อารมณ์แห่ง “สี”

28 February 2017
Posted by sukanya

หลายครั้งได้เห็นคนใกล้ชิดนั่งผสมสีน้ำลงในจานสี ซึ่งใช้แม่สีเพียง 3 สี คือ สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน ผสมออกมาได้สีหลายสิบสีลดหลั่นกันไป และเมื่อใดที่เผลอไผล ทำสีไหลมาปนกันหลาย ๆ สี ก็จะทำให้เกิดเป็น “สีเน่า” (ไม่ใช่สีบูด) โดยไม่ตั้งใจ
 
       
 
ผู้เขียนไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจในงานศิลปะมากนัก บางครั้งก็จำเป็นต้องเป็นผู้วิจารณ์งานของคนใกล้ชิด ซึ่งเป็นมุมมองว่ารูปนั้นสวยงามแค่ไหนในสายตาของคนที่ไม่ค่อยมีความรู้ในงานศิลปะมากนัก โดยอาจมองเห็นแตกต่างจากผู้ที่ศึกษามาทางด้านศิลปะโดยตรง
 
      
 

 
การมองภาพในงานศิลปะนั้น บางภาพจะมีสีสันที่มองแล้วสบายตา อยากมองนาน ๆ บางภาพจะใช้สีที่มองแล้วดูอึดอัด ดุดัน น่าเกลงขาม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วธรรมชาติรอบตัวเราจะเต็มไปด้วยสีสัน ที่สัมผัสได้ด้วยตา สามารถบ่งบอกถึงอารมณ์เป็นพลังงานให้กับสิ่งมีชีวิตและบรรยากาศแวดล้อม ช่วยให้เกิดความรู้สึกหรืออารมณ์สดใส ร่าเริง หรือเศร้าหมองก็ได้ ในทางจิตวิทยาจึงมักใช้สีเพื่อสื่อความรู้สึกและความหมายต่าง ๆ ได้แก่ (สมภพ จงจิตต์โพธา 2556 : 38)
 
สีแดง… ให้ความรู้สึกเร่าร้อน รุนแรง อันตราย ตื่นเต้น
 
สีเหลือง… ให้ความรู้สึกสว่าง อบอุ่น แจ่มแจ้ง ร่าเริง ศรัทธา มั่นคง
 
สีเขียว… ให้ความรู้สึกสดใส สดชื่น เย็น ปลอดภัย สบายตา มุ่งหวัง
 
สีฟ้า… ให้ความรู้สึกปลอดโปร่ง แจ่มใส กว้าง ปราดเปรื่อง
 
สีม่วง… ให้ความรู้สึกเศร้า หม่นหมอง ลึกลับ
 
สีดำ… ให้ความรู้สึกมืดมิด เศร้า น่ากลัว หนักแน่น
 
สีขาว… ให้ความรู้สึกบริสุทธิ์ ผุดผ่อง ว่างเปล่า จืดชืด
 
สีส้ม… ให้ความรู้สึกสดใส ร้อนแรง เจิดจ้า มีพลัง อำนาจ
 
สีเทา… ให้ความรู้สึกเศร้า เงียบขรึม สงบ แก่ชรา
 
สีน้ำเงิน… ให้ความรู้สึกเงียบขรึม สงบสุข จริงจัง มีสมาธิ
 
สีน้ำตาล… ให้ความรู้สึกแห้งแล้ง ไม่สดชื่น น่าเบื่อ
 
สีชมพู… ให้ความรู้สึกอ่อนหวาน เป็นผู้หญิง ประณีต ร่าเริง
 
นอกจากสีที่ให้ความรู้สึกดังกล่าวแล้ว ในการนำสีต่าง ๆ มาใช้ร่วมกัน ยังต้องคำนึงถึงเรื่องอื่น ๆ อีก เช่น สีประเภทวรรณะร้อน สีประเภทวรรณะเย็น สีกลมกลืน สีตรงข้าม ความจัดความเข้มของสี ความสว่างไสวของสี เป็นต้น เพื่อสื่ออารมณ์ สื่อความหมายออกมา ให้ผู้พบเห็นมีอารมณ์ร่วมตามที่ผู้ใช้สีหรือผู้นำเสนอต้องการแสดงออก  โดยไม่ต้องมีการบรรยายให้เห็นภาพเป็นตัวอักษร
บางครั้ง…เราใช้สีวรรณะร้อนในการสื่อความหมาย เช่น สีเหลือง สีส้ม สีแดง สีม่วง  เพื่อให้เกิดความรู้สึกร้อนหรืออบอุ่น หรือใช้สีวรรณะเย็น เช่น สีเหลือง สีเขียว สีน้ำเงิน สีม่วง เพื่อให้เกิดความรู้สึกเยือกเย็น สงบ เรียบ
บางครั้ง…เราใช้สีกลมกลืน สีใกล้เคียงกัน สีตรงข้าม สีตัดกัน  เพื่อให้การกลมกลืนหรือโดดเด่น
บางครั้ง…เราใช้ความเข้ม ความอ่อน ความสว่างของสีเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เพื่อไม่ให้เห็นความแตกต่างมากนัก
 
      

 
เราสามารถนำเรื่องของสีมาใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแต่งกาย สิ่งของเครื่องใช้ ที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน และสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน เพื่อให้ชีวิตของเราไม่น่าเบื่อ จำเจ หดหู่ น่าเบื่อ หรือเศร้าหมองจนเกินไป
 

บรรณานุกรม

 
ทวีเดช  จิ๋วบาง.  (2547).  เรียรู้ทฤษฏีสี.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
สมภพ  จงจิตต์โพธา.  (2556).  ทฤษฏีสี.  กรุงเทพฯ : วาดศิลป์.

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร