกาศของทางราชการ หอสมุดฯ มีราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่ปี 2503-2551 ทั้งที่บอกรับเป็นสมาชิกและได้รับบริจาคมา ซึ่งในระหว่างปีนั้นมีราชกิจจานุเบกษาที่มีทั้งฉบับทะเบียนการค้า ฉบับประกาศทั่วไป ฉบับทะเบียนฐานันดร ฉบับกฤษฏีกา ฉบับพิเศษ หรืออาจจะมีเป็นภาค 1-2 ความหมายของราชกิจจานุเบกษาแต่ละฉบับ มีดังนี้
1 ฉบับกฤษฎีกา (ประเภท ก) เป็นประกาศกฎหมายต่างๆ เช่น พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฏีกา กฎกระทรวงต่างๆ หรือคำสั่งของหน่วยงานหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ใช้อักษร “ก” ระบุไว้หลังเลขเรียงลำดับตอนที่ เช่น เล่ม 116 ตอนที่ 1 ก วันที่ 14 มกราคม 2542
2 ฉบับทะเบียนฐานันดร (ประเภท ข) เป็นประกาศที่เกี่ยวกับการสถาปนาและถอดถอนสมณศักดิ์ รายชื่อผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญราชการ หรือยศ ใช้อักษร “ข” ระบุไว้หลังเลขเรียงลำดับตอนที่ เช่น เล่ม 118 ตอนที่ 4 ข วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2544
3 ฉบับทะเบียนการค้า (ประเภท ค) เป็นประกาศเกี่ยวกับการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน บริษัท ใช้อักษร “ค” ระบุไว้หลังเลขเรียงลำดับตอนที่ เช่น เล่ม 118 ตอนที่ 2 ค วันที่ 18 มกราคม 2544 (ฉบับนี้หอสมุดฯมีแต่ไม่สมบูรณ์)
4 ฉบับประกาศและงานทั่วไป (ประเภท ง) เป็นประเกาศเรื่องอื่นๆ เช่น ประกาศกระทรวง ประกาศคำสั่งศาล ประเาศสำนักนายกรัฐมนตรี โดยใช้อักษร “ง” ระบุไว้หลังเลขเรียงลำดับตอนที่ เช่น เล่ม 125 ตอนที่ 39 ง วันที่ 3 เมษายน 2551
เมื่อก่อนการค้นราชกิจจานุเบกษายากพอสมควร ใครที่ต้องการจะค้นเรื่องราวในราชกิจจานุเบกษาก็จะไปที่หอสมุดฯต่างๆ ซึ่งหอสมุดฯเราก็ได้รับความนิยมมากในลำดับต้นๆ ผู้ที่จะหาข้อมูลเรื่องที่ตนเองต้องการก็จะมาที่หอสมุดฯเราติดต่อที่ งานบริการวารสารและหนังสือพิมพ์ (ฝ่ายบริการ) ในวันหนึ่งๆจะมีหลายราย ส่วนมากจะเป็น ครู ตำรวจ ทหาร เรื่องที่จะค้นส่วนมากจะเป็นเรื่องการได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยภรณ์ การเลื่อนยศตำแหน่ง เป็นต้น ในส่วนการบริการผู้ใช้บริการจะมีข้อมูลของราชกิจจานุเบกษาที่ต้องการค้นมาครบ เช่น เล่มที่ ตอนที่ วันที่ พ.ศ. แต่ในกรณีที่มีข้อมูลไม่ครบหรือมีข้อมูลเป็นบางส่วนก็จะหายาก แต่ก็จะช่วยผู้ใช้ค้นด้วย ซึ่งอาจจะเปิดหน้าสารบัญในปี พ.ศ. นั้นๆ และอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยผู้ใช้คือ การค้นจากสารบัญราชกิจจานุเบกษาของแต่ละฉบับ แต่ละปี ส่วนมากก็จะได้ข้อมูลกลับไป แต่ในปัจจุบันสะดวกมากขึ้น สามารถค้นได้จากเว็บไซด์ราชกิจจานุเบกษา แต่ผู้ใช้ต้องรู้รายละเอียดของเรื่องที่ต้องการจะค้น จะทำให้สะดวกมากยิ่งขึ้นและได้ข้อมูลตามที่ต้องการ