พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

คัดสรร และรวบรวมพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาท จากหนังสือที่ให้บริการในหอสมุดฯ
ขอน้อมนำกระแสพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาท ของพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ มาปฏิบัติ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานให้มีความสุข
“… ในการปฏิบัติราชการนั้น ขอให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่  อย่านึกถึงบำเหน็จรางวัลหรือผลประโยชน์ให้มาก ขอให้ถือว่าการทำหน้าที่ได้สมบูรณ์  เป็นรางวัลและประโยชน์อย่างประเสริฐ  จะทำให้บ้านเมืองไทยของเราอยู่เย็นเป็นสุขและมั่นคง…”
พระบรมราโชวาท  พระราชทานเนื่องในโอกาสวันข้าราชการพลเรือน  1 เมษายน 2533
———————————————————————————————————————————–
“… เมืองไทยของเรา ประกอบด้วยคนหลายจำพวก  หลายวัย หลายความคิด  หลายหน้าที่  ซึ่งทั้งหมดจะต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ว่าคนหนึ่งคนใดจะอยู่ได้โดยลำพัง…”
พระราชดำรัส  พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ  ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลเนื่องใน
โอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตาลัย สวนจิตรลดา  4 ธันวาคม 2517
————————————————————————————————————————————-
“… ในการประกอบการงานทั้งปวงนั้น  ทุกคนต้องมีความตั้งใจจริงและขยันหมั่นเพียร ต้องรู้จักคิดพิจารณาด้วยปัญญาและความรอบคอบยึดมั่นในความสามัคคีและความซื้อสัตย์สุจริต  ถือเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นจุดประสงค์สำคัญ  จึงจะสามารถปฏิบัติงานต่างๆ ให้สำเร็จผลโดยสมบูรณ์ได้…”
พระราชดำรัส ในพิธีพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรประจำจังหวัดน่าน  10  มีนาคม 2512
——————————————————————————————————————————-
“…การเขียนเรื่องใดๆ จะเป็นแนวใดก็ตาม จะเป็นคุณเป็นประโยชน์ได้และจะเป็นโทษได้ทั้งนั้น  แล้วแต่วิธีการที่เขียนที่ประพันธ์หรือที่เรียบเรียง  ถ้ามีความคิดที่ดีที่ชอบธรรมอยู่  แล้วเขียนลงไปด้วยความสามารถก็เป็นคุณได้…”
พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดรายการโดยเสด็จพระราชกุศล ณ
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน  10 มีนาคม  2513
——————————————————————————————————————————-
“… โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ ฉะนั้น ก่อนที่จะปักใจเชื่ออะไรลงไป  ควรพิจารณาดูเหตุผลให้ถ่องแท้เสียก่อน  แม้แต่  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ยังทรงแนะให้ใช้สติและปัญญา ศึกษาค้นคว้าและไตร่ตรองให้แน่ว่า  คำสั่งสอนนั้นเป็นความจริงที่เชื่อได้หรือไม่  ไม่ให้สักแต่ว่าเชื่อเพราะว่ามีผู้รู้บัญญัติไว้…”
พระราชดำรัส  ในพิธีถวายปริญญากิตติมศักดิ์ ของมหาวิทยาลัยวิลเลียมส์ ณ
วิลเลียมทาวน์  นครนิวยอร์ค  11 มิถุนายน 2510
——————————————————————————————————————————-
“… ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องข่มใจไม่กระทำสิ่งใดๆ  ที่เรารู้สึกด้วยใจจริงว่าชั่วว่าเสื่อม  เราต้องฝืนต้องต้านความคิดและความประพฤติทุกอย่างที่รู้สึกว่าขัดกับธรรมะ  เราต้องกล้าและบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เราทราบว่าเป็นความดี เป็นความถูกต้อง  และเป็นธรรม ถ้าเราร่วมกันทำเช่นนี้ให้ได้จริง ๆ ให้ผลของความดีบังเกิดมากขึ้น ๆ  ก็จะ ช่วยค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมลงไป   และจะช่วยให้ฟื้นดีขึ้นได้เป็นลำดับ…”
พระราชดำรัส พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่ว
ประเทศ ครั้งที่ ๑๒ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันเสาร์ที่ ๑๓  ธันวาคม ๒๕๑๓
————————————————————————————————————————————
“… คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา  จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย  ว่าเมืองไทย ไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่  แต่เราพออยุ่พอกิน  และขอให้ทุกคนมีความปราถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน  มีความสงบ  และทำงานตั้งจิตอธิษฐานปณิธานจุดมุ่งหมายในแง่นี้  ในทางนี้  ที่จะให้เมืองไทยอยู่พออยู่พอกินไม่ใช่รุ่งเรืองอย่างยอด  แต่ว่าการพออยู่พอกินมีความสงบนั้นถ้าจะเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้ารักษาความพออยู่พอกินนั้นได้  เราจะยอดยิ่งยวด  เพราะประเทศต่างๆ  ในโลกนี้กำลังตก  กำลังแย่  กำลังยุ่ง  เพราะจะแสวงหาความยิ่งยวดทั้งในอำนาจ ทั้งในความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ  ทางอุตสาหกรรม  ทางลัทธิ  ฉะนั้นถ้าทุกท่านซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีความคิดแต่ละท่าน แต่ละบุคคล  และมีความคิด  มีอิทธิพล  มีพลังที่จะทำให้ผู้อื่นซึ่งมีความคิดเหมือนกัน  ช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกินดีพอสมควร  ขอย้ำ  พอควร  พออยู่  พอกิน มีความสงบไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้จากเราไปได้  ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวรที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดกาลนาน…”
พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะผู้แทนสมาคม องค์การเกี่ยวกับศาสนา ครู นักเรียน
โรงเรียนต่างๆ   นักศึกษามหาวิทยาลัยในโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท  ถวายพระพร
ชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย
วันพุธ  ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๑๗
——————————————————————————————————————————–
“…จุดหมายโดยแท้ของศาสนาทั้งปวง  และโดยเฉพาะของพระพุทธศาสนา  มุ่งจะให้บุคคลศึกษาพิจารณาหลักการและแนวความคิดในศาสนธรรม แล้วน้อมนำมาเป็นที่ยึดเหนี่ยวและปฏิบัติด้วยตนตามความสามารถ  เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการครองชีวิต  คือให้เกิดความผาสุกร่มเย็นและความเจริญในแต่ละบุคคล  ในส่วนรวม และให้เกิดความบริสุทธิ์หลุดพ้นอ้นเป็นปรมัตถประโยชน์  ดังนั้น การบำรุงส่งเสริมพระศาสนาจึงควรจะได้กระทำให้ถูกเป้าหมาย…”
พระราชดำรัส สำหรับเชิญไปอ่านในการเปิดประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ ครั้งที่ ๑๔
ณ วัดอัมพวัน  อำเภอพรหมบุรี  จังหวัดสิงห์บุรี  วันเสาร์ ที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๑๔
————————————————————————————————————————————
“… การปฏิบัติงานทุกอย่างของข้าราชการ มีผลเกี่ยวเนื่องถึงประโยชน์ส่วนรวมของบ้านเมือง และประชาชนทุกคน ข้าราชการทุกฝ่ายทุกระดับจึงต้องทำความเข้าใจในความสำคัญข้อนี้ให้ถ่องแท้  แล้วเพียรพยายามปฏิบัติงานของตนด้วยความตั้งใจ  จริงใจ และด้วยความรับผิดชอบอย่างสูง  เพื่อให้งานที่ทำบังเกิดผลเป็นประโยชน์เป็นความเจริญมั่นคงแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือน เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน  ปีพุทธศักราช  2552
ณ  พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน  วันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช  2552


“…ถ้าเราคิดดี  ทำดี ไม่ใช่แต่ปากนะทำอย่างดีจริง ๆ  คือสร้างสมสิ่งที่ดีด้วยการปฏิบัติในสิ่งที่เรียกว่าดีหมายความว่าไม่เบียดเบียนผู้อื่น สร้างสรรค์ทำให้มีความเจริญ  ทั้งวัตถุทั้งจิตใจแล้ว ไม่ต้องกลัว  ไม่ต้องกลัวเพราะผู้ที่ทำในสิ่งที่บริสุทธิ์  แม้ถึงจะตายก็ตายดี…”
พระราชดำรัส พระราชทานแก่นักศึกษา พ่อค้า ประชาชน มูลนิธิ
องค์กรต่าง ๆ  ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล
เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา  วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๘
วันพฤหัสบดี  ที ๔  ธันวาคม  ๒๕๑๘
———————————————————————————————————————————————
“…หน้าที่แต่คนแต่ละคนก็มีและมีความสามารถแตกต่างกัน  จะต้องอาศัยผู้อื่นในสิ่งที่เราไม่แตกฉาน  เราไม่ชำนาญ  ฉะนั้น  แต่ละคนย่อมต้องอาศัยคนอื่น ถ้าแต่ละคนอาศัยคนอื่นได้ก็เป็นบุญของแต่คน เพื่อที่จะให้อาศัยได้ ก็ต้องเมตตาซึ่งกันและกัน  ถ้าเมตตาซึ่งกันและกันแล้ว สิ่งที่เราต้องการก็ได้มาแล้ว  คือความเอ็นดูของผู้อื่น  เราเมตตาเขา  เขาก็เมตตาเรา  ถ้าเมตตาแล้วก็ดูเหมือนว่ามันเป็นเรื่องที่กินไม่ได้  แต่ว่าความเมตตานี้ก็นำมาสู่ความเอื้อเฟื้อ  ความเอื้อเฟื้อทั้งในด้านความเป็นอยู่  ทั้งในความปลอดภัยของตน  ทั้งในความเจริญ  ความก้าวหน้า ความสุขที่เพิ่มขึ้นได้…”
พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง  ๆ ซึ่งเฝ้าฯ
ถวายพระพรชัยมงคล ณ ศาลาดุสิดาลัย  วันเสาร์  ที่ ๔  ธันวาคม ๒๕๑๙
—————————————————————————————————————————————– “… ความรู้ประโยชน์แท้จริงของสิ่งทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องปลูกฝังให้หยั่งลึกในตัวเด็ก เด็กจักได้เติบโตเป็นคนฉลาดเที่ยงตรง และสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ที่พึงประสงค์ ให้แก่ตนส่วนรวมได้แน่นอนมีประสิทธิภาพ…”
 
พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานเนื่องในวันเด็กแห่งชาติประจำปี ๒๕๓๒
—————————————————————————————————————————————-
“…คนทำงานดี คือคนมีระเบียบ ได้แก่ระเบียบในการคิดและในการทำ  ผู้ไม่ฝึกระเบียบ  ถึงจะมีวิชา  มีเรี่ยวแรง มีความกระตือรือร้นอยู่เพียงไร  ก็มักทำงานให้สำเร็จดีไม่ได้ เพราะความคิดอ่านสับสนว้าวุ่น  ทำอะไรก็ไม่ถูกลำดับขั้นตอน มีแต่ความลังเลและขัดแย้ง ทั้งในความคิด ทั้งในการปฏิบัติงาน  ข้าราชการจึงประคองส่งเสริมให้ทำตนทำงานให้ดีขึ้น  และประสบความเจริญ มั่นคงในราชการ”
พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือน เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน วันอาทิตย์ที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๗  พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๒๗
————————————————————————————————————————————————————-
สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่
๑.  ประมวลพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชวพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม  2542  (PL4209.5ภ7พ42)
๒. พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสคัดตัดตอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  (Call no. PL4209.5ภ7พ463)
๓. พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปี ๒๔๙๕-๒๕๕๒  (Call no. PL4209.5ภ7ก44)
 
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร