บุญใหญ่พลิกชีวิต


เมื่อพูดถึงเรื่อง “บุญ” หลายคนที่ทำบุญก็คงประสงค์จะได้บุญกันทั้งนั้น และอยากรู้ว่าเราควรจะทำบุญแบบไหนที่จะได้บุญมากเป็นพิเศษ ได้บุญมากเพราะอะไร รวมถึงทำได้แล้วจะได้อะไรกลับมา  โดยในพระไตรปิฎก จะมีตัวอย่างการทำบุญที่ได้บุญมากเป็นพิเศษ
 
หนังสือเล่มนี้ (เลขเรียก BQ4420.G6 ณ63)  เขียนให้อ่านเป็นตอน ๆ เริ่มด้วยเรื่องกาลามสูตร ทำความรู้จักบุญ บุญใหญ่ประจำปี หลับหรือตายก็ยังได้บุญ ทำบุญมากไปไหม บุญที่ไม่ต้องใช้เงิน บรรลุอรหันต์เพราะบุญ บุญที่น่าท้าทาย รักษาศีลอุโบสถ ไม่ตกนรกอีกเลย ไม่ถึงวินาทีก็ได้บุญมาก บุญคุณต้องทดแทน โอกาสได้ทำทุกบุญ ทำบุญอย่างมีกิเลสได้หรือไม่ และมาทำบุญกันเถิด
 
กาลามสูตร แปลว่า พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ชาวกาลามะ หมู่บ้านเกสปุตตนิคม แคว้นโกศล เป็นหลักแห่งความเชื่อที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้แก่พุทธศาสนิกชนไม่ให้เชื่อสิ่งใด ๆ อย่างงมงายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณโทษหรือดีไม่ดีก่อนเชื่อ 10 ประการ กล่าวคือ 1.อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ฟัง ๆ กันมา 2.อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ทำต่อ ๆ กันมา 3. อย่าเพิ่งเชื่อตามคำเล่าลือ 4. อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างตำรา  5. อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกเดา 6. อย่าเพิ่งเชื่อโดยคาดคะเนเอา  7. อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกคิดตามแนวเหตุผล  8. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะถูกกับทฤษฎีของตน  9. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะมีรูปลักษณ์ที่ควรเชื่อได้  10. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูบาอาจารย์ของตน (น.2-3)
 
การทำบุญ หมายถึง การกระทำทางกาย วาจา ใจ (กระทำทางใดทางหนึ่งหรือหลายทาง) ที่เราทำโดยเจตนาและมีความสุขขณะทำ แล้วการกระทำนั้นทำให้เราได้รับสิ่งดี ๆ กลับมาในอนาคต (พระไตรปิฎกเล่มที่ 22 ข้อ 334 และพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 ข้อ 59) (น.4)
 
การทำบุญ จะได้บุญมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 5 อย่าง ได้แก่ 1. ผู้ทำทานมีศีลแค่ไหน คนที่มีศีล (เคร่งครัด) ก็จะได้บุญมากขึ้น  2. ผู้รับทานมีศีลแค่ไหน หากผู้รับไม่มีศีล ไม่มีคุณธรรมเราจะได้รับบุญน้อย  3. ผู้ทำทานทำด้วยจิตที่เลื่อมใสแค่ไหน ทำบุญด้วยความรู้สึกบริสุทธิ์ใจ ด้วยความเมตตากรุณา ด้วยความรู้สึกอยากช่วยเหลือ ด้วยความปรารถนาดี  4. ผู้ทำทานเชื่อในกฎแห่งกรรมหรือไม่  5. วัตถุที่ใช้ทำทานมีความบริสุทธิ์หรือไม่ ของที่ใช้ทำบุญนั้นหากได้มาโดยไม่บริสุทธิ์ก็อาจจะได้บุญ แต่น้อยมากแถมยังได้บาปติดไปอีก (ข้อ 3, 5 เรียกรวมว่า จิตใจของผู้ทำทานมีความบริสุทธิ์แค่ไหน) (น.4-7)
 
วิธีการทำบุญ นอกจากทำด้วยตนเองยังมีอีกหลายช่องทางที่ทำได้ เช่น ชักชวนให้ผู้อื่นทำบุญ ยินดีที่ผู้อื่นทำบุญ สรรเสริญเวลาที่ผู้อื่นทำบุญ (พระไตรปิฎกเล่มที่ 24 ข้อ 201) และจะได้บาปเมื่อขัดขวางผู้จะทำบุญ เช่น วัดนี้รวยแล้วอย่าทำเลย, คนกำลังจะทำบุญ 500 บาท บอกว่าทำ 100 บาทก็พอ เป็นต้น
 
บุญแสดงผลเมื่อไร ปกติบุญสามารถแสดงผลได้ตลอดเวลาทุกภพทุกชาติทั้งตอนเป็นเปรต สัตว์เดรัจฉาน ตอนตกนรก หรือเป็นมนุษย์ แต่เป็นเพียงแค่เศษของบุญเท่านั้น บุญส่วนใหญ่จะแสดงผลให้เราไปเสวยสุขเป็นเทวดา (และนิพพาน) (น.9)
 
บุญใหญ่ประจำปี นั่นคือการทำบุญกฐิน หมายถึง การถวายผ้าให้หมู่สงฆ์นำไปเย็บและย้อมเพื่อนำไปใช้แทนผ้าไตร (สบง จีวร สังฆาฏิ) ที่เก่าหรือขาด การทำบุญกฐินถือได้ว่าเป็นการทำสังฆทานไปในตัว ได้บุญมากกว่าการทำทานทั่วไปนับล้านเท่า เพราะทำบุญกฐินมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น แต่ละวัดรับกฐินได้ปีละครั้ง ช่วงเวลาทำบุญมีเพียง 1 เดือน พระที่จะรับกฐินได้ต้องจำพรรษาที่วัดนั้นตลอดพรรษา  จึงได้บุญมากกว่าสังฆทานทั่วไป  ผู้ที่ทำบุญและพระจะได้บุญทั้งสองฝ่าย (พระไตรปิฎกเล่มที่ 5 ข้อ 136) ผลบุญจากการถวายกฐิน จะช่วยเรื่องของฐานะทางการเงินเพราะเป็นการทำบุญด้วยการให้ (ทาน) และผลทางอ้อมจะช่วยให้เรามีผิวพรรณที่ดีมีเสื้อผ้าสวยงามใส่ (น.18-19)
 
การทำทานแบบไหนได้บุญสูงสุด อ้างอิงจากพระไตรปิฎกเล่มที่ 14 ข้อ 713 กล่าวไว้ว่า การทำสังฆทานได้บุญมากกว่าการทำบุญกับพระพุทธเจ้า (กฐินถือเป็นสังฆทานประเภทหนึ่ง) แต่มีคำกล่าวว่า “การที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์ที่มาจากจาตุรทิศ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค” แปลว่า การทำบุญด้วยเงินเท่ากัน การสร้างวิหารให้หมู่สงฆ์จากทั่วทุกสารทิศได้ใช้ ได้บุญมากกว่าการทำสังฆทานทุกประเภท (น.23) หากทำบุญแล้วของนั้นถูกนำไปใช้ประโยขน์ย่อมได้บุญมากกว่าไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ แต่เราไม่ควรกังวลว่าพระท่านจะได้กินได้ใช้ของที่เราถวายหรือไม่ การทำบุญที่ได้บุญตลอดเวลาทั้งกลางวัน กลางคืน สรุปว่า หากเราได้สร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ที่จะมีคนมาเข้าใช้ตลอดเวลาเราก็จะได้บุญตลอดเวลา และบุญจะเป็นเท่าทวีเมื่อเป็นศาสนประโยชน์จากการใช้สอยและจากการส่งเสริมให้ผู้อื่นได้ทำบุญ ส่วนการสร้างพระพุทธรูปถวายวัดถือว่าเรามีส่วนส่งเสริมให้เขาได้ทำบุญจากการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยจิตเลื่อมใสศรัทธาโดยมีพระพุทธรูปที่เราสร้างเป็นตัวแทนเราก็จะได้บุญเพิ่มขึ้น
 
ทำบุญมากไปไหม ผู้เขียนอ้างอิงจากพระไตรปิฎกเล่มและข้อต่าง ๆ ให้ผู้อ่านได้คิดตามเกี่ยวกับการทำบุญมากหรือน้อยจึงจะได้บุญจริง (น.36-49) ใครจะทำบุญมากหรือน้อยเป็นไปตามกำลังทรัพย์และกำลังศรัทธาของเขา เห็นคนที่มีกำลังทรัพย์ไม่มากแต่เขารู้จักการให้ (ทาน) ก็อย่าไปดูหมิ่นเขาควรอนุโมทนาบุญ คนเราต้องรู้จักบริหารเงินให้สมดุล กล่าวคือ 1. เงินส่วนที่ได้ใช้ หมายถึง เงินหรือทรัพย์สมบัติส่วนที่เรานำไปซื้ออาหารและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อนำมาอุปโภคบริโภค ทรัพย์สมบัติส่วนนี้ใช้แล้วจะหมดไปในชาตินี้นำติดตัวไปไม่ได้  2. เงินส่วนที่นำไปทำบุญ หมายถึง เงินที่เรานำไปทำบุญเรียบร้อยแล้ว ทรัพย์สมบัติส่วนนี้ดูเหมือนว่าใช้แล้วหมดไป แต่ความจริงทรัพย์สมบัติส่วนนี้กลายสภาพเป็นบุญ เราสามารถนำติดตัวไปในชาติหน้าได้  3. เงินส่วนที่ยังไม่ได้ใช้ (เงินเก็บ) ไม่ว่ามีมากหรือน้อย ส่วนที่เรายังไม่ได้ใช้ถือว่าไม่เป็นทรัพย์สมบัติของเรา หากตายไปก็เป็นของทายาทเราไม่สามารถนำติดตัวไปได้เลย ฉะนั้นควรที่ทุกคนจะต้องบริหารเงินอย่างเหมาะสมทั้งสามส่วน (น.52-53)
 
บุญที่ไม่ต้องใช้เงิน โดยการมีพระรัตนตรัยเป็นที่ยึดเหนี่ยว ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธเจ้าสอนให้ทำความปรารถนาของเราให้เป็นจริงด้วยตัวเอง ให้ลงมือทำ และทำบุญละบาป การกราบไหว้พระพุทธรูปควรเป็นการบูชาด้วยจิตศรัทธา (บุญเกิดขึ้นที่จิตใจ) เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตเพื่อเตือนสติให้ตั้งใจทำบุญให้มากละบาปทั้งปวง  พระธรรม คือธรรมที่กำจัดความอยาก ความหลงมัวเมา ทำให้กิเลสตัณหาน้อยลงและทำให้นิพพานได้  พระสงฆ์ ผู้ปฏิบัติดี ผู้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ควรทำความเคารพ เมื่อมีพระรัตนตรัยเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตจะเป็นกุศล มีความผ่องใส เป็นการทำบุญทางจิตใจ จึงถือว่าได้บุญ (น.72-73)
 
บรรลุอรหันต์เพราะบุญ จากพระไตรปิฎกเล่มที่ 10 ข้อ 131 ว่าชนใดเที่ยวจาริกไปยังสังเวชนียสถานทั้ง 4 ด้วยจิตที่เลื่อมใส เคารพ ศรัทธาแล้ว เมื่อตายไปจากชาตินี้ ชาติต่อไปจะได้ขึ้นสวรรค์อย่างแน่นอน
 
บุญที่น่าท้าทาย กล่าวถึง การรักษาศีล 5 เป็นการลดการทำบาปจากการฆ่าสัตว์ การลักขโมย การละเมิดลูกเมียผู้อื่น การโกหก การดื่มแอลกอฮอล์ จะช่วยให้รับผลของกรรมชั่วน้อยลง นอกจากการรักษาศีล 5 แล้ว สามารถได้บุญมากขึ้นด้วยการรักษาศีลอุโบสถ
 
รักษาศีลอุโบสถ สามารถทำได้สองแบบคือ ไปรับศีลอุโบสถฟังธรรมที่วัด และพักอาศัยอยู่ที่วัด หรือรักษาศีลอยู่ที่บ้าน สิ่งสำคัญที่สุดคือจิตใจ ความตั้งใจ ขั้นตอนที่ 1 กราบพระพุทธ กราบพระธรรม กราบพระสงฆ์  ขั้นตอนที่ 2 บูชาพระรัตนตรัย ขั้นตอนที่ 3 อาราธนาศีลอุโบสถ ขั้นตอนที่ 4 นมัสการพระพุทธเจ้า (ตั้งนะโม 3 จบ)  ขั้นตอนที่ 5 ไตรสรณคมน์  ขั้นตอนที่ 6 สมาทานศีลอุโบสถ ขั้นตอนที่ 7 อธิษฐานรักษาศีลอุโบสถ  ขั้นตอนที่ 8 สรุปศีลอุโบสถ (ขั้นตอนนี้เฉพาะรับศีลกับพระเท่านั้น)  ขั้นตอนที่ 9 กราบลาพระ (มีรายละเอียดการปฏิบัติตน เช่น ต้องงดเว้นอาหารชนิดใดบ้าง การแต่งกาย เป็นต้น)
 
ไม่ถึงวินาทีก็ได้บุญมาก โดยการเจริญภาวนาซึ่งจะได้บุญมากก็ต่อเมื่อเราสามารถทำให้จิตใจ    นิ่งสงบจนได้สมาธิและได้ฌาน ภายในจิตใจไม่มีความรู้สึกโกรธแค้นหรืออยากทำร้ายใครแม้แต่นิดเดียว แล้วแผ่จิตที่มีเมตตาออกไปในทุกทิศทางรอบตัวโดยไม่เฉพาะเจาะจงผู้รับ สภาพจิตใจจะเป็นกุศลอย่างแรงกล้าเมื่อจิตเป็นกุศลเกิดขึ้นจึงถือได้ว่าเป็นการทำบุญทางจิตใจ จิตใจจะผ่องใสบริสุทธิ์มากขึ้น ทำให้มีความสุขมากขึ้น การเจริญสติยังช่วยลดโอกาสที่กรรมเก่าจะแสดงผลกับชีวิตเราได้และที่สำคัญที่สุด การเจริญสติยังถือได้ว่าเป็นเส้นทางไปสู่นิพพานอีกด้วย นอกจากนี้ยังกล่าวถึงอานิสงส์ของการเจริญภาวนาที่เห็นทันตา (น.134-142)
 
บุญคุณต้องทดแทน คำว่ามีบุญคุณหมายถึง การที่ใครมีน้ำใจช่วยเหลือแล้วเราทดแทนช่วยเหลือกลับในขอบเขตที่เหมาะสมไม่บาป ไม่เบียดเบียนตนเองและครอบครัว และที่ไม่ควรลืมคือ บุญคุณของพ่อแม่ พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบไว้ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 20 ข้อ 278 ว่า ถ้านำพ่อแม่ไว้บนบ่าทั้งสองข้างของเราให้ท่านใช้ชีวิตกินอยู่ขับถ่ายบนบ่าของเรา และอาบน้ำประพรมน้ำหอมให้ท่านแม้จะทำให้ท่านแบบนั้นทุกวันตลอดชีวิตก็ไม่ถือว่าตอบแทนบุญคุณของท่านหมด (น.145) การที่เกิดมาเป็นมนุษย์ในทุกวันนี้สภาพแบบไหน ก็ตามทั้งดีและไม่ดีเหตุเพราะเหมาะสมกับกรรมเก่าของเรา พ่อแม่เป็นผู้ให้ เลี้ยงดูทั้งร่างกายและจิตใจตั้งแต่เกิดจนโตอยู่เกือบ 30 ปี บางคนเรียนจบ ป.ตรี แล้วต่อ ป.โท อีก และไม่ว่าจะอายุเท่าไรท่านก็ยังรักและห่วงลูกเสมอ ลูกมีสุขพ่อแม่สุขด้วย ลูกมีทุกข์พ่อแม่ก็ทุกข์ด้วย ดังนั้นถ้าทำบาปกับพ่อแม่จะบาปหนัก การทดแทนบุญคุณพ่อแม่ทำได้หลายอย่าง เช่น เมื่อมีรายได้ก็แบ่งให้ท่านบ้างเมื่อท่านใช้เงินเราใช้อุปโภคบริโภคลูกจะได้บุญมาก การช่วยพ่อแม่ที่ไม่ค่อยทำบุญให้ทำบุญ ให้มีศีลมากขึ้น การไปหาท่าน โทรศัพท์หา ซื้ออาหารที่ท่านชอบไปให้  และคิดว่ามีอะไรบ้างที่ทำแล้วพ่อแม่มีความสุขให้รีบทำ
 
โอกาสได้ทำทุกบุญ การบวชถือเป็นบุญหนึ่งคนที่บวชได้แต่ไม่บวชนับว่าน่าเสียดาย และเมื่อตั้งใจบวชอาจได้บุญจากความตั้งใจดี แต่หลังจากนั้นจะได้บุญหรือบาปอยู่ที่การประพฤติผู้ที่บวชแล้วไม่ทำกิจของสงฆ์ ไม่เรียนรู้พระธรรม ไม่ปัดกวาดวัด เอาแต่กินกับนอน บุคคลนั้นย่อมตกนรก (จากอรรถกถาเล่มที่ 33 หน้า 202 อรรถกถาสูตรที่ 5) น.163 นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการเป็นพระที่ดีจะได้บุญอย่างไรบ้าง (น.162-175)
 
ทำบุญอย่างมีกิเลสได้ไหม คำพูดว่าทำบุญอย่าหวังผล แต่เป็นไปได้ไหมที่จะไม่หวังผล เนื้อหาตอนนี้จะยกตัวอย่างการทำบุญของพระพุทธเจ้าและบุคคลสำคัญทางพุทธศาสนาคนอื่น ๆ พระพุทธเจ้าขณะทรงเป็นพระโพธิสัตว์พรองค์ก็ทรงทำบุญเพื่อหวังบรรลุธรรม แม้การทำบุญโดยหวังผลตอบแทนจะได้บุญน้อย ก็ย่อมดีกว่าไม่ได้ทำบุญเลย
 
บทสุดท้าย มาทำบุญกันเถิด การทำบุญที่ได้บุญมากตามพระไตรปิฎกนั้นจะเห็นได้ว่าการทำบุญที่ไม่ต้องใช้เงินได้บุญมากกว่าการทำบุญที่ต้องใช้เงิน แม้การทำบุญที่ได้บุญมากนี้จะแสดงผลบุญได้ครอบคลุมทุกด้าน แต่ที่ได้มากกว่านั้นเป็นผลบุญที่เปรียบเทียบคุณค่าทางด้านจิตใจและการหลุดพ้น บุญเหล่านี้ไม่สามารถทดแทนกันและกันได้อย่างสมบูรณ์แบบจนเราสามารถทำบุญแบบหนึ่งแล้วไม่ต้องทำบุญแบบอื่นได้ (น.198)
 
ความรู้ในพุทธศาสนามีไว้เพื่อให้เรียนรู้และเข้าใจว่า การทำบุญแบบไหนได้บุญมากแต่พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้เลือกทำเฉพาะบุญที่ได้บุญมาก ฉะนั้นแนวทางที่ถูกต้องสำหรับชาวพุทธคืออย่าดูหมิ่นการทำบุญที่ได้บุญเพียงเล็กน้อย
 
 
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร