รางวัลทางวรรณกรรมในเมืองไทย

“รางวัล” หมายถึงสิ่งของหรือเงินทองของมีค่าที่มอบให้หรือได้รับเพราะการทำความดีความชอบ, แสดงความสามารถ, ชนะในการแข่งขัน, หรือเพราะโชค (จากการถูกรางวัลล็อตเตอรี่/การชิงโชค) หรือหมายถึงค่าตอบแทนที่มอบให้แก่ผู้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งสำเร็จตามเป้าหมาย เพื่อเป็นสินน้ำใจหรือเป็นกำลังใจแก่เจ้าของผลงาน และอาจเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆได้ด้วย ประเทศไทยเรานั้นก็มีการมอบ “รางวัล” กันมากมายหลากหลายประเภทในทุกวงการและสาขาอาชีพ แต่ครั้งนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะ รางวัลทางด้านวรรณกรรมของประเทศไทย เท่านั้นค่ะ
วรรณกรรมนั้นมีทั้งในรูปของงานเขียนงานประพันธ์ที่เป็น เรื่องสั้น นวนิยาย บทกวี สารคดี และหนังสือสำหรับเด็ก โดยมีการจัดประกวดและการมอบรางวัลกันในหลายสถาบัน ทั้งในส่วนของภาครัฐและของภาคเอกชน เฉพาะในส่วนของเอกชนนั้นผู้จัดประกวดและมอบรางวัลคือสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย รวมทั้งบรรดาสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักอ่านทั้งหลายนั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นเวทีเปิดให้กับนักเขียนหน้าใหม่ได้แสดงผลงานและความสามารถ แล้วยังเป็นแรงสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดงานเขียนใหม่ๆที่มีคุณภาพ เป็นการเสริมสร้างนิสัยรักการอ่าน การเขียน และการเรียนรู้รอบด้านอีกทางหนึ่ง การที่ภาคเอกชนจัดประกวดและมีรางวัลให้นี้นับเป็นการคัดกรองวรรณกรรมแต่ละประเภทที่มีคุณภาพได้ในระดับหนึ่ง ก่อนที่จะส่งเรื่องราวหรือนักเขียนเข้าสู่การประกวดในเวทีระดับชาติต่อไป
สำหรับรางวัลวรรณกรรมในระดับชาติและระดับประเทศที่จัดประกวดกันทุกปีและบรรดานักอ่านรู้จักกันเป็นอย่างดีคือ รางวัลซีไรต์ งานนี้เริ่มจัดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2522 เป็นรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนที่มีการมอบให้แก่นักเขียนในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ (ประเทศไทยเราเป็นเจ้าภาพหลักในการมอบรางวัล) มอบรางวัลให้ประเทศละหนึ่งคนต่อปีมิใช่เฉพาะคนไทยเท่านั้น โดยมีรางวัลมอบให้ปีละประเภทหมุนเวียนสลับกันไปในแต่ละปี คือประเภทนวนิยาย, เรื่องสั้น, และกวีนิพนธ์ อีกงานหนึ่งคือ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ งานนี้เริ่มจัดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2515 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักในระยะแรกๆต่อมาได้ร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยในการจัดงาน หนังสือที่ส่งเข้าประกวดได้แบ่งกลุ่มของหนังสือประเภทต่างๆ ถึง 9 กลุ่ม เพื่อคัดเลือกและตัดสินให้ได้รับรางวัลประจำปี ทั้งรางวัลดีเด่นและรางวัลชมเชย  ส่วนอีกรางวัลหนึ่งของภาครัฐคือ รางวัลพานแว่นฟ้า ที่รัฐสภาร่วมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยจัดประกวด โดยเป็นวรรณการเมือง ที่มีทั้งเรื่องสั้น บทกวีการเมือง(เริ่มจัดตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ยกเว้น ปี2557 ปีเดียวที่งดการจัดประกวด)
ในส่วนของภาคเอกชนที่มีการจัดประกวดและมอบรางวัลทางวรรณกรรมของไทยนั้น มีหลายองค์กรเช่นกัน อาทิ

รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ของบริษัทซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด ซึ่งเริ่มจัดประกวดมาตั้งปี 2547 จนถึงปัจจุบัน
รางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ของสำนักพิมพ์อมรินทร์พริ้นติ้ง เริ่มจัดประกวดครั้งแรกในปี 2542 จนถึงปัจจุบัน

          รางวัลแว่นแก้ว ของสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ เริ่มจัดประกวดครั้งแรกในปี 2543 จนถึงปัจจุบัน
          รางวัลวรรณกรรมมูลนิธิสุภาว์ เทวกุล  ในเครือของนิตยสารสกุลไทย เริ่มจัดประกวดครั้งแรกในปี 2538 จนถึงปัจจุบัน
          รางวัลชมนาด ของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เริ่มจัดประกวดครั้งแรกในปี 2550  จนถึงปัจจุบัน รางวัลนี้จะเปิดโอกาสให้กับนักเขียนสตรีเท่านั้นทั้งนักเขียนใหม่และเก่าสามารถส่งผลงานไปได้
นอกจากนี้ยังมีอีกหลากหลายสำนักพิมพ์และหลายหน่วยงานที่มีโครงการจัดการประกวดและมอบรางวัลให้กับงานเขียนทางวรรณกรรม ที่เปิดโอกาสให้กับนักเขียนหน้าใหม่ ได้มีเวทีเพื่อเผยแพร่ผลงานสู่สายตานักอ่านและสาธารณชน รวมทั้งเป็นบันไดไปสู่การเป็นนักเขียนอาชีพต่อไปในอนาคต
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร