อ่านหนังสือวันละเล่ม "คู่มือฟังสวดพระอภิธรรม"

เวลาไปฟังสวดพระอภิธรรมในงานศพ บางครั้งโชคดี ก็มักจะได้ฟังเทศน์ด้วย แต่ที่แน่ๆ   ต้องได้ฟังบทมาติกา ๒๒  ติกะ  มาไม่มากก็น้อย  แต่สิ่งที่ได้ยินเสมอๆ  คือ
“กุสลา ธมฺมา”
“อกุสลา ธมฺมา”
“อพฺยากตาธมฺมา”
แล้วเวลาที่พระท่านสวดพระอภิธรรมในงานศพ ของภาคกลาง และภาคใต้ก็ต่างกัน เพราะพิธีกรรม
ทำให้สงสัยว่า เวลาไปงานศพของผู้ที่เคารพ รัก และผู้ที่รู้จัก กับบิดา มารดา  หรือ พระอริยสงฆ์ มีบทสวดพระอภิธรรมที่ส่วนใหญ่เป็นภาษาพระบาลี  มากมาย แต่แปลไม่ได้เพราะไม่รู้ภาษาบาลี  จึงอยากรู้ว่า ความหมายของคำบาลีที่ท่านสวด แปลว่าอย่างไรบ้าง?
แล้วทำไม พระพุทธองค์จึงได้ยก  บทกุสลา  ธมฺมา  มากล่าวไว้ในบทแรก?  จึงคิดว่า ถ้าได้ฟังบทสวดทำนองใดในงานฟังสวดพระอภิธรรมศพ  จะไปดูคำแปลในหนังสือเพื่อจะได้เข้าใจ้ยิ่งขึ้น
ถ้าเราเข้าใจคำภาษาบาลี  ซึ่งฟังแล้ว เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ก็นึกสนใจ หาคำแปลเพื่อทำให้เข้าใจในสิ่งที่ฟังคงจะดี  ทุกครั้งที่ไปฟังสวดพระอภิธรรม พระบอกว่า ฟังเอากุศล ถ้าตั้งใจ  แต่ถ้าไปฟังสวดพระอภิธรรมที่ต่างจังหวัด ถ้าโชคดี  มีผู้นำแปลให้ เป็นอันรู้เรื่องรับกุศลไป
เขาถึงกล่าวว่า ถ้าผู้นำพาไปถูกทาง รับกุศล  ตามกัน
 
การสวดพระอภิธรรมนั้น มีที่มาอยู ๒ ทาง คือ
๑. ทางตำนาน และทางสันนิษฐาน ในทางตำนานนั้น สมเด็จกระพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ว่า ” พระสงฆ์ในประเทศนี้ทุกสังฆาราม ถือเป็นกิจวัตรที่ต้องสวดมนต์ เวลาเย็นทุกวันมิได้ขาด และมีหอสวดมนต์ประจำวัดทุกแห่ง  ชาวบ้านก็พอใจนิมนต์พระสงฆ์มาสาธายายธรรมเมื่อบำเพ็ญกุศล  เช่นสวดพระอภิธรรม สวดแจง และสวดพระสูตรต่างๆในงานศพ และพิธีปุพเปตพลี เหตุผลที่ชอบนิมนต์พระสงฆ์สวดพระอภิธรรมในงานศพ หรือแม้แต่ในงานปุพเปตพลี มีอธิบายในหนังสือปฐมสมโพธิของ สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ตอนเทสนาปริวัตรปริเฉทที่ ๑๗ กล่าวว่า “เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปยังดาวดึงสวรรค์ เพื่อจะเทศนาโปรดพระพุทธมารดา ทรงปรารภว่า ถ้าประทานเทศนาพระสูตร หรือพระวินัย คุณยังไม่เท่าทันพระคุณของพระพุทธมารดาที่ได้มีมาแก่พระองค์  มีแต่พระอภิธรรมอย่างเดียวซึ่งมีคุณสมควร “ใช้ค่าน้ำนมและข้าวป้อน ของพระพุทธมารดาได้ดังนี้จึงเข้าใจว่า  การซึ่งคนทั้งหลายพอใจ นิมนต์พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม เกิดแต่ประสงค์จะสนองคุณผู้มรณภาพ
๒. ทางสันนิษฐานนั้น พิจารณาจากเนื้อหาของพระอภิธรรมที่นำมาสวด เป็นเรื่องแสดงธรรมสังเวชทั้งหมดประการหนึ่ง  การสวดพระอภิธรรมนั้น ก็เพื่อสอน  “คนเป็น”  คือผู้ที่มาฟังสวดพระอภิธรรม  ไม่ใช่สวดส่งวิญญาณ
สวดพระอภิธรรมให้คนเป็นฟัง
แต่เวลาฟังพระท่านสวดเป็นภาษาบาลี
ข้อควรรู้เกี่ยวกับพระอภิธรรม
คัมภีร์สำคัญในพระพุทธศาสนา เรียกว่า พระไตรปิฎก มีอยู่ ๓ ปิฎก คือพระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก
พระอภิธรรมปิฎก เป็นคัมภีร์สำคัญที่สุดลึกซึ้งที่สุด  เข้าใจยากที่สุด และมีเนื้อหามากที่สุด
คำสอนของพระพุทธองค์  แบ่งเป็น
-พระวินัยปิฎก มี  ๒๑,๐๐๐  พระธรรมขันธ์
-พระสุตตันปิฎก มี ๒๑,๐๐๐  พระธรรมขันธ์
-พระอภิธรรมปิฎก มี  ๔๒,๐๐๐  พระธรรมขันธ์
ประเพณีการสวดพระอภิธรรม เนื่องด้วยในสมัยโบราณไม่นิยมใช้หนังสือบันทึกการสอน  หรือพระพุทธวจนะ แต่ใช้วิธีท่องจำต่อๆ กันมา  และพระพุทธวจนะ หรือคำสอนนั้นก็เป็นสาระสำคัญของพระพุทธศาสนา หรือจะเรียกว่าเป็นตัวพระพุทธศาสนา จึงเกิดความจำเป็นขึ้นว่า เมื่อจะรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ นอกจากจะท่องจำคำสอนเป็นกิจวัตร  และทำความเข้าใจในเนื้อหานั้นๆแล้ว  ก็ยังจำเป็นต้องมีการสวดสาธยายธรรม  กันเป็นประเพณีด้วย  มีข้อสังเกตดังนี้
๑.  เกี่ยวกับพระวินัยปิฎกนั้น  ได้มีพระพุทธบัญญัติให้ท่องจำและทบทวนกันทุกกึ่งเดือน  ซึ่งในปัจจุบันนี้คือ  การลงอุโบสถฟังสวดพระปาฏิโมกข์ของพระสงฆ์ (ต้องทำทุกวันขึ้น ๑๕ ค่ำ  และแรม  ๑๕ ค่ำ)
๒.  พระสุตตันปิฎก เกิดประเพณีที่จะอนุรักษ์ไว้  ๒ วิธี คือ
๒.๑ การสวดพระธรรมเพื่อรักษาพระพุทธศาสนา โดยถือว่าการสวดเป็นปริยัติศาสนา  (การศึกษาเล่าเรียน) อย่างหนึ่ง  เรียกว่า  สาธยายธรรม  ได้แก่ ประเพณีสวดมนต์ทำวัตรเช้า สวดมนต์ทำวัตรเย็นทุกวัน จึงเกิดมีหอสวดมนต์ ประจำวัดสืบมา
๒.๒  การสวดพระปริตร  เพื่อคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายทั้งหลาย ซึ่งถือเป็นประเพณีในการทำบุญ  หรือบำเพ็ญกุศลต่างๆ  เช่น  งานฉลอง หรืองานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ได้นิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ และปะพรมน้ำมนต์  บทสวดในงานดังกล่าวนี้ ก็นำข้อความสำคัญจากพระสุตตันตปิฎกนั่นเองมาเป็นแม่บท
๓.  สำหรับพระอภิธรรมปิฎก จะนำมาสวดในงานบำเพ็ญกุศลเนื่องในงานศพ  เพื่ออุทิศ ให้แก่ผู้วายชนม์  แต่เนื้อหาที่แท้จริงล้วนเป็นคำสอนที่มุ่งสอนคนเป็น   ไม่ใช่สวดให้คนดายฟัง  และการสวดพระอภิธรรมนี้แบ่งเป็น  ๒ ตอน คือ
๓.๑  ในวันตั้งศพวันแรก  และวันทำบุญ  ๗  วัน,  ๕๐  วัน ,  ๑๐๐  วัน  และในเวลาก่อนประชุมเพลิง นิยมนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระอภิธรรม เรียกว่าสวดมาติกาบังสุกุล  ถ้าเป็นงานพระศพเจ้านาย  เรียกว่า  พิธีสดับปกรณ์  ซึ่งหดเสียงเพื้ยนมาจากคำว่า   “สัตตปกรณ์”  คือพระอภิธรรม  ๗  คัมภีร์  โดยออกเสียงเป็นรูปสันสกฤตว่า  “สัปตปกรณ์”  หรือ  “สัปตัประกรณ์”  แล้วออกเสียงเพื้ยนเป็น  “สตับปกรณ์”
๓.๒  ในตอนกลางคืนมีประเพณีสวดสังคหะเป็นทำนองสรภัญญะ  (คือการสวดโดยใช้เสียงบริสุทธิ์  เป็นจังหวะสั้น-ยาว)  โดยนำบทสวดเป็นภาษาบาลี  หรือภาษามคธมาจากคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ  ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่พระอนุรุทธเถระแต่งขึ้น  โดยวิธีเก็บสาระสำคัญจากพระอภิธรรมปิฎกทั้งหมดมาจัดหมวดหมู่ใหม่ เป็น ๙ ปริเฉท  และสาระสำคัญใน ๙ ปริเฉทนั้น ก็เป็นเรื่องของการอธิบายปรมัตถธรรม  หรือ พุทธอภิปรัชญา ซึ่งโดยสรุปแล้วก็มีเนื้อหาซึ่งเป็นหลักสำคัญเพียง  ๔  หัวข้อ คือ
๑.  จิต
๒.  เจตสิก
๓.  รูป
๔.  นิพพาน
เนื้อหาสาระสำคัญของอภิธัมมัตถสังคหะทั้ง ๙ ปริเฉท  อธิบายโดยสรุปได้ดังนี้
ปริเฉทที่  ๑  ชื่อว่า  จิตตสังคหวิภาค  แจกแจงแสดงเรื่องจิต
ปริเฉทที่  ๒  ชื่อว่า  เจตสิกสังคหวิภาค  แจกแจงแสดงเรื่อง เจตสิก
ปริเฉทที่ ๓  ชื่อว่า ปกิณณกสังควิภาค  แจกแจงแสดงเรื่อง ธรรมะต่าง ๆ คือ เวทนา  เหตุ  กิจ  ทวาร  อารมณ์  และวัตถุ
ปริเฉทที่  ๔  ชื่อว่า  วิถีสังคหวิภาค  แจกแจงแสดง  เรื่อง  วิถีจิต
ปริเฉทที่ ๕  ชื่อว่า  วิถีมุตตสังคหวิภาค  แจกแจงแสดง เรื่อง  จิตที่พ้นวิถี  และธรรมะที่เกี่ยวเนื่องกับจิตเหล่านั้น
ปริเฉทที่  ๖  ชื่อว่า  รูปสังคหวิภาค  แจกแจงแสดง เรื่อง  รูปและนิพพาน
ปริเฉทที่ ๗  ชื่อว่า  สมุจจยสังคหวิภาค  แจกแจงแสดง  เรื่อง  ธรรมะที่สงเคราะห์เข้า เป็นหมวดเดียวกันได้
ปริเฉทที่  ๘  ชื่อว่า  ปัจจยสังคหวิภาค  แจกแจงแสดงเรื่อง  ธรรมที่อุปการะซึ่งกันและกัน  และแสดงบัญญัติธรรมด้วย
ปริเฉทที่ ๙  ชื่อว่า  กัมมัฏฐานสังคหวิภาค  แจกแจงแสดง  เรื่อง  กัมมัฎฐานทั้งสมถะ  และวิปัสสนากัมมัฎฐาน
พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์  ได้แก่ ๑. ธมฺมสงฺคณี  ๒.  วิภงฺโค  ๓. ธาตุกถา  ๔.  ปุคฺฺคลปญฺญตฺติ  ๕.  กถาวตฺถุ  ๖. ยมก  ๗.ปฏฺฐาน
คำแปลพระอภิธรรม โดย สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ  สุวฑฺฒโน)  วัดบวรนิเวศ แปลไว้ตั้งแต่เป็นพระเปรียญ
๑.  ธมฺมสงฺคณี
กุสลา  ธมฺมา.   ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล คือไม่มีโทษอันบัณฑิตติเตียน  มีสุขเป็นวิบากต่อไป
อกุสลา  ธมฺมา.  ธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศล  คือ มีโทษอันบัณฑิตติเตียน มีทุกข์เป็นวิบากต่อไป
อพฺยากตา  ธมฺมา.  ธรรมทั้งหลายเป็นอัพยากฤต  คือท่านไม่พยากรณ์ว่า  เป็นกุศล หรืออกุศล  คือเป็นธรรมกลางๆ
กตเม  ธมฺมา  กุสลา.  ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลเป็นไฉน?
ยสฺมี  สมเย.   ในสมัยใด
กามาวจรํ  กุสลํ  จิตฺตํ  อุปฺปนฺนํ  โหติ.  จิตเป็นกุศลอันหยั่งลงสู่กามย่อมเกิดขึ้น
โสมนสฺสสหคตํ  ญาณสมฺปยุตฺตํ.  เป็นไปกับโสมนัส  ประกอบพร้อมด้วยญาณ
รูปารมฺมณํ  วา.  ปรารภอารมณ์ คือ รูป  หรือมีรูปเป็นอารมณ์บ้าง
สทฺทารมฺมณํ วา. ปรารภอารมณ์ คือ เสียง หรือมีเสียงเป็นอารมณ์บ้าง
คนฺธารมฺมณํ  วา.  ปรารภอารมณ์  คือ กลิ่น  หรือมีกลิ่นเป็นอารมณ์บ้าง
รสารมฺมณํ วา. ปรารภอารมณ์  คือ มีรสเป็นอารมณ์บ้าง
โผฎฺฐพฺพารมฺมณํ  วา.  ปรารภอารมณ์ คือ  โผฎฐัพพะ  สิ่งที่ถูกต้อง หรือมี โผฎฐัพพะเป็นอารมณ์บ้าง
ธมฺมารมฺมณํ  วา. ปรารภอารมณ์  คือ  ธรรม  เรื่องที่เกิดแก่ใจ หรือ  มีธรรมเป็นอารมณ์บ้าง
ยํ  ยํ  วา  ปนารพุภ.  ปรารภอารมณ์ใดๆ  บ้างก็ดี
ตสฺมี  สมเย.   ในสมัยนั้น
ผสฺโส  โหติ.   ความประจวบต้องกันแห่งอายตนะภายในภายนอก  และวิญญาณ  ย่อมมี  ฯลฯ
อวิกฺเขโป  โหติ.  ความไม่ฟุ้งซ่านย่อมมี
เย วา ปน  ตสฺมี  สมเย  อญฺเญปิ  อตฺถิ  ปฏิจจสมุปฺปนฺนา อรูปิโน  ธมฺมา.  ก็หรือว่า  ธรรมทั้งหลายอันไม่มีรูป  ที่อาศัยกันเกิดขึ้นแม้เหล่าอื่นใดมีอยู่ในสมัยนั้น
อิเม  ธมฺมา  กุสลา.  ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล
——————————————————————————–
๒. วิภงฺโค
ปัญจกฺขนฺธา.  ขั้นธ์  คือ กองทั้ง ๕
รูปกฺขนฺโธ.     รูปขันธ์  กองรูป  ๑
เวทนากฺขนฺโธ.  เวทนาขันธ์  กองเวทนา  ๑
สญฺญากฺขนฺโธ.  สัญญาขันธ์  กองสัญญา ๑
สงฺขารกฺขนฺโธ. สังขารขันธ์ กองสังขาร ๑
วิญฺญาณกฺฺขนฺโธ.    วิญญาณขันธ์   กองวิญญาณ  ๑
ตตฺถ  กตโม  รูปกฺขนฺโธ.  ในขันธ์ทั้ง ๕  นั้น รูปขันธ์เป็นไฉน?
ยงฺกิญฺจิ  รูปํ  อตีตานาคตปจฺจุปฺปนฺนํ.   รูปอันใดอันหนึ่งเป็นอดีต  ล่วงไปแล้ว  เป็นอนาคต  ยังมิได้มีมา  เป็นปัจจุบัน  เกิดขึ้นอยู่เฉพาะหน้า
อชฺฌตฺตํ   วา  พหิทฺธา  วา.  เป็นภายในหรือภายนอก
โอฬาริกํ  วา  สุขุมํ   วา.     หยาบหรือละเอียด
หีนํ   วา ปณีตํ วา.  เลวหรือประณีต
ยํ  ทูเร  วา  สนฺติเก  วา.  อันใด  ในที่ไกล หรือในที่ใกล้
ตเทกชฺฌํ  อภิสญฺูหิตฺวา  อภิสงฺขิปิตุวา. ประมวลย่นย่อรูปนั้นเข้าเป็นอันเดียว
อยํ  วุจฺจติ  รูปกฺขนฺโธ.  นี้พระตถาคตตรัสเรียกว่ารูปขันธ์
———————————————————————————————-
๓. ธาตุกถา
สงฺคโห. การสงเคราะห์  คือรวมเข้าเป็นหมวดหมู่เดียวกันได้  เช่น  สงเคราะห์รูปขันธ์เข้าด้วยขันธ์  อายตนะ  ธาตุ  อันเป็นรูปธรรมด้วยกัน
อสงฺคโห. การไม่สงเคราะห์ คือไม่รวมเข้าเป็นหมวดหมู่เดียวกัน เช่น ไม่สงเคราะห์รูปขันธ์เข้าด้วยกัน  อายตนะ  ธาตุ อันเป็นนามธรรม
สงฺคหิเตน  อสงฺคหิตํ.  หมวดธรรมที่สงเคราะห์เข้ากันได้เพราะเป็นฝ่ายเดียวกัน  แต่สงเคราะห์เข้ากันไม่ได้กับหมวดธรรมฝ่ายอื่น เช่นอายตนะ,  ธาตุ ฝ่ายรูปที่สงเคราะห์เข้ากับรูปขันธ์ได้, แต่สงเคราะห์เข้ากับนามขันธ์ไม่ได้
อสงฺคหิเตน  สงฺคหิตํ.   หมวดธรรมที่สงเคราะห์เข้ากันไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายกัน แต่สงเคราะห์เข้ากันได้กับหมวดธรรมฝ่ายเดียวกัน  เข่น นามขันธ์ไม่สงเคราะห์เข้ากับ อายตนะธาตุ, ฝ่ายรูป แต่สงเคราะห์เข้ากับอายตนะ, ธาตุ  ฝ่ายนามด้วยกันได้
สงฺคหิเตน  สงฺคหิตํ.  หมวดธรรมที่สงเคราะห์เข้ากันได้  เพราะเป็นฝ่ายเดียวกัน ก็สงเคราะห์เข้ากันได้กับหมวดธรรมฝ่ายเดีวยวกันทั้งหมด เช่น ขันธ์ อายตนะ  ธาตุ ฝ่ายรูป  หรือธรรม  ก็สงเคราะห์เข้ากันได้ตามประเภททั้งหมด
อสงฺคหิเตน  อสงฺคหิตํ.   หมวดธรรมที่สงเคราะห์เข้ากันไม่ได้  เพราะต่างฝ่ายกัน  ก็สงเคราะห์เข้ากันไม่ได้กับหมวดธรรมต่างฝ่ายกันทั้งหมด  เช่น  รูปขันธ์สงเคราะห์เข้ากันกับนามขันธ์ไม่ได้  ก็สงเคราะห์เข้ากันไม่ได้กับอายตนะธาตุ  ฝ่ายนามทั้งหมด
สมฺปโยโค.  ความสัมปโยคประกอบกัน  คือความมีเกิด  ดับ  มีวัตถุที่ตั้งและอารมณ์เป็นสภาค  คือมีส่วนรว่มเป็นอันเดียวกัน เช่น เวทนาขันธ์  สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์  มีสัมปโยคประกอบกับนามขันธ์ ๓ เหล่านี้  วิญญาณขันธ์ก็มีสัมปโยคประกอบกับนามขันธ์ ๓ เหล่านี้ได้  ส่วนรูปขันธ์ไม่สัมปโยคประกอบกันกับ อะไรอื่น
วิปฺปโยโค  ความวิปปโยคไม่ประกอบ คือพรากกัน เพราะเป็นวิสภาคผิดส่วนกัน จึงต่างเกิดต่างดับเป็นต้น เช่นรูปขันธ์มีวิปปโยคไม่ประกอบกับรูปขันธ์
สมฺปยุตฺเตน  วิปฺปยุตฺตํ.  หมวดธรรมที่สัมปยุตประกอบกันได้ ก็วิปปยุตไม่ประกอบกับหมวดธรรมประเภทอื่น  เช่น ขันธ์  อายตนะ  ธาตุ ที่สัมปยุตประกอบกับนามขันธ์ ๔  ได้ก็วิปปยุตไม่ประกอบกับรูปขันธ์
วิปฺปยุตฺเตน  สมฺปยุตฺตํ.   หมวดธรรมที่วิปปยุตไม่ประกอบกันแล้ว ก็สัมปยุต ประกอบกันอีก  หมวดธรรมเช่นนี้ไม่มี  เพราะนามขันธ์ ๔ วิปปยุตไม่ประกอบกันกับรูปขันธ์แล้ว  ก็ไม่สัมปปยุตประกอบกันกับธรรมอื่นนอกจากพวกของตน  รูปและนิพพานเป็นวิปปยุตไม่ประกอบกับนามขันธ์ ๔ แล้ว ก็ไม่สัมปยุตกับธรรมอื่น
อสงฺคหิตํ.   หมวดธรรมที่สงเคราะห์เข้ากัน คือ เมื่อกล่าวถึงบททั้งหลายที่ละเว้นไว้  ย่อมประมวลความโดยย่อว่า  หมวดธรรมที่สัมปยุตประกอบกันก็ดี  หมวดธรรมที่วิปยุตไม่ประกอบกันก็ดี ย่อมสงเคราะห์เข้ากันได้บ้าง  สงเคราะห์เข้ากัน มิได้บ้าง  เช่น ไปสวดธรรมที่วิปปยุตไม่ประกอบกับรูปขันธ์  คือ พวกนามขันธ์ ๔ ก็สงเคราะห์เข้ากันกับนามขันธ์ทั้ง ๔ แต่ไม่สงเคราะห์เข้ากันกับรูปขันธ์
————————————————————————————
สรุปการฟังสวดพระอภิธรรม  เป็นคำสอนที่ให้เรารู้ความจริงของชีวิตโดยสวดทั้งหมด ๗ คัมภีร์
แต่เนื่องจากบางครั้ง บทสวดเป็นภาษาบาลี  ทำให้ฟังไม่เข้าใจความหมาย  คือฟังเอากุศล  แต่ถ้าเข้าใจความหมาย หรือมีผู้นำช่วยแปลให้ก็จะเกิดกุศลยิ่งขึ้น ฉะนั้น ญาติโยมที่ไม่ได้เรียนภาษาบาลี ฟังไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจความหมาย ก็ได้เพียงชั้นบุญ  ไม่ถึงขึ้นที่เป็นกุศล  แต่ถ้าเราตั้งใจฟัง ก็จะได้ทั้งบุญและกุศล
ซึ่งบุญ  และกุศล  ต่่างกันอย่างไร ?
บุญ คือ เป็นเรื่องของความอิ่มใจ สบายใจ เช่น  เมื่อญาติมิตรเพื่อนพ้องตาย  เราก็มาพบกัน  มาแล้วก็นิมนต์พระมาสวด ก็ดีใจ  สบายใจ  สบายใจว่าได้สวดให้กันแล้ว  หรือว่าใครรู้จักก็มาทำพฺิธีนิมนต์พระสวดก็ได้ความอิ่มใจอย่างนั้น  อันนี้เขาเรียกว่า ได้บุญ  แต่ไม่ถึงขั้นที่เป็นกุศล
กุศล  คือ ตัวปัญญา  ตัวความรู้  ตัวความเข้าใจ ถ้าเปรียบเป็นวัตถุ ก็เหมือนกับว่าแสงสว่างตัวกุศลเรียกเป็นแสงสว่าง เมื่อเกิดขึ้นในใจแล้วมันทำให้สว่างขึ้นมา  ความมืดหายไป  ความหลงผิด  ความเข้าใจผิด  ความเชื่อที่งมงายทั้งหลายทั้งปวงหายไป  เพราะอำนาจกุศล
กุศลกับบุญนี้ใครใหญ่กว่ากัน ?
ก็กุศลมันใหญ่กว่าบุญ  บุญเล็ก  เพราะว่าถ้าเราทำอะไรเอาแต่บุญนี่ กุศลก็จะไม่เกิดเลย  แต่ถ้าเราทำอะไรให้เป็นกุศล บุญก็เกิดด้วย
ยกตัวอย่างเช่น  เราฟังพระสวดพระอภิธรรมเหมือนกับสวดๆ กันอยู่ทั่วๆ ไป นั้นเราไม่ได้เกิดปัญญาเลย  ไม่ได้เข้าใจอะไรว่า พระท่านสวดเรื่องอะไร  อย่างนี้เค้าเรียกว่าได้เพียงชั้นบุญ  ไม่ถึงขึ้นที่เป็นกุศลแต่ถ้าเรามาฟังพระพูดภาษาไทย  เรารู้เราเข้าใจในเรื่องนั้น  เรียกว่า  เราได้กุศล  เมื่อได้กุศลเราก็อิ่มใจด้วย  สบายใจด้วย  มันเกิดตามมา  กุศลเกิดแล้วบุญก็เกิด  แต่ถ้าบุญเกิดบางทีกุศลไม่เกิดด้วย  มันต่างกันอย่างนี้
เริ่มเข้าใจในสิ่งที่พระสวดบ้าง แล้ว สาธุ
“กุสลา ธมฺมา อกุสลา  ธมฺมา” โดยเนื้อความในปฐมมาติกา
“กุสลา  ธมฺมา”  คือธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลอย่างหนึ่ง
“อกุสลา ธมฺมา”  คือธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลอย่างหนึ่ง
“อพฺยากตาธมฺมา”  คือ ธรรมทั้งหลายที่เป็นอพยากตนั้นอย่างหนึ่ง  โดยอธิบายว่า ธรรมที่เป็นกุศลหมายถึงธรรมอันเป็นส่วนของบุคคลผู้ฉลาด ตัดเสียซึ่งบาป  ไม่ให้เกิดขึ้นในสันดาน อุุปมาดั่งบุคคลปลูกต้นมะม่วง  ย่อมรักษาไม่ให้กาฝากมาเกาะที่ลำต้น กิ่งก้าน  เพราะจะทำให้ต้นไม่งาม มีผลน้อย  หรือเปรียบเหมือนบุคคลผู้ฉลาดย่อมระวังรักษากาย วาจา ไจไม่ให้ทุจริตเศร้าหมองได้ดั่งนี้
และบทสวดที่ได้ยินเสมอๆ
อนิจฺจา  วต  สงฺขารา   สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงแท้
อุปฺปาทวยธมฺมิโน    แม้เกิดมาก็เสื่อมไปเป็นธรรมดา
อุปฺปชฺชิตฺวา  นิรุชฺฌนฺติ   เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป
เตสํ  วูปสโม  สุโข  ความระงับคือไม่ยึดถือสังขารเหล่านั้นเป็นสุข
ที่มา : คู่มือฟังสวดพระอภิธรรม โดย แผนกพัฒนาจิต บริษัท แอล.พี. แสตนดาร์ด  แลบอราทอรีส์ จำกัด  ( Call  no.  BQ5020ป46)
หรือสนใจอ่านเพิ่มเติมได้ที่  หนังสือ พระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย และการนับถือพระพุทธศาสนา และทางพ้นทุกข์ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางแสงทอง  (กิมเม่ง)  อัชกุล  ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส  วันจันทร์ที่ ๑๙  มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๓  (Call no. BQ4200 พ46)
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร