จิตวิทยาการพูด

19 April 2017
Posted by Kasorn Sansuwan

ห้องสมุดมีหนังสือให้เราเลือกอ่านมากมายหลายแสนเล่ม ว่าแต่ใครจะสนใจอ่านเรื่องอะไรกัน แล้วแต่มุมมองของแต่ละคนสำหรับดิฉันแล้วเห็นว่าเรื่อง “จิตวิทยาการพูดผูกใจคน” เป็นเรื่องที่น่าสนใจ  การพูดเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตประจำวันสามารถทำให้ผู้ฟังมีความคิด มีอารมณ์ การพูดทำให้คนหัวเราะ หรือร้องไห้ก็ได้ คำพูดของคนเรามีอิทธิพลมากมายในวันหนึ่ง ๆ เราต้องติดต่อพบปะกับคนมากหน้าหลายตา การพูดการจาต้องมีหลักเกณฑ์ มีความคิด เราต้องมีความรับผิดชอบต่อเรื่องที่พูดออกไป ต้องระมัดระวังคำพูด การพูดผูกใจคนหรือการพูดที่ดีนั้นเมื่อเราพูดออกไปแล้วไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้ฟัง ต้องทำให้คู่สนทนาชอบใจอยากจะคุยนาน ๆ หรือเมื่อคุยจบแล้วก็อยากให้เราคุยต่อ อยากจะหาเวลามาคุยอีกถ้ามีโอกาส หลักการพูดผูกใจคนมีดังนี้ การพูดคล้อยตาม, โต้แย้ง, แกล้งไม่รู้, เหตุผล, เอาชนะ, ยอมแพ้, แก้ตัว

  1. หลักการพูดคล้อยตาม เป็นการพูดคุยหรือการพบปะสนทนา จะเป็นสองต่อสอง หรือมากกว่าสองคนขึ้นไป เป็นเรื่องที่สามารถคุยได้ทุกเรื่อง เรื่องที่คุยกันจะเกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีการนัดหมายกันไว้ล่วงหน้าว่าจะคุยกันเรื่องอะไร การพูดคล้อยตามจะทำให้การสนทนาดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่หยุดชะงัก ความเห็นคล้อยตาม ไม่มีการขัดแย้ง กับคนในกลุ่ม พูดเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง และผู้สนทนาด้วยกัน
  2. หลักการพูดโต้แย้ง การพูดจาหรือในการสนทนาถ้าไม่มีการโต้แย้งกันก็เหมือนกับว่ามันจะขาดรสชาติในการสนทนาไป การพูดจึงควรมีการโต้แย้งกันบ้าง การโต้แย้งมีอยู่สองวิธี คือการโต้แย้งเพื่อความสนุกสนาน และการโต้แย้งเพื่อความถูกต้อง

2.1 การโต้แย้งเพื่อความสนุกสนาน  เพราะถ้าเราพูดแต่เรื่องหนัก ๆ สมองก็จะทำให้จืดชืด จะต้องมีเสียงหัวเราะบ้าง มีเสียงสนุกสนานบ้าง

2.2 การโต้แย้งเพื่อความถูกต้อง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องทำการโต้แย้ง ถ้าไม่โต้แย้งจะเกิดความเสียหายขึ้นอย่างแน่นอนถ้าไม่เสียหายส่วนบุคคล ก็จะเสียหายถึงส่วนรวม ในการโต้แย้งจะต้องใช้วิธีสุภาพและนุ่มนวล ไม่ข่มขู่คู่สนทนา จะต้องเริ่มต้นการโต้แย้งอย่างเป็นมิตร

  1. หลักการพูดแกล้งไม่รู้ การแกล้งไม่รู้นี้เราจะต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับโอกาส ถ้าเราแกล้งไม่รู้ไปเสียทุกเรื่องเราก็จะกลายเป็นหัวหลักหัวตอไปได้เหมือนกัน
  2. หลักการพูดด้วยเหตุผล ในการพูดการสนทนาไม่ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องตลกเฮฮาแต่เพียงอย่างเดียว บางครั้งเราต้องพูดให้มีหลักการและเหตุผลคนเขาถึงจะเชื่อในคำพูดของเรา คนที่พูดมีเหตุผลย่อมเป็นคนที่มีความคิดดี หรือเรียกว่ามีหลักการดี การพูดลอย ๆ การฟังเขาพูดแล้วมาพูดต่อ ๆ กัน โดยไม่เห็นด้วยตาของตนเอง จึงเป็นการเสี่ยง เพราะเรื่องที่พูดนั้นอาจจะไม่จริงก็ได้ คำพูดที่มีเหตุผลนั้นย่อมมีประโยชน์ต่อผู้พูดเสมอ
  3. หลักการพูดเพื่อเอาชนะ การพูดบางครั้งก็เหมือนการแข่งขันกัน การโต้เถียงกันเพื่อเอาชนะ การพูดเพื่อเอาชนะประกอบด้วย ความจริง หลักฐาน เหตุผล และคารม ถ้าจะพูดเพื่อเอาชนะเราจะต้องลำดับเรื่องลำดับเหตุผลให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้
  4. หลักการพูดเพื่อยอมแพ้ ในการพูดหรือการเล่นเกมอะไรก็ตามมีคนชนะอยู่คนเดียว แข่งทีไรชนะทุกที ในที่สุดก็ไม่มีใครอยากเล่นด้วย เพราะเล่นไปก็หมดสนุกทุกทีรู้ล่วงหน้าแล้วว่าต้องแพ้ ในการพูดก็เช่นเดียวกัน ต้องยอมแพ้คู่สนทนาบ้าง คนเขาถึงอยากจะพูดจะคุยด้วย การยอมแพ้อีกอย่างหนึ่งคือการยอมแพ้ต่อผู้ชำนาญการในสิ่งหนึ่งสิ่งใดเหนือเรา เช่น คู่สนทนาเป็นนักเลี้ยงกล้วยไม้ หรือเป็นช่างแก้วิทยุ เขาย่อมชำนาญเรื่องนั้น ๆ เป็นอย่างดี เราก็ยกย่องให้เกียรติเขาบ้าง ในฐานะเขาเป็นผู้ชำนาญ การยอมแพ้ใครและเมื่อไร ต้องเลือกเวลาและโอกาสให้เหมาะสม
  5. หลักการพูดกล่าวแก้ เมื่อเราทำอะไรผิดก็ต้องมีการแก้ไขให้ถูกต้อง เป็นวิธีการที่ดี สิ่งใดผิดจะต้องทำให้ถูก สิ่งใดไม่ดีต้องแก้ไขให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ การพูดก็ต้องมีการกล่าวแก้เพื่อให้คู่สนทนาเข้าใจให้ถูกต้อง ดีกว่าปล่อยให้เขาเข้าใจอะไร ๆ ผิดไป หลักการพูดกล่าวแก้มี อยู่ 2 ประการ คือ การกล่าวแก้เพื่อตนเอง และการกล่าวแก้เพื่อผู้อื่น ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน การกล่าวแก้เพื่อผู้อื่นเหมือนการปิดทองหลังพระ เพราะบางครั้งคนที่เรากล่าวแก้ให้อาจไม่รู้เรื่องด้วย แต่เราช่วยพูดให้บางคนในวงสนทนาเข้าใจคนที่เรากำลังกล่าวถึงได้ดีขึ้น การกล่าวแก้เพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่นจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง

เมื่อเรารู้หลักการพูดทั้งหมดที่กล่าวมา เราสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆได้
ข้อมูล : ตะวัน โรจน์ระวี. (2516). จิตวิทยาการพูดผูกใจคน. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร