กฏแห่งกระจก

มีใครเคยรู้สึกหรือไม่ว่า เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในชีวิตเรา ไม่ว่าผลของเหตุการณ์นั้นจะผ่านไปจากความทรงจำของเราหรือยังก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความขุ่นเคือง (ไม่พูดถึงความรัก ความสุข เพราะสองอารมณ์นี้เราพร้อมที่จะระลึกถึง ยอมรับมันเสมอ) แต่ความโกรธ ความต้องการเอาคืน ที่อาจยังมีอยู่ในสำนึก แต่เมื่อมีใครมาบอกเราว่า ผลทั้งหลายที่เธอกำลังทุกข์อยู่นี้ มันมีเหตุมาจากตัวเธอเอง และเธอต้องแก้ไขที่ตัวเธอเอง เราจะ….เถียง..เถียงใช่มั๊ย? ว่าเรื่องเหล่านั้นมันมีเหตุมาจากคนอื่น (แล้วมันก็มักจะเป็นคนใกล้ตัวเรานั่นแหละ!)  
“กฎแห่งกระจก” เป็นเรื่องของเอโกะ แม่คนหนึ่ง ที่กำลังทุกข์ใจกับพฤติกรรมและปฏิกิริยาของลูกชายที่เรียนอยู่ชั้น ป. 5  ชื่อ ยูตะ ยูตะมีปัญหากับเพื่อน เข้ากับเพื่อนไม่ได้ ซึ่งเอโกะสังเกตอารมณ์และพฤติกรรมลูก แต่ลูกไม่เคยปริปากบอกเล่าความทุกข์ใจให้แม่ฟังเลย แต่กลับแสดงอารมณ์หงุดหงิดอยู่เสมอ  เมื่อเอโกะนำเรื่องไปปรึกษานักจิตวิทยา (ยางุจิ) กลับถูกวิเคราะห์ว่า เอโกะกำลังเกลียดชังคนใกล้ตัวอยู่สักคนเป็นแน่ ถึงส่งผลพฤติกรรมไปที่ลูก ตอนแรกเอโกะรู้สึกไม่เข้าใจว่า มันจะไปเกี่ยวกับยูตะได้อย่างไร แต่ก็ยินยอมที่จะเปิดเผย พูดคุยถึงความรู้สึก ความสัมพันธ์ในครอบครัว และเอโกะก็พบว่าตนเองไม่ค่อยพอใจสามี ที่ไม่ค่อยช่วยดูแลลูก และมีการศึกษาน้อย ยางุจิวิเคราะห์จิตใต้สำนึกของเอโกะ และกล่าวว่าต้องมีสาเหตุอื่นอีกที่ทำให้เอโกะไม่ยอมรับในตัวสามี และถามว่าเอโกะมีความสำนึกถึงบุญคุณของพ่อบางหรือไม่ เอโกะนึกและตอบว่า “ก็ต้องสำนึกซิคะ” (หน้า 15) ยางุจิก็ยังถามว่า ลึก ๆ แล้ว มีเรื่องที่คุณเคยคิดว่า ให้อภัยไม่ได้ บ้างไหม ทำให้เอโกะได้คิดย้อนกลับไปในวัยเด็ก และมีเรื่องที่เธอคิดว่า ให้อภัยพ่อไม่ได้จริง ๆ เธอสำนึกบุญคุณพ่อ แต่ไม่ได้รักพ่อ… ยางุจิจึงบอกให้เอโกะกลับไปเขียนระบายความรู้สึกในเรื่องที่ “ให้อภัยไม่ได้” ลงในกระดาษ ให้ระบายความคับแค้นใจ โดยไม่ต้องยั้ง
เอโกะทำตามที่ยางุจิแนะนำ เขียนไปก็ร้องไห้ไป นึกถึงความคับแค้นใจในเหตุการณ์ต่าง ๆ เขียนไปหลายแผ่นจนรู้สึกสบายใจขึ้นบ้าง ในกระดาษเต็มไปด้วยข้อความแห่งความโกรธแค้น …เป็นเรื่องของความขัดแย้งของเอโกะกับพ่อ ที่เอโกะรู้สึกไม่ต้องการให้อภัยเลย
เมื่อเอโกะกลับไปพบยางุจิ และบอกว่ายังไม่พร้อมที่จะให้อภัยพ่อ ยางุจิจึงบอกให้เอโกะเขียนเรื่อง “สิ่งที่ควรขอบคุณพ่อ” ในกระดาษอีก เมื่อเอโกะเขียนจบ ยางุจิบอกว่า สิ่งที่ทำนี้เป็นการกระทำภายนอกเท่านั้น ให้เอโกะโทรศัพท์ไปหาพ่อ แล้วพูด ขอบคุณและขอโทษ แต่ถ้าไม่อยากพูดก็ให้อ่านจากสิ่งที่เขียนอยู่ทั้งเรื่องที่ขอบคุณ และเรื่องที่อยากขอโทษ แล้ววางโทรศัพท์เลยก็ได้
เอโกะเริ่มต้นโดยคิดว่าแค่อ่าน ไม่ได้คิดอย่างนั้นจริง ๆ และจะแค่ลองดู แล้วเอโกะก็ทำตามที่ตั้งใจทั้ง ๆ ที่ไม่คิดว่าจะทำได้ แต่เพราะความรักยูตะ ต้องการจะพ้นจากความทุกข์เกี่ยวกับยูตะ เมื่อพ่อมารับโทรศัพท์ เอโกะก็พูด…ผลที่ได้รับคือ พ่อร้องไห้อย่างหนัก (บทสนทนาของเอโกะกับพ่อ…คิดว่าน่าจะทำให้คนที่กำลังมีปัญหาคล้าย ๆ กับเอโกะ อยากทำอย่างเอโกะได้เลย…ลองอ่านดู (หน้า 26-29) )  จากนั้น เอโกะก็ได้ปรับความเข้าใจกับพ่อและทำให้ทั้งตัวเอโกะเองและพ่อเป็นอิสระจากความทุกข์ที่ต่างคนต่างไม่เปิดใจให้กัน
ยางุจิ อธิบายว่า มีกฎที่เรียกว่า “กฎของสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น” เมื่อเข้าใจสิ่งหนึ่ง เราก็จะเข้าใจอีกสิ่งหนึ่งตามมา ที่จริงแล้วทุกปัญหาในชีวิตเกิดขึ้นเพื่อทำให้เราได้รู้ซึ้งถึงความสำคัญของบางสิ่ง หรือปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นต่างหาก ปัญหาที่เราแก้ไขด้วยตนเองไม่ได้จะไม่มีวันเกิดขึ้น เราแก้ไขได้ทุกปัญหา และถ้าพยายามอย่างเอาใจใส่ มองโลกแง่ดี เราก็จะนึกขอบคุณในภายหลังว่า ดีแล้วที่เกิดปัญหานั้นขึ้น เพราะนั่นทำให้ฉัน…
“ทั้งลูกชาย คุณพ่อและตัวคุณเองต่างมีความรู้สึกเชื่อมโยงกันอยู่ลึก ๆ” (หน้า 34)  ที่ยางุจิบอกเอโกะ ทำให้เอโกะเข้าใจปัญหาของเธอกับยูตะว่า  ที่เธอเป็นทุกข์กับยูตะอยู่นี้ก็เหมือนกับที่พ่อเคยเป็นทุกข์ สิ่งที่ยูตะทำก็เหมือนกับที่เธอเคยทำกับพ่อ รวมทั้งสามีก็ได้รับพฤติกรรมที่สะท้อนไปมาระหว่างยูตะกับเอโกะด้วย
อ่านไปได้ครึ่งเล่ม ผู้อ่านจะเริ่มเข้าใจชื่อเรื่อง “กฎแห่งกระจก” ว่าคืออย่างไร ยางุจิอธิบายพฤติกรรมที่สะท้อนไปมาระหว่างบุคคลที่เกี่ยวโยงกันได้อย่างชัดเจน ผู้ฟังหรือผู้ที่เป็นเจ้าของปัญหาแม้จะรู้สึกขัดแย้งอยู่เมื่อเริ่มต้น แต่ท้ายที่สุดก็ต้องยอมรับความจริง “กระจก” ไม่ได้หมายถึงตัวเอโกะแต่เพียงผู้เดียว แต่หมายถึงทุกคนที่เกี่ยวโยงกันอยู่ สุดแต่ว่า เราจะวางใครเป็นศูนย์กลางแห่งปัญหา ต่างสะท้อนพฤติกรรมกันไปมา
หนังสือเล่มนี้บอกว่าเป็น How to ที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่น เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น เพียงแต่เปลี่ยนชื่อและอาชีพของตัวละคร คงมีใครหลายคนที่อ่านแล้วอยากทำบ้าง แต่คงต้องใจกว้างพอที่จะยอมรับ ให้อภัย และยอมรับว่าปัญหาอาจอยู่ที่ตัวเรา เรื่องที่กำลังทุกข์อยู่ก็มีสาเหตุมาจากตัวเรา
โนงุจิ, โยชิโนริ.  (2551).  กฎแห่งกระจก : กฎมหัศจรรย์ที่ช่วยแก้ไขทุกปัญหาในชีวิตของคุณ.  พิมพ์ครั้งที่ 15.  แปลจาก A rule of a mirror. โดย ทิพย์วรรณ ยามาโมโตะ.  กรุงเทพฯ: อมรินทร์ how to.

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร