อย่าละเมอ จนละเมิด

เมื่อไม่นานนี้ ห้องสมุดได้จัดโครงการบริการชุมชนฯ ด้วยการเชิญวิทยากรมาพูดเรื่องเกี่ยวกับการทำงานผลงานทางวิชาการโดยไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ คนที่มีโอกาสเข้าฟังบอกว่าชอบมาก เพราะเข้าใจง่ายและทุกคำถามมีคำตอบ ขอบคุณโลกของอินเทอร์เน็ตที่ทำให้รู้จักวิทยากร และขอบคุณโลกของหนังสือที่ทำให้เรามีโอกาสได้อ่านผลงานของท่าน และเสียดายต้องเดินทางไปราชการจึงไม่มีโอกาสได้ฟัง แต่น้องปูผู้ไปราชการงานเดียวกับดิฉัน ได้สร้างโอกาสให้ตัวเองด้วยการขอยืมวิดิโอที่ได้บันทึกไว้ โดยใช้ชั่วโมงการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง ดิฉันทราบก็รู้สึกดีใจกับน้องที่รู้จักสร้างโอกาส ถือเป็นโมเดลดีๆ ที่น่าประพฤติตาม
 
ผลงานทางวิชาการ ไม่ได้ตีความเท่ากับตัวอักษร เพราะเวลาพูดแล้วมีความหมายกว้างไกลไปถึงอะไรๆ ที่มีคนนึงสร้าง เขียน สร้างสรรค์ คิดออกมาแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นวรรณกรรมและวรรณศิลป์
 
วรรณกรรมและวรรณศิลป์ ตีความหมายง่ายๆแบบดิฉันคืออะไรที่เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นตัวหนังสือ เช่น บทความ วิทยานิพนธ์ รายงาน บล๊อก กระทู้ สเตตัส ส่วนงานออกแบบ ก็น่าจะเป็นพวกตัวการ์ตูน ตัวอักษร อินโฟกราฟิก โลโก้ อะไรๆ ที่ต้องออกแบบ ภาพถ่าย ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดจากสมองของคนๆนั้น
 
การนำของคนอื่นมาเป็นของเราถือว่า “ละเมิด” ละเมิดเป็นภาษาที่ฟังดูยาก คำว่า “ขโมย” เป็นภาษาที่เข้าใจมากกว่า แถมยังผิดศีลขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่นับถือศาสนาพุทธ
 
การ “ละเมิด” อาจเกิดจากการไม่เจตนาหรือไม่รู้เท่าถึงการณ์ เพราะมีเหตุผลของเหตุการณ์นั้นๆ อยู่ที่เราอธิบายความบอกเหตุผลได้หรือไม่ ถ้าเราบอกไม่ได้สิ่งที่เรากำลังอธิบาย เท่ากับ “คำแก้ตัว”
 
ปัญหาพวกนี้เป็นเรื่องระดับโลก จนต้องมีการคิดซอฟแวร์เข้ามาช่วยดูแลพฤติกรรมมนุษย์ ด้วยการให้ช่วยตรวจสอบข้อมูลอยู่เดิม กับผู้มูลที่มีคนบอกว่าเป็น “ผู้เขียน” “ผู้สร้าง” ที่ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ
 
หากย้อนกลับมามองถึงสาเหตุของการละเมิด ดิฉันขอใส่ร้ายไปที่อินเทอร์เน็ต ที่ทำให้คนเราสะดวก สบาย เร็ว และง่าย เพราะทำตัวเหมือนคน “ละเมอ” พอค้นเจอปั้บ copy ปุ๊บ แล้วปะ
 
การ “ละเมอ” ทำให้ไม่สามารถที่จะครองสติตัวเองให้ตรวจทาน ตรวจสอบ หรือกระทั่งอ่านตั้งแต่คำแรกจนถึงคำสุดท้าย และ “กล้า” ที่จะเขียน แล้วพะยี่ห้อเป็น “ชื่อและนามสกุล” ของตน
 
ขนาดตัวเราเอง หากนำผลงานของตัวเองมายังต้องอ้างอิง โดยส่วนตัวแล้วดิฉันคิดว่าตัวเองประสบปัญหานี้ เพราะเหตุที่เขียนบ่อยๆ จึงชินกับคำบางคำ หรือบางประโยคได้เขียนไปแล้ว จึงพยายามต้องคิดเรื่องใหม่จะได้ไม่ซ้ำรอยเดิม
 
“ลิขสิทธิ์” มักเป็นประเด็นในการประชุม อบรม และสัมมนาของวงการห้องสมุด ทุกคนในห้องสมุดต่างต้องผ่านหูและทราบว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญทั้งในฐานะของหน่วยงานที่มีส่วนในการดูและ ทั้งในฐานะผู้สร้างเนื้อหา และทั้งความเป็นปุถุชนคนหนึ่ง
 
ดิฉันจะสะดุ้งเฮือกทุกครั้งหากมีใครสักคนยกกรณีตัวอย่าง และต่อมาอาจมีความสุภาพขึ้นด้วยการบอกว่ามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง พร้อมกับโยนสไลด์ลงหน้าจอตู๊มมม ที่บอกครบทั้งชื่อเรื่อง สถาบันและเจ้าของ
 
และขวั่บ พร้อมกับเสียงหัวเราะและยิ้มอ่อนๆ ส่งมาให้ เมื่อรู้ว่าเราทำงานที่ไหน   🙁
 
ทำไม?
 
หลายปีก่อนดิฉันมีโอกาสได้สอนวิชาหนึ่งที่ให้นักศึกษาต้องทำรายงาน พบว่าสามารถทำเสร็จโดยใช้เวลาแค่คืนเดียว เป็นคืนวันที่แสนจะง่ายดายด้วยการ ค้น คัดลอก และปะ ผลคือ ตัวอักษรไปคนละทิศคนละทาง ย่อหน้า กั้นหน้ากั้นหลังลืมไปได้เลย สะกดผิดถูก ฯลฯ บางรายทำได้ดูเหมือนสวย เรียบร้อย แต่ประสบการณ์ของครู หรือผู้ที่อ่านมากกว่าจะรับรู้โดยทันทีว่าเป็นของคนนั้นหรือไม่
 
เมื่อพบแบบนั้นบ่อยๆ ความพยายามที่จะสอนหรือบอก จะหายไปๆ พร้อมกับกองรายงานประเภทควรเผาทิ้งสูงขึ้น ดิฉันถามนักศึกษาว่าทำไปทำไม ร้อยทั้งร้อยไม่มีคำตอบ มีแต่คำแก้ตัวว่า “ทำไม่ทัน”
 
ดิฉันถามต่อว่า ทำแบบนี้ “ง่าย” ใช่ไหม คำตอบคือ “ใช่” ดิฉันบอกต่อว่า ในภาษาไทยมีคำว่า “ง่าย” และ “มักง่าย” ให้พิจารณาตนเองว่าเป็นแบบไหนให้สมกับคำว่าเป็น “นักศึกษา” ไม่ใช่ “นักเรียน”
 
เด็กๆ บอกว่าดิฉันดุแล้วรุนแรง ดิฉันบอกว่าความดุและความรุนแรงนั้น level มักขึ้นกับพฤติกรรมของคนที่ต้องดูแล เช่น พ่อแม่-ลูก หัวหน้า-ลูกน้อง ครู-ลูกศิษย์ เพื่อน-เพื่อน
 
แต่ด้วยความเป็นครู ดิฉันแก้ปัญหาด้วยการให้ “เขียน” ด้วยลายมือแทนที่การพิมพ์  แต่แก้ปัญหาได้เพียงผิวเผิน เพราะนักศึกษาบางคนยังพิมพ์ต้นฉบับออกมาแล้วลอก ไม่คิดแม้จะอ่านหรือคิด จนสติปัญญาจึงกระเจิดกระเจิงหมุนคว้างไปตามเสียงพูดคุยรอบๆตัว
 
แก้ไขอย่างไร?
 
หากเป็นนักศึกษา เชื่อมั่นว่าครูบาอาจารย์ได้เพียรพยายามสั่งสอนและแก้ปัญหาในวิชานั้นๆ ความรู้และสิ่งดีๆที่ควรประพฤติปฏิบัติจะติดแล้วฝังอยู่ในจิตสำนึกหรือไม่นั้น ครูอาจารย์คงรับประกันไม่ได้ ผลพวงของสิ่งเหล่านี้จะส่งต่อไปยังบัณฑิต และไม่นานบัณฑิตจะกลายเป็นบุคลากร เป็นกำลังของชาติต่อไป
 
และนั่นคือความสัมพันธ์ในความเป็นครูและลูกศิษย์ ปัจจุบันวิชานั้นไม่มีการเรียนการสอนแล้ว ด้วยความโล่งอกของคนสอนเท่าๆกับความกังวลที่เรื่องแบบนี้จะไปอยู่ในวิชาไหนแบบเต็มๆ
 
ปัจจุบันอดคิดไม่ได้ว่า จะเป็นอย่างไรหนอหากทุกอย่างมีของทำเทียมเลียนแบบ เซินเจิ้น แม่สาย โรงเกลือ หาดใหญ่
 
องค์ประกอบของชั้นเรียน กับที่ทำงานมีความเหมือน คล้ายและแตกต่าง มีมิติ มีมุมที่เปิดเผย ปกปิดและทับซ้อนกัน
 
คำพูดที่เหมือนฉายหนังเก่าวนๆ คือ ทุกอย่างต้องเริ่มต้นที่ตัวเอง
 
สัปดาห์ก่อนได้ดูรายการ เดอะซีเคร็ตความลับของชีวิต ที่พิธีกร (วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล) กับแขกรับเชิญ (พันตรีสมพงษ์ สุขสงวน) เจ้าของกานต์แอร์ ที่คุยกันเรื่องเวลา และ ความเชื่อมั่นว่าตนเองทำได้ ลองดูกันค่ะ  https://www.youtube.com/watch?v=7lCYoqkIvMQ
 
ความเป็นมาของเรื่องนี้คือไม่นานนี้ดิฉันสะดุ้งเฮือกอีกครั้งกับปลายเสียงที่ไม่คุ้นเคยบอกเล่าถามไถ่ถึงเรื่องความเหมือนเป๊ะ และความเห็นเรื่องลิขสิทธิ์ และมีหน้าที่ต้องตอบปลายสายไปอย่างระมัดระวังที่สุด  👿
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร