เล่าปี่…มีดีที่ใช้คน

%e0%b9%80%e0%b8%a5%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%9b%e0%b8%b5%e0%b9%88
หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงเล่าปี่ ซึ่งเป็นตัวละครเอกตัวหนึ่งของวรรณกรรมสามก๊ก ที่น่าศึกษาและน่าติดตาม เพราะเส้นทางเดินของเล่าปี่ไม่ธรรมดาแม้จะไม่ใช่บุคคลที่เก่งกล้าสามารถรอบด้านหากเปรียบเทียบกับโจโฉ และไม่ได้มีสติปัญญาล้ำเลิศแบบขงเบ้ง ไม่ใช่นักการทหารที่เก่งกาจเหมือนเหล่าขุนศึกอีกหลาย ๆ คน เช่น กวนอู เตียวหุย จูล่ง (น.8-9) แต่เขากลับได้เป็นผู้นำที่สง่างามอย่างไม่น่าเชื่อ  มีจุดเริ่มต้นแตกต่างจากบุคคลอื่น ๆ กล่าวคือมีเชื้อสายเจ้าแต่ไปทอเสื่อขาย หรือนั่นเป็นแค่การอำพรางตนเพื่อคิดการใหญ่ในแผ่นดิน
คนทั่วไปมักคิดว่าเล่าปี่อ่อนแอ แต่ความเป็นจริงไม่ใช่ เล่าปี่มีความสามารถในการใช้คนที่ถือเป็นกลยุทธ์สุดยอดที่ไม่มีใครเหมือนและเหมือนใคร เรื่องราวของเล่าปี่หากค้นคว้าให้ลึกซึ้งลงไปอาจจะพบได้ว่าตัวจริงของเล่าปี่นั้นยากจะสรุปได้ เขาเป็นบุคคลที่สร้างตัวมาจากสองมือเปล่าและได้ดีเพราะน้ำตา แต่กลับผงาดขึ้นมาเป็น 1 ใน 3 บุรุษผู้ทรงอำนาจที่สุดในยุคสามก๊กได้อย่างไม่น่าเชื่อ บุรุษเพียงผู้เดียวที่โจโฉยกย่องว่าคู่ควรแก่คำว่าบุรุษผู้กล้าคือเล่าปี่ (น.132-133)
หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็นตอน ๆ โดยรวบรวมเรื่องราวที่สำคัญแต่ละตอนให้ได้ศึกษาเพื่อจะได้รู่ว่าแต่ละสถานการณ์นั้น เล่าปี่คิดและทำอย่างไรในการใช้คน
“ผู้ไหว้คนทั้งสิบทิศ” คือฉายาและภาพลักษณ์ที่เด่นชัดด้านหนึ่ง ซึ่งยาขอบเป็นผู้มอบฉายานี้ให้
เล่าปี่มีวาทะและศิลปะในการซื้อใจคนมาร่วมงานได้อย่างแนบเนียน เช่น เมื่อเล่าปี่ตีเมืองเสฉวนได้ ขุนนางคนอื่น ๆ เข้ามาคำนับเล่าปี่ แต่อุยก๋วน เล่าป๋าไม่มาคำนับ เล่าปี่จึงแกล้งตะโกนว่า “อุยก๋วย เล่าป๋ามีความซื่อสัตย์ต่อนาย อย่าให้ทหารทั้งปวงทำอันตรายแม้แต่ด้ายเส้นหนึ่งเข็มเล่มหนึ่งเป็นอันขาด ใครไม่ฟังเราจะลงโทษถึงตาย” เมื่อสองคนได้ยินก็ซาบซึ้งในน้ำใจของเล่าปี่ที่ไม่เอาโทษทั้งยังจะฆ่าคนที่ทำอันตรายพวกตน ต่อมาจึงยอมออกมาคำนับและรับใช้เล่าปี่อย่างสุดความสามารถ (น.10-11)
“มีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ร่วมต้าน” แนวทางการอ่านคนของเล่าปี่มีหลายตอนที่แสดงความเหนือชั้นตั้งแต่คำสาบานที่สวนท้อ เล่าปี่สามารถอ่านคนอย่างกวนอูและเตียวหุยว่ามีธาตุแท้เรื่องคุณธรรมและความมุ่งมั่นทำงานเพื่อชาติ เหตุที่เล่าปี่สามารถอ่านคนได้ค่อนข้างชัดเจนเพราะเป็นพ่อค้าหาบเร่ในตลาดพบปะผู้คนมากมายทำให้เขาต้องเอาใจคน
“อ่อนน้อมและถ่อมตนคือคนฉลาด” แม้ว่าเล่าปี่จะล้มลุกคลุกคลานมาครึ่งชีวิตแต่สิ่งหนึ่งที่หล่อหลอมให้เขาเป็นจอมคนก็คือ “การอ่านคน” เมื่อเล่าปี่รู้ที่อยู่ของจูกัดเหลียงหรือขงเบ้งก็เดินทางไปหาด้วยตนเอง แม้จะถูกขงเบ้งทดสอบความจริงใจไม่ยอมให้พบถึงสองครั้ง และครั้งสุดท้ายแสร้งนอนหลับเพื่อให้เล่าปี่ยืนคอยจนเอาชนะใจขงเบ้งได้ และเล่าปี่ถือโอกาสอ่านภูมิปัญญาขงเบ้งด้วยการขอคำแนะนำว่า ราชวงศ์ฮั่นตกต่ำ กังฉินคนโฉดขึ้นครองเมือง เสียแต่ตัวข้านี้ต่ำต้อยความสามารถไม่มีปัญญาพอ ขาดแผนการทางยุทธศาสตร์ที่ดี จึงยังไม่ประสบความสำเร็จ ใคร่ขอให้ท่านได้กรุณาชี้แนะด้วย” น.18  ด้วยความสุภาพและเปี่ยมด้วยสัมมาคารวะของเล่าปี่ทำให้ขงเบ้งซาบซึ้งใจและเปิดเผยแผนการที่ตนเองวางเอาไว้ทั้งหมดให้เล่าปี่ฟังอย่างไม่ปิดบัง และวิเคราะห์ถึงขุมกำลังของโจโฉและซุนกวน โดยให้เล่าปี่ยึดครองแคว้นเกงจิ๋วกับแคว้นเอ๊กจิ่ว ด้วยแผนการเช่นนี้จึงทำให้แผ่นดินจีนแยกออกเป็นสามส่วน กลายเป็นสามก๊กนับว่าเล่าปี่เป็นนักตั้งคำถามที่เก่งมากเพื่อดูสติปัญญาหรือวิสัยทัศน์ของขงเบ้งได้อย่างยอดเยี่ยม
“ไม่เคยคิดทิ้งกันในยามยาก” เล่าปี่มั่นใจในตัวจูล่งให้ดูแลครอบครัวโดยที่เตียวหุยคิดว่าจูล่งทรยศไปเข้ากับศัตรูจึงคิดจะสังหารจูล่งแต่จูล่งได้พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ได้แปรพักตร์สามารถพาอาเต๊าลูกชายเล่าปี่มาคืนให้เล่าปี่ได้ เหตุที่จูล่งถูกมองว่าอาจคิดทรยศกับเล่าปี่เพราะก่อนหน้าที่จะมาอยู่กับเล่าปี่ จูล่งเปลี่ยนเจ้านายมาแล้วสองคน การที่จะเปลี่ยนไปหาโจโฉย่อมไม่แปลก นี่เป็นมุมมองคนธรรมดา แต่เล่าปี่ไม่มองเช่นนั้นเพราะจูล่งมาอยู่กับเล่าปี่ตอนที่ลำบากไม่มีแผ่นดินเป็นของตนเอง หากจูล่งเห็นแก่ลาภยศคงไปอยู่กับอ้วนเสี้ยวหรือโจโฉแล้ว แต่จูล่งกลับเลือกเล่าปี่เพราะเห็นถึงคุณธรรมและบางสิ่งบางอย่างในตัวเล่าปี่จึงมาอยู่ด้วยใจ
“จะใช้คน ให้ดูที่ใจเขา” อุยเอี๋ยนเป็นตัวละครในสามก๊กที่หลายคนตั้งข้อรังเกียจเพราะแต่งแต้มจนดูเป็นคนชั่วร้าย ด้วยสังหารเจ้านายเก่าของตนเพื่อมาขอสวามิภักดิ์เล่าปี่ ซึ่งขงเบ้งจะจับอุยเอี๋ยนไปประหาร แต่เล่าปี่มองเห็นความจริงใจจากขุนพลหนุ่มผู้นี้โดยไม่ใช้อคติในการตัดสินคน จนเล่าปี่เสียชีวิตอุยเอี๋ยนก็ได้ทำงานต่อกับขงเบ้งและได้มาเป็นแม่ทัพหน้าออกศึกอย่างห้าวหาญ (น.36-37)
“คุยกันได้ทุกเรื่อง” พระราชดำรัสสุดท้ายก่อนที่พระเจ้าเล่าปี่จะสวรรคตทรงกล่าวถึงม้าเจ๊กว่าไม่ควรมอบหมายงานสำคัญให้ทำ (น.39) แต่ขงเบ้งก็ตั้งม้าเจ๊กซึ่งเป็นคนที่ขงเบ้งสนิทสนมมากไปรักษาเกเต๋ง ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์หลักของกองทัพ แต่ด้วยความอวดดีของม้าเจ๊กทำให้พ่ายแพ้ สุดท้ายขงเบ้งต้องมาเสียใจที่ไม่ฟังคำเตือนของเล่าปี่
“ความซื่อสัตย์คือยอดคน” เมื่อครั้งกวนอูต้องมาอยู่กับโจโฉเพราะเล่าปี่กับเตียวหุยจำเป็นต้องทิ้งเมืองไป กวนอูแจ้งเงื่อนไขแก่โจโฉ 3 ข้อ หนึ่งในสามข้อนั้นคือหากรู้ว่าเล่าปี่อยู่ที่ใดใกล้หรือไกลจะกลับไปหาทันที แม้โจโฉจะได้ดูแลปรนเปรอกวนอูอย่างดีก็ไม่อาจเปลี่ยนใจกวนอูผู้ซื่อสัตย์ได้ (น.47)
“ศิลปะการใช้คน” นอกจาการอ่านคนและมัดใจคนของเล่าปี่แล้ว หากดูจากความสำเร็จจะพบว่าเล่าปี่ยิ่งใหญ่ได้จากการใช้คน โดยการตั้งคนดูฝีมือคน เช่น แต่งตั้งชีซีเป็นที่ปรึกษา, ให้ขงเบ้งเป็นทูตแห่งสงครามไปเจรจากับซุนกวนจนซุนกวนเข้าร่วมต่อต้านโจโฉกับเล่าปี่ด้วย (น.63), แม้เป็นคนนอกถ้ามีฝีมือก็ต้องใช้ คนนั้นคืออุยเอี๋ยน ที่หลังจาก 5 ทหารเสือของเล่าปี่ลาโลกไปแล้ว อุยเอี๋ยนได้เป็นแม่ทัพบุกตะลุยออกศึกกับขงเบ้งจนเป็นที่ครั่นคร้ามไปทั่ว คนที่เล่าปี่เลือกเขาคำนึงสองเรื่องหลักคือ ความสามารถ และความไว้ใจ เล่าปี่รู้ว่าเขาไม่ใช่คนเก่งแต่ถ้าต้องการความสำเร็จเขาจำเป็นต้องบริหารคนเก่งให้ได้และสามารถใช้คนเก่งเหล่านี้ให้ทำงานได้เสมือนแขนขาของตนเอง (น.67) โดยตัวเขาจะคอยควบคุมตรวจสอบอยู่ห่าง ๆ ใครสร้างผลงานเล่าปี่จะปูนบำเหน็จรางวัลและยกย่องให้เกียรติ ส่วนใครทำงานผิดพลาดเล่าปี่จะสอบสวนด้วยตัวเองและให้โอกาสกลับไปแก้ตัว เล่าปี่มีกุนซือเอกสองคนคือ ขงเบ้งและบังทอง บังทองเป็นมือซ้ายเล่าปี่ แต่บังทองเสียชีวิตเร็วมาก คนจึงจำได้แต่ขงเบ้ง, ชนะโดยไม่ต้องรบ ด้วยการใช้ม้าเฉียวซึ่งอาสาไปเจรจากับเล่าเจี้ยงให้มาสวามิภักดิ์กับเล่าปี่ (น.80) , โทษคนอื่นไม่จบต้องโทษตนเอง การประกาศโทษตนเองนับเป็นอุบายในการสร้างความเห็นใจเรียกคะแนนสงสารจากคนใกล้ชิด, ไม่ปิดบังแต่ซ่อนเร้น การกล่าวโทษตนเองเป็นเรื่องง่ายแต่ไม่มีผู้นำหรือใครที่กล้าจะออกมาประกาศความผิดของตนเองให้เป็นที่รับรู้นอกเสียจากจวนตัวจริง ๆ แต่ต้องรู้จักกาลเทศะ เพราะกฎทุกอย่างล้วนเว้นวรรคให้กับผู้นำทั้งสิ้น ที่สำคัญการกล่าวโทษตนเองยังมีวาระซ่อนเร้นอีกหลายเรื่องคือเป็นการป้องกันตนเอง เพราะคนส่วนใหญ่จะให้อภัยคนที่สำนึกผิด
นอกจากนี้ยังมีบางมุมของเล่าปี่ที่เราอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน หนังสือเล่มนี้จะกล่าวถึงประวัติเล่าปี่ละเอียดกว่าที่ได้เคยอ่านมา โดยกล่าวถึงตั้งแต่ปีเกิด ค.ศ.161 ไล่เรียงมาจนถึงปี ค.ศ.223 ที่พระเจ้าเล่าปี่สิ้นพระชนม์ รวมอายุ 63 ปี (น.92-132)
เมื่อเล่าปี่ใกล้ถึงแก่ชีวิต จึงเรียกขงเบ้งและเหล่าขุนนางและบุตรชายอีกสองคนมาเข้าเฝ้า และสั่งเสียงานบ้านเมืองโดยเรียกขงเบ้งมากระซิบใกล้ ๆ ว่าหากเห็นว่าเล่าเสี้ยนไม่อาจเป็นฮ่องเต้ที่ดีและเป็นคู่ต่อสู้กับโจผีหรือซุนกวนได้ก็ขอให้ขงเบ้งขึ้นแทนเสียเลย ขงเบ้งได้ยินดังนั้นถึงกับตกใจตัวสั่นเอาศีรษะโขกพื้นเต็มแรงและสาบานว่าจะขอรับใช้ตระกูลเล่าไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่
เกี่ยวกับคำพูดของเล่าปี่นี้เป็นที่ถกเถียงและวิจารณ์กันมาจนถึงตอนนี้ว่าเล่าปี่มีเจตนาเช่นไร ต้องการดักคอขงเบ้งเพื่อป้องกันราชบัลลังก์ของสายเลือดตระกูลเล่าหรือไม่ จึงกล่าวไว้เช่นนั้นทำให้ขงเบ้งต้องเอ่ยปากยอมสาบานตน (น.130-131)
รายละเอียดของหนังสือเล่มนี้ยังมีที่น่าสนใจอีกมาก ขอให้ลองหาอ่านดูนะคะ แล้วจะได้รู้จักตัวตนของเล่าปี่ในแง่การบริหารอีกมุมหนึ่ง
เลขเรียก HF5549 ล72

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร