การขอเลขประจำบ้าน
ได้ตรวจข่าวจากหนังสือพิมพ์เป็นประจำทุกวันได้พบข้อมูลที่น่าสนใจและน่าจะเป็นความรู้สำหรับใครหลายๆคนที่กำลังจะปลูกบ้านใหม่และต้องการขอเลขประจำบ้านว่ามีขั้นตอนอย่างไร สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านที่เป็นบ้านจัดสรรของโครงการฯ การขอเลขที่บ้าน สำเนาทะเบียนบ้าน สาธารณูปโภคต่างๆ เช่น น้ำไฟ ทางโครงการฯจะจัดการให้เรียบร้อย แต่ผู้ที่ปลูกบ้านเองคงจะต้องดำเนินการด้วยตนเองในทุกๆเรื่อง เรามาดูกันว่าการขอเลขที่บ้าน ยื่นที่ไหน และใช้เอกสารอะไรบ้าง
การขอเลขประจำบ้าน เมื่อมีการปลูกบ้าน เจ้าบ้านหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนเพื่อขอเลขประจำบ้านภายใน 15 วันนับแต่วันที่สร้างเสร็จ เมื่อนายทะเบียนรับคำร้องพร้อมกับหลักฐานของผู้แจ้งแล้ว จะต้องตรวจสอบว่าบ้านที่ขอเลขนั้นมีลักษณะเป็นโรงเรียนหรือสิ่งปลูกสร้างที่สามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นประจำ (มีสภาพคงทนถาวร) หรือไม่ ถ้าถูกต้อง กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน หรือ นายทะเบียนจะกำหนดเลขที่บ้านให้แก่ผู้แจ้งภายใน 7 วัน (กรณีบ้านปลูกอยู่ในเขตเทศบาล) หรือภายใน 30 วัน (กรณีบ้านปลูกอยู่นอกเขตเทศบาล)
ทะเบียนบ้าน คือ เอกสารทางราชการที่นายทะเบียนออกให้บ้านแต่ละหลัง กำหนดให้มีเลขประจำบ้าน ซึ่งปลูกสร้างโดยได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารหรือมีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ปลูกสร้างอาคาร
สถานที่ยื่นคำร้องขอเลขที่บ้าน ถ้าบ้านอยู่ในเขตเทศบาลที่ยังมีผู้ใหญ่บ้าน เจ้าบ้านจะต้องแจ้งขอเลขที่บ้านต่อผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านจะออกใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน (ท.ร.9)ให้ และนำไปยื่นคำร้องขอเลขที่บ้านที่งานทะเบียนราษฎร(เทศบาล) ที่บ้านปลูกสร้างเสร็จแล้วตั้งอยู่ เพื่อแจ้งขอเลขที่บ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน ถ้าบ้านปลูกอยู่นอกเขตเทศบาล เจ้าบ้านจะต้องแจ้งขอเลขที่บ้านต่อผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านจะออกใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้านสำหรับนำไปยื่นคำร้องที่งานทะเบียนราษฎร (อำเภอ)ที่ปลูกสร้างเสร็จตั้งอยู่ เพื่อแจ้งขอเลขที่บ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
หลักฐานที่ต้องใช้ในการขอเลขประจำบ้าน ได้แก่
- ใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน (ท.ร.9)
- บัตรประจำตัวผู้แจ้ง (ตัวจริง)
- สำเนาเอกสารการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ (ถ้ามี)
- เอกสารการขออนุญาตก่อสร้างตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาร (ถ้ามี)
ที่มา : มติชน ปีที่ 39 ฉบับที่ 13873 (5 มี.ค. 2559) : 17