"ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน"

1 May 2017
Posted by Kavee Chutimanon

หลักการพัฒนาที่จัดว่าไม่ต้องลงทุนมากมายแต่ได้ผลดีที่สุดก็คือ “การทำให้ดูเป็นตัวอย่าง” เพราะไม่ต้องอาศัยคำพูดที่แสดงถึงเจตนาที่หวังดี หรือกระทบกระทั่งเพื่อให้เกิดการกระตุ้นความรู้สึกให้อยากทำตามแต่ประการใด แต่เป็นการแสดงถึงภาวะที่ไม่มีปัญหากับตัวเอง หรือแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ปฏิบัติให้ดูนั้นก่อให้เกิดคุณค่าอย่างไร
 
ในเบื้องต้นสิ่งที่ได้รับก็คือ การทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ ส่วนสิ่งที่ได้รองลงมาก็คือ ไม่ต้องมีปัญหาเพราะการขัดแย้ง อันเกิดจากความคิดที่ไม่ลงรอยกันระหว่างตัวเราและผู้อื่น เพราะเราเป็นแต่เพียงผู้ทำให้ดู ส่วนหน้าที่ในการเลือกที่จะทำตามนั้น เป็นอีกเหตุผลของคนที่พบเห็น แต่การที่จะชื่อว่าเป็นตัวอย่างที่ดีนั้น ก็ต้องอาศัยวิธีคิดและการกระทำที่ดำรงอยู่บนพื้นฐานของความดีงามเป็นที่ตั้งเช่นกัน มิใช่เป็นการกระทำด้วยการประชดประชัน หรือเป็นการเสแสร้งแกล้งทำแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ตัวอย่างที่ได้พบเห็น จึงส่งผลต่อความนิยมชมชอบที่จะให้ลงมือทำตาม ด้วยความยินดีและงดงามทางความรู้สึกของผู้เดินตาม เฉกเช่นชีวิตของคนเรา เมื่อแรกเริ่มของการเรียนรู้ชีวิต เรามีแบบแผนในการหลอมรวมความคิด และการกระทำให้เป็นไปในทางที่ดีงาม กระทั่งได้ปฏิบัติตามแบบแผนนั้นด้วยความรัก เมื่อวันหนึ่งได้ฝึกฝนและหลอมรวมความรู้สึกให้เติบโตจากแม่แบบที่เราประทับใจได้แล้ว ย่อมทำให้เกิดความพร้อมที่จะเป็นต้นแบบแห่งชีวิตที่เข้มแข็ง และเป็นแบบอย่างที่งดงามแก่ผู้อื่นในโอกาสข้างหน้าด้วยความภาคภูมิ
 
มีอาจารย์ใหญ่ท่านหนึ่งชอบนอนกลางวันเป็นประจำ ทว่าเมื่อถูกลูกศิษย์ถามก็มักจะตอบว่าไม่ได้นอนหลับ แต่เป็นการเข้าฌาญเพื่อไปพบพระอรหันต์เช่นเดียวกับท่านขงจื้อในอดีต ที่เคยไปพบพระอรหันต์ในฝันเป็นประจำ ด้วยเหตุที่อาจารย์ใหญ่กล่าวถึง การนอนหลับเพื่อไปพบพระอรหันต์เป็นประจำ ทำให้บรรดาลูกศิษย์ผิดหวังในตัวท่าน วันหนึ่งอากาศแสนจะเป็นใจให้พักผ่อน หลังจากกินข้าวอิ่มเรียบร้อยแล้ว เหล่าลูกศิษย์ก็ถือโอกาสงีบหลับเอาแรงหน่อย แต่พออาจารย์ใหญ่ผ่านมาก็ตวาดเข้าให้ “นี่พวกเธอมาแอบนอนหลับได้ยังไง เป็นนักศึกษาต้องกระตือรือร้นหน่อย ทำอย่างนี้ดูไม่เข้าท่าเอาเสียเลย”
 
“พวกผมไม่ได้นอนอย่างเดียวนะท่านอาจารย์ แต่พวกผมไปพบพระอรหันต์แต่ปางก่อนมา เช่นเดียวกับขงจื้อไงครับ” ลูกศิษย์อธิบายให้รับทราบ
 
“แล้วที่ว่าไปพบพระอรหันต์มาน่ะ พวกเธอได้ข่าวอะไรมาบ้าง ?” อาจารย์ใหญ่ซัก
ลูกศิษย์คนหนึ่งจึงกล่าวแถลงไขว่า “พวกผมไปพบพระอรหันต์แต่ปางก่อนในแดนฝันมา และได้เรียนถามท่านว่า เห็นอาจารย์ใหญ่ของพวกผมไปที่นั่นทุกบ่ายหรือเปล่า แต่พระอรหันต์ท่านหลายตอบว่า ไม่เคยเห็นหน้าคนที่พวกผมถามเลยแม้แต่ครั้งเดียว” อาจารย์ใหญ่จึงได้แต่ทำหน้าตาละห้อย เพราะไม่รู้จะแก้คืนอย่างไร
 
บทความข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งในงานเขียนของ “ท่านชุติปัญโญ” ที่ได้นำเสนอไว้ ในหนังสือ “วิถีทางแห่งการสร้างสุข” ชุติปัญโญ (นามแฝง). วิถีทางแห่งการสร้างสุข. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ใยไหม, 2549.

 
ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน เป็นประโยคที่มีผู้คนกล่าวถึงอยู่เสมอๆ เป็นคำกล่าวที่ชัดเจนอยู่ในตัว แทบจะไม่ต้องอธิบายขยายความใดๆทั้งสิ้น เป็นคำกล่าวที่ใครๆได้ยินแล้วมองเห็นภาพชัดเจน สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตได้ ทั้งในระดับครอบครัว สังคมรอบตัว หรือแม้แต่ภายในองค์กรทุกๆระดับชั้น
การที่มีใครสักคนแนะนำสั่งสอนหรือบอกกล่าวให้เราทำอะไรสักอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นในใจก็คือ เชื่อตามนั้น ตามที่เขาพูด หรือปฏิเสธสิ่งที่ได้ยินได้ฟังนั้นทันที เหตุผลที่สำคัญก็คือ ความเชื่อมั่นศรัทธาในตัวคนพูด อธิบายง่ายๆก็คือ เรื่องที่เอามาบอกมาสอนคนอื่น ตนเองยังทำไม่ได้ แล้วใครที่ไหนจะเชื่อ แต่ถ้าหากสิ่งที่บอกกล่าวสั่งสอนนั้น เป็นสิ่งที่ผู้พูดได้ประพฤติปฏิบัติอยู่เป็นประจำ เรื่องราวเหล่านั้นคงไม่มีใครปฏิเสธ    สำคัญที่สุดคือการมองตนเอง สอนตนเอง ก่อนที่สั่งสอนผู้อื่น “ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน”

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร