สมเด็จพระสังฆราชและสมเด็จพระราชาคณะรูปแรก ในรัชกาลที่ 10

ประเทศไทยของเรามีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติและเป็นหนึ่งในสามสถาบันหลักสำคัญของชาติไทยเรา พระสงฆ์ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญในพระพุทธศาสนา เป็นผู้สืบทอดพระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นศาสดาสูงสุดแห่งศาสนาพุทธ ในประเทศไทยมีวัดวาอารามมากมายและมีพระสงฆ์นับแสนๆรูป เมื่อมีพระสงฆ์มากมายก็ต้องมีการปกครองและดูแลเป็นธรรมดา และผู้ปกครองสูงสุดในสถาบันสงฆ์ของไทยเราที่มีมาแต่โบราณกาลก็คือตำแหน่ง “สมเด็จพระสังฆราช” ซึ่งถือเป็นสมณศักดิ์สูงสุดของพระสงฆ์ไทย ที่พระมหากษัตริย์จะเป็นผู้สถาปนาขึ้นมา ส่วนสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ที่รองลงมาจากสมเด็จพระสังฆราช คือ สมเด็จพระราชาคณะ ซึ่งมีทั้งหมด 8 รูป เป็นฝ่ายมหานิกาย 4 รูปและฝ่ายธรรมยุต 4 รูป เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ และสมณศักดิ์ชั้นรองลงมาจากสมเด็จพระราชาคณะคือ พระราชาคณะ ชั้นหิรัญบัฏ
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจัาอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 นั้น มีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช รวมทั้งหมด 6 พระองค์ด้วยกัน (เป็นลำดับที่ 14-19 ของสมเด็จพระสัฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์) คือ
1. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ ป.ธ.9 – สกุลเดิม > เกตุทัต) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร สถาปนาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2505 – พระชันษา 73 ปี  (ทรงดำรงตำแหน่ง 2 ปี 1 เดือน 18 วัน)
2. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย ป.ธ.9 – สกุลเดิม > ไม่ปรากฎ) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร สถาปนาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2508 – พระชันษา 90 ปี  (ทรงดำรงตำแหน่ง 2 ปี 11 วัน)
3. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี ป.ธ.9 – สกุลเดิม > ศิริสม) วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร สถาปนาเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2514 – พระชันษา 74 ปี  (ทรงดำรงตำแหน่ง 6 ปี 22 วัน)  >พระองค์ถือกำเนิดที่ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
4. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ ป.ธ.4 – สกุลเดิม > สุขเจริญ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร สถาปนาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2516 – พระชันษา 77 ปี  (ทรงดำรงตำแหน่ง 1 ปี 4 เดือน 17 วัน)  >พระองค์ถือกำเนิดที่ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
5. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน ป.ธ.4 – สกุลเดิม > นิลประภา) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร สถาปนาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2517 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2531 – พระชันษา 91 ปี  (ทรงดำรงตำแหน่ง 14 ปี 2 เดือน 5 วัน)
6. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน ป.ธ.9 – สกุลเดิม > คชวัตร) วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร สถาปนาเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2532 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556 – พระชันษา 100 ปี  (ทรงดำรงตำแหน่ง 24 ปี 6 เดือน 3 วัน)  >พระองค์ถือกำเนิดที่ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
ส่วนสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ปัจจุบันเป็น พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรก ในรัชสมัยของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10  คือ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร ป.ธ.9 – สกุลเดิม > ประสัตถพงศ์) วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร สถาปนาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560  – ปัจจุบันพระชันษา 90 ปี  >พระองค์ถือกำเนิดที่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
นอกจากนี้ ยังเกิดปรากฏารณ์สำคัญในแวดวงพระเถรานุเถระเมื่อ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) แห่งวัดญาณเวศกวัน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม  ได้รับพระราชทานสถาปนาเลื่อนและตั้งสมณศักดิ์เนื่องในวาระวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา โดยท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์จากเดิมที่เป็น พระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏ เป็น สมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ มีพระราชทินนามว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) นับเป็นสมเด็จพระราชาคณะรูปสุดท้ายในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 และเป็นสมเด็จพระราชาคณะรูปแรกในรัชสมัยรัชกาลที่ 10 แล้วยังเป็นสมเด็จพระราชาคณะรูปแรกที่เป็นพระสงฆ์จากวัดธรรมดาสามัญในต่างจังหวัด ที่มิได้สังกัดหรือจำพรรษาอยู่ในวัดสำคัญๆและมีชื่อเสียงในกรุงเทพมหานครแต่ประการใด เพราะเท่าที่ผ่านมานั้นการสถาปนา สมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ซึ่งมีเพียง 8 รูปนั้น จะเป็นพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่ที่จำพรรษาอยู่ในวัดสำคัญๆในกรุงเทพฯทั้งสิ้น จึงเป็นนิมิตรหมายอันดีและมีความเหมาะสมอย่างยิ่งในฐานะที่ท่านเป็นพระนักปราชญ์แห่งวงการพุทธศาสนาของไทยมาช้านาน มีผลงานการเขียนหนังสือมากมาย โดยเฉพาะหนังสือ “พุทธธรรม” ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพชรน้ำเอก ของวงการพุทธศาสนา ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก นอกจากนั้นท่านยังเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากองค์การยูเนสโก เมื่อปีพ.ศ. 2537 ท่านมีวัตรปฏิบัติเรียบง่ายจึงได้รับการกราบเคารพยกย่องท่านอย่างสนิทใจตลอดมา
จะขอกล่าวถึงภูมิหลังของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) สักเล็กน้อยค่ะ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2481 ที่ตลาดศรีประจันต์ริมน้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน) อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี สกุลเดิมคือ อารยางกูร บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ เมื่อปีพ.ศ. 2494 ต่อมาได้เข้ามาจำพรรษาอยูที่วัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพฯ ท่านสอบได้นักธรรมเอกและเปรียญธรรม 9 ประโยค ขณะเป็นสามเณร (นับเป็นสามเณรรูปที่ 2 ในสมัยรัชกาลที่ 9 และเป็นรูปที่ 4 ในสมัยรัตนโกสินทร์) ได้อุปสมบทโดยเป็นนาคหลวงในพระบรมราชานุเคราะห์ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช(ปลด กิตฺติโสภโณ)เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากนั้นท่านได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์ตามลำดับดังนี้ พระศรีสุทธิโมลี(ปี 2512) > พระราชวรมุนี(ปี 2516) > พระเทพเวที(ปี2530) > พระธรรมปิฎก(ปี 2536) > พระพรหมคุณาภรณ์(ปี 2547) > สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ปี 2559) – ปัจจุบันอายุ 79 ปี และเป็นเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม นอกจากนี้จังหวัดนครปฐมของเรายังมีพระเถรานุเถระเป็น พระราชาคณะ ชั้นหิรัญบัฏ อีก 1 รูปด้วยคือ ท่านพระพรหมเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร ได้รับสถาปนาสมณศักดิ์เมื่อปีพ.ศ. 2557  ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าในแถบจังหวัดภูมิภาคตะวันตกของเราทั้งแปดจังหวัดนั้นเป็นถิ่นกำเนิดของพระอริยสงฆ์และพระเถรานุเถระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะหลายรูปด้วยกัน ทั้งในจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และนครปฐม
ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ พระประวัติสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 19 พระองค์ เลขหมู่ BQ843พ45 2552 ;  จากเว็บข่าว manager online ; thaipost.net และเว็บวิกิพีเดีย

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร