การอ่านจับใจความ

7 February 2017
Posted by Kasorn Sansuwan

จากการทำงานดรรชนีวารสาร เราต้องอ่านบทความจากวารสารแล้วสรุปสาระสำคัญให้ได้ว่าบทความนั้น ๆ มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องอะไร แล้วจึงให้หัวเรื่องที่ตรงกับเนื้อหามากที่สุด ดิฉันจึงคิดพัฒนาตัวเองว่าจะมีวิธีการอย่างไรที่สามารถอ่านบทความจากวารสารแล้ว จับใจความสำคัญ สรุปสาระสำคัญของเรื่องที่อ่านให้ถูกต้องตรงเนื้อหาและรวดเร็วขึ้น จึงได้หานังสือเกี่ยวกับการอ่านจับใจความมาอ่านศึกษาเพิ่มเติม
 การอ่านจับใจความ เป็นการสรุปความจากเรื่องที่เราอ่านค้นหาสาระสำคัญของเรื่อง จับใจความสำคัญให้ได้ว่าในเรื่องนั้นมีใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำอย่างไร และการกระทำนั้นเกิดผลอะไรขึ้นบ้าง  ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นใจความสำคัญ และส่วนที่ขยายใจความสำคัญ  หรือส่วนประกอบ เพื่อให้เรื่องชัดเจนยิ่งขึ้น จากการอ่านจับใจความบทความ มีสาระสำคัญดังนี้
1. บทความ (Article) งานเขียนที่มุ่งเสนอความคิดเห็น หรือความรู้ในเรื่องที่คนกำลังสนใจกันอยู่  บทความโดยทั่วไปจึงมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทันสมัยขนาดสั้น ๆ เป็นการเขียนที่มุ่งแสดงเหตุผลเพื่อโน้มน้าวให้ผู้อ่านเชื่อถือและคล้อยตาม
2. บทความ เป็นงานเขียนที่ได้รับความสนใจมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะในหนังสือพิมพ์ และนิตยสารต่าง ๆ เพราะสามารถตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของคนเราได้มากกว่ารายงานข่าวธรรมดา ข่าวต้องรายงานเฉพาะข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนลงไปได้ แต่บทความเปิดโอกาสให้ผู้เขียนแสดงความคิดเห็นส่วนตัวได้โดยอิสระ
3. บทความโดยทั่วไปแบ่งได้  3 ประเภทดังนี้
– บทความบรรยาย เป็นบทความที่ผู้เขียนมุ่งเสนอความรู้ซึ่งอยู่ในความสนใจของคนทั่วไปตามทรรศนะของตนเองโดยมีแง่มุมที่ทันสมัยและมีการอ้างอิงข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เป็นบทความวิชาการมีเผยแพร่ในวารสาร นิตยสาร และหนังสือพิมพ์
– บทความวิเคราะห์ เป็นบทความที่ผู้เขียนมุ่งเสนอความคิดเห็นกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน และเป็นกลางโดยข้อมูลข้อเท็จจริงและเหตุผลมีทั้งมุมผลดี ผลเสียนำมาเสนอให้ผู้อ่านพิจารณาและสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง
– บทความวิจารณ์ เป็นบทความที่ผู้เขียนมุ่งเสนอความคิดเห็นเพื่อโน้มน้าวจูงใจให้ผู้อ่านเชื่อถือคล้อยตาม เป็นบทความที่นิยมเขียนกันมากที่สุดแบ่งออกได้ 2 ลักษณะคือ บทความเชิงวิจารณ์เชิงโต้แย้ง เป็นการแสดงความคิดเห็นขัดแย้งหรือไม่เห็นด้วยกับการกระทำหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยพยายามหาเหตุผลมาอ้างให้ผู้อ่านคล้อยตามจะพบบทความประเภทนี้จากหนังสือพิมพ์ และบทความวิจารณ์เชิงสนับสนุน เป็นการแสดงความคิดเห็นคล้อยตามหรือสนับสนุนการกระทำที่เกิดขึ้น แล้วหาเหตุผลมาจูงใจให้ผู้อ่านเห็นว่าสิ่งนั้นถูกต้องดีงามควรสนับสนุน
– การอ่านจับใจความงานเขียนประเภทบทความอย่างมีประสิทธิภาพ อ่านแล้วค้นหาความคิดสำคัญให้ได้ บทความแต่ละเรื่องจะมีแนวคิดซึ่งเป็นใจความสำคัญที่สุดของเรื่องเพียงอย่างเดียว ส่วนการอ้างเหตุผลอื่นเป็นเพียงส่วนประกอบ ผู้เขียนนิยมเปิดเผยใจความสำคัญของเรื่องไว้ 2 ลักษณะ คือ การบอกใจความสำคัญตอนท้ายเป็นแบบที่นิยมมากที่สุด สามารถเร้าใจให้ผู้อ่านติดตามเรื่องได้ดี และการบอกใจความสำคัญตอนต้น คือบอกแนวคิดสำคัญที่สุด หรือแก่นของเรื่องให้ผู้อ่านรู้ตั้งแต่ต้นเรื่อง บทความลักษณะนี้มีน้อยกว่าการบอกใจความสำคัญไว้ตอนท้าย
5. การอ่านจับใจความงานเขียนประเภทบทความให้ได้ถูกต้องและรวดเร็วมีข้อสังเกตดังนี้
– ใจความสำคัญของบทความที่สามารถค้นหาได้เร็วที่สุดเป็นอันดับแรกคือ ชื่อเรื่องเพราะบทความโดยทั่วไปมีเหตุผลตรงไปตรงมา ชื่อเรื่องจึงไม่ซับซ้อน
– บทความเรื่องหนึ่งถ้ามีหลายย่อหน้าในแต่ละย่อหน้าจะมีใจความสำคัญอย่างหนึ่ง เมื่อนำใจความสำคัญแต่ละย่อหน้ามาพิจารณาร่วมกันจะทำให้มองเห็นใจความสำคัญที่สุดของเรื่องได้ง่ายขึ้น
– งานเขียนประเภทบทความ มักเกี่ยวข้องกับข่าวและสถานการณ์ที่ทันสมัยอยู่ในความสนใจของประชาชน การพิจารณาความหมาย และใจความสำคัญของบทความให้ถูกต้องชัดเจน และรวดเร็ว จึงควรมีประสบการณ์เกี่ยวกับข่าวของเหตุการณ์ในเรื่องนั้นด้วย
– บทความบางเรื่องผู้เขียนไม่ได้เสนอสาระสำคัญอย่างตรงไปตรงมาจึงควรสังเกตหางเสียง หรือน้ำเสียงของผู้เขียน เพื่อสรุปให้ได้ว่าผู้เขียนต้องการเสนอแก่นเรื่องที่แท้จริงอย่างไร หรือในบางเรื่องมีการเลือกขนาดตัวพิมพ์เพื่อเน้นจุดสำคัญเป็นพิเศษ

แววมยุรา เหมือนนิล. (2541.) พิมพ์ครั้งที่ 2. การอ่านจับใจความ. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก

 
 
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร