อะไร…อะไร…ก็ 4.0
ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มักจะได้ยินได้ฟังเรื่องราวต่างๆ ที่มักมีคำว่า 4.0 พ่วงท้ายอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น Thailand 4.0, Industry 4.0, University 4.0 หรือ Library 4.0 แล้วเจ้า 4.0 นี้มันคืออะไร
เอาเข้าจริงๆ ตัวเองก็ยังไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกันว่า เจ้า 4.0 นี้มันเป็นอะไรกันแน่ แต่เมื่อช่วงกลางเดือนมกราคม ได้มีโอกาสไปร่วมงาน การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การดำเนินกิจกรรมบนระบบเครือข่ายสารสนเทศเพื่อการพัฒนาการศึกษา ครั้งที่ 34 (WUNCA)” ในหัวข้อ “เตรียมตัวห้องสมุดและบรรณารักษ์อย่างไรในยุคไทยแลนด์ 4.0” อาจารย์บุญเลิศ อรุณพิบูลย์ ท่านบอกว่า ห้องสมุดต้องจัดนิทรรศการให้คนรู้จักเรื่องของ Thailand 4.0
… เอาล่ะสิ… ถึงแม้บรรณารักษ์อาจจะหา Content เก่งไม่เป็นสองรองใคร แต่ถามว่าบรรณารักษ์เข้าใจเรื่องนี้ดีแค่ไหน เล่นเอาต้องรีบไปหาหนังสือมาอ่านอย่างตั้งใจกันเลยทีเดียว หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า “Digital Thailand แผนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม”
ดิจิทัลไทยแลนด์ (Digital Thailand) หรือจะ Thailand 4.0 อะไรก็แล้วแต่ หมายถึง ประเทศไทยที่สามารถสร้างสรรค์ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม ข้อมูล ทุนมนุษย์ และทรัพยากรอื่นใด เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ว่ากันง่ายๆ คงประมาณ การที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัล โดยมียุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 6 ยุทธศาสตร์คือ
ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึงเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล
ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
ยุทธศาสตร์ที่ 6 สร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
Thailand 4.0 หรือ ประเทศไทย 4.0 เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมดิจิทัลนำไปสู่ วิธีการคิดใหม่ กระบวนการเรียนรู้ใหม่ กระบวนการทำงานใหม่ โมเดลธุรกิจใหม่ วิถีชีวิตใหม่ เป็นเรื่องที่รวมหลากหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็น Smart industry + Smart city + Smart people หรือความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรม รวมถึงการให้ความสำคัญกับ Infrastructure
…แล้วห้องสมุดล่ะ ต้องปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงอะไร อย่างไรในยุค 4.0 ก็มีการพูดกันในเรื่องนี้อย่างมากมายแทบจะทุกๆ งานประชุม/สัมมนาทางวิชาการกันเลยทีเดียว ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า เมื่อก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัล เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในหลายๆ ด้าน งานหลายๆ อย่างในห้องสมุดจะหายไปเพราะเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นบริการยืม-คืน บริการตอบคำถาม การจัดอบรมการรู้สารสนเทศ งานวิเคราะห์หมวดหมู่ฯ เป็นต้น
ห้องสมุดต้องติดตามแนวโน้มทางเทคโนโลยี แล้วนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของตนเอง บรรณารักษ์ต้องเป็น Multitasking รวมถึงมีทักษะหลายๆ อย่างที่บรรณารักษ์ต้องรู้ เช่น Critical thinking, Creativity, People management, Service orientation เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้อยู่ในวงการห้องสมุดยังบอกอีกว่า บรรณารักษ์ต้องเข้าไปแสวงหาความรู้จาก MOOC (Massive Open Online Course) ซึ่งเป็นนวัตกรรมการศึกษาระบบเปิด (Open education) รูปแบบการนำเสนอการเรียนรู้หลักสูตรต่างๆ ทางออนไลน์ เพื่อให้เราได้เรียนรู้ด้วยตนเองในหลักสูตรหรือความรู้ต่างๆ ที่มีผู้มานำเสนอไว้
เราในฐานะบรรณารักษ์หรือบุคลากรของห้องสมุด อาจจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ในความเป็นจริงมันอยู่ใกล้เราแค่เอื้อม และคงจะส่งผลกระทบต่อเราในไม่ช้า คงถึงเวลาที่เราต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมของตนเอง ก่อนที่เราจะเป็นจุดอ่อนของห้องสมุดในอนาคต…
ว่าแต่ว่า เราต้องจัดนิทรรศการเรื่อง Thailand 4.0 มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน กันมั้ยอ่ะ… 😆
————————————————————
บรรณานุกรม
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร. (2559). Digital Thailand แผนพัฒนาดิจิตอล
เพื่อเศรษฐกิจและสังคม. สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2560 จาก http://www.mict.go.th/
assets/portals/1/files/590613_4Digital_Economy_Plan-Book.pdf
บุญเลิศ อรุณพิบูลย์ และเมฆินทร์ ลิขิตบุญฤทธิ์ (2560). เตรียมตัวห้องสมุดและบรรณารักษ์
อย่างไรในยุคไทยแลนด์ 4.0. เอกสารประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การดำเนิน
กิจกรรมบนระบบเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา ครั้งที่ 34. เชียงราย :
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง.
ยืน ภู่วรวรรณ. (2559). การจัดการศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21 : เวทีไทย เวทีโลก. เอกสาร
ประกอบการประชุมระดับชาติ การศึกษาสารสนเทศศาสตร์ในประเทศไทย ครั้งที่ 2 :
มาตรฐานเพื่อการรับรองวิชาชีพสารสนเทศในศตวรรษที่ 21. นครศรีธรรมราช : หลักสูตร
การจัดการสารสนเทศดิจิทัล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์.
รัตติมา จีนาพงษา. (2559). ทิศทางการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของ
ห้องสมุด. เอกสารประกอบการประชุมระดับชาติ การศึกษาสารสนเทศศาสตร์ในประเทศไทย
ครั้งที่ 2 : มาตรฐานเพื่อการรับรองวิชาชีพสารสนเทศในศตวรรษที่ 21. นครศรีธรรมราช :
หลักสูตรการจัดการสารสนเทศดิจิทัล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์.
รุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล. (2560). บทบาทของห้องสมุดและบรรณารักษ์ในการสนับสนุน
มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนนโยบายประเทศไทย 4.0. เอกสารประกอบการประชุมวิชาการ
ระดับชาติ PULINET ครั้งที่ 7. เชียงใหม่ : สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.