นิตยสารแจกฟรี

:mrgreen: ตั้งแต่ปีที่แล้วจนกระทั้งปีนี้นิตยสารหลายฉบับยุติการผลิตไปหลายฉบับไม่ว่าจะเป็น บางกอกรายสัปดาห์ เปรียว อิมเมจ สกุลไทย และอีกหลากหลายชื่อ ล่าสุดที่ประกาศยุติการผลิตคือ “พลอยแกมเพชร”
ใน Blog ของหอสมุด พี่เกศินีเขียนเรื่องวารสารปิดตัวมาหลาย”สุดท้าย” แล้วและคงจะมีให้เขียนอีกหลายชื่อหลายฉบับ
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่ว่า จำนวนโฆษณาที่ลดลง การลดต้นทุน หรือด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ทำให้เกิดคำถามที่ว่า แล้วต่อไปเราจะอ่านอะไร
ผู้ผลิตหรือสำนักพิมพ์บางแห่ง หาทางออกด้วยการปรับรูปแบบของนิตยสารเป็นแบบ Free Copy หรือ นิตยาสารแจกฟรี
คำนิยามหรือความหมายของนิตยสารแจกฟรี (สุมณรัตน์ ปานรัตน์, 2550) ให้ความหมายของนิตยสารแจกฟรี โดยการเทียบเคียงกับความหมายของนิตยสารตามที่ระบุไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และตำราของนักวิชาการหลายท่านคือ สื่อสิ่งพิมพ์ทางด้านวารสารศาสตร์ที่มีเนื้อหาอันหลากหลายอยู่ในเล่มเดียวกัน มุ่งทั้งให้ความรู้ (To Inform) ความบันเทิง (To Entertain) และเป็นแนวทาง (To Guide) ต่อผู้อ่าน ซึ่งมีการกำหนดระยะเวลาการแจกที่แตกต่างกันทั้งแน่นอน เช่น รายปักษ์ รายเดือน เป็นต้น และไม่แน่นอน เช่น แจกฟรีในวาระโอกาสพิเศษต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของผู้จัดทำ โดยคำนึงถึงความต้องการและรสนิยมการรับข้อมูลข่าวสารของกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก แนวคิดของนิตยสารจึงหมายรวมถึงแหล่งรวบรวมสาระเนื้อหาที่มีความหลากหลายและทันสมัย อันประกอบด้วยงานเขียนประเภทต่างๆ ทั้งข่าว บทความ เรื่องสั้น สารคดี คอลัมน์ประจำ และข้อเขียนอื่นอีกหลายลักษณะที่กำลังได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้อ่านในช่วงเวลานั้นๆ รวมทั้งภาพประกอบงานเขียนที่มีความสวยงาม และโฆษณารวมอยู่ในเล่มเดียวกันอย่างมีระบบ
ธรรมยุทธิ์ จันทร์ทิพย์ (2554) กล่าวไว้ในงานวิจัยว่า “นิตยสารประเภทแจกฟรี” “Free Magazine” หรือ “Free Copy” เป็นคำเรียกสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสารรูปแบบหนึ่งที่ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเด่นชัดและน่าสนใจคือ ธุรกิจประเภทนี้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสสื่อสมัยใหม่ (New Media) ที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก สำหรับการจัดแบ่งประเภทของนิตยสารแจกฟรีที่ปรากฏอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ในปัจจุบันจากการรวบรวมข้อมูล สามารถแบ่งได้อย่างกว้างๆ โดยจำแนกตามลักษณะของเนื้อหา หรือตามความสนใจของผู้อ่าน เป็น 3 ประเภทหลักด้วยกัน คือ

  1. นิตยสารแจกฟรีสำหรับผู้บริโภคทั่วไป ได้แก่ นิตยสารที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับสังคม การดำเนินชีวิต รวมถึงแฟชั่น การแต่งกายเพื่อกลุ่มผู้อ่านทั่วไปในสังคม เช่น BK Magazine, happening, You are here Magazine, Partysan, WOMAN PLUS, 247, DACO, a day BULLETIN, ทู (2), SHE’s smart, CROSS, DO Pocazine, CENTERPOINT, VIVA angkok, WAKE UP, HIP, City Lift Chiang Mai, COMPASS เป็นต้น
  2. นิตยสารแจกฟรีเฉพาะทาง ได้แก่ นิตยสารที่นำเสนอเนื้อหาให้สาระความรู้เฉพาะเจาะจงในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น กีฬา เทคโนโลยี การแพทย์ รถ ภาพยนตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ ฯลฯ เช่น DL Magazine, D Plus, GO, Tick a seaT, ilmmunist, SNEAKER HEAD, WEEKEND, POSTCARD, Eating Out, Filmmunist, BIG MAP, ยะแฮ, ปลีสุข เป็นต้น
  3. นิตยสารแจกฟรีเชิงธุรกิจหรือประเภทสมาชิก ได้แก่ นิตยสารที่ออกโดยหน่วยงานราชการ องค์กร สถาบัน สมาคมต่างๆ รวมไปถึงนิตยสารแจกฟรีเพื่อการประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร เช่น คิด, สะพรั่ง, หนีกรุง, UBC Magazine, M Scene, F3, Red Carpet Bulletin, TRADE POINT, I Travel, Creative Thailand, HideAway เป็นต้น

ตัวอย่างของวารสารแจกฟรีที่ประสบผลสำเร็จ a day BULLETIN ของ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ บรรณาธิการอำนวยการบริษัท Daypoets จำกัด ที่เปิดเล่มแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 25 กรกฏาคม 2551
a day BULLETIN เป็นนิตยสาร Free Copy ที่นำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจและทันเหตุการณ์ที่สุด รวมทั้งบทสัมภาษณ์เข้มข้นของบุคคลที่อยู่ในกระแสความสนใจของสังคม เพื่อเป็นทางเลือกในการติดตามข่าวสารของคนกรุงเทพ และนั่นจึงเป็นที่มาขอสโลแกนที่ทางนิตยสารได้ยึดถือมาตลอดว่า The Urban Current Magazine
a day BULLETIN ได้กลายเป็นนิตยสารแจกฟรีที่คนเมืองต้องอ่าน และมีผลสำรวจจากบริษัทสำรวจชื่อดังอย่าง AC Nielsen รับรองอย่างเป็นทางการว่า a day BULLETIN คือนิตยสารแจกฟรีที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากคนอ่าน เห็นได้จากยอดสมัครสมาชิกที่เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง (http://www.daypoets.com/aboutus/2/a%20day%20bulletin.html)
คุณรู้หรือไม่ นิตยสาร แจกฟรีที่มียอดแจกสูงสุดคือ

นิตยสารแจกฟรีของญี่ปุ่น ชื่อว่า R25 ที่มียอดแจกกว่า 600,000 เล่มต่อสัปดาห์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ แฟชั่น บันเทิง เศรษฐกิจและการเมือง จับกลุ่มผู้ชายเมโทรผู้ใช้ชีวิตแบบเร่งรีบในมหานครโตเกียว โดยมีเนื้อหา Advertorial ในสัดส่วนที่น้อยมาก (http://positioningmag.com/10188)
หากถามว่าผู้ผลิตนิตยสารแจกได้อะไร สิ่งที่ได้คือ เงินจากการโฆษณา จากเจ้าของสินค้าและบริการที่ลงโฆษณาในนิตยสารแจกซึ่งนิตยสารแจกฟรีไม่ได้เป็นสิ่งพิมพ์รูปแบบใหม่ หากเป็นการกลยุทธ์ทางการตลาดในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและค่าครองชีพผู้บริโภคสูงขึ้น การแจกนิตยสารฟรีน่าจะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคชอบ เจ้าของสินค้า และบริการก็สามารถที่จะเลือกลงโฆษณาได้ เพราะว่านิตยสารแต่ละฉบับมีกลุ่มเป้หมายที่ชัดเจน เช่น
บางกอกโพสท์และโพสท์ทูเดย์ ผลิตนิตยสารแจกฟรี “GURU” เป็นรายสัปดาห์ แนวไลฟ์สไตล์ และเอนเตอร์เทนเมนต์ หรือ FLASH ที่แจกฟรีแต่แทรกอยู่ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์
“ลำโพง” แจกฟรีเป็นรายเดือน เนื้อหาหนักไปทางญี่ปุ่นเป็นหลักทั้งการใช้ชีวิต การฝากซื้อขายสินค้า ร้านอาหารญี่ปุ่น เป็นต้น
Tick A Seat ของค่ายเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ร่วมกับทราฟฟิกคอร์เนอร์ สถานที่แจกคือ โรงหนังในเครือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ทุกแห่ง มหาวิทยาลัยต่างๆ เนื้อหาก็จะเป็นเกี่ยวกับเรื่องภาพยนตร์ ดารา บันเทิงเป็นหลัก
DACO ของบริษัท ดาต้า แอนด์ คอมมูนิค เอ็กซ์เพรส จำกัด แจกเป็นเดือน ซึ่งเป็นหนังสือที่เน้นเนื้อหาการใช้ชีวิตแบบญี่ปุ่น มีเนื้อหาทั้งด้านอาหารการกิน การท่องเที่ยว การใช้ชีวิต สถานที่ท่องเที่ยวญี่ปุ่น โดยสถานที่แจกหลักๆ เช่น ร้านอาหารเครือโออิชิ ปั๊มเชลล์ สตาร์บัคส์คอฟฟี่ บ้านใร่กาแฟเอกมัย มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน เป็นต้น
อ้างอิง :
ธรรมยุทธิ์ จันทร์ทิพย์. 2554. คุณลักษณะ และบทบาทของนิตยสารแจกฟรีในประเทศไทย : Characteristics and roles of free magazines in Thailand. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.bu.ac.th/knowledgecenter/executive_journal/april_june_11/pdf/aw25.pdf. 17 กันยายน 2559.
สุมณรัตน์ ปานรัตน์. 2550. ปัจจัยที่มีผลต่อการเปิดรับและการใช้ประโยชน์จากนิตยสารแจกฟรี (FREE COPY) : Influential Factors toward Exposure and Uses of Free Copy Magazines. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.infocommmju.com/icarticle/images/stories/icarticles/master/Influential_Factors.pdf. 17 กันยายน 2559.
a day BULLETIN Background. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.daypoets.com/aboutus/2/a%20day%20bulletin.html. 17 กันยายน 2559.
Admin. August 5, 2007. นิตยสารแจกฟรีช่วยได้. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://positioningmag.com/10188. 17 กันยายน 2559.

MGR Online. 2548. เปิดหนังสือแจกฟรีดูดเม็ดเงินโฆษณา. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9480000113790. 30 กันยายน 2559.
 
 

One thought on “นิตยสารแจกฟรี

  • เป็นความฝันเลยที่อยากทำนิตยสารแจกฟรีแบบฮิปๆของห้องสมุด ทำสิ่งพิมพ์คงยากเพราะต้องเดินหาสปอนเซอร์คงได้แค่ออนไลน์

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร