เมื่อต้องแนะนำห้องสมุด
ตั้งแต่ปีที่แล้วมีภารกิจอย่างหนึ่่งที่ต้องทำคือการไปแนะนำห้องสมุดกับนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกของคณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่ท่านหัวหน้าหอสมุดคนก่อน บอกว่าเป็นหน้าที่ที่ควรต้องไปด้วยตนเองในฐานะหัวหน้าหน่วยงาน ความจริงอยากไปทุกแห่งทุกคณะวิชา เพราะจะได้ไปทำความรู้จักกับคณาจารย์ซึ่งห้องสมุดจำเป็นต้องอกไปทำความรู้จักและสอบถามความเข้าใจ
ปีนี้นั่งคิดว่าจะนำเสนออย่างไรให้นักศึกษารู้จัก
คำว่ารู้จักไม่ได้หมายถึงสถานที่ตั้ง แต่หมายถึงรู้ถึงคุณประโยชน์ที่ห้องสมุดมี และพวกเขาจะดึงสิ่งเหล่านั้นไปใช้ในการเรียน เลยไปถึงการสอนและการวิจัยได้อย่างไร
เนื่องจากกลุ่มที่จะไปแนะนำไปผู้ใหญ่ จึงมีความแตกต่างกับนักศึกษาในปีหนึ่งในระดับปริญญาตรี ซึ่งคงต้องนั่งกันนิ่งๆ แล้วคุยกันสักทีว่าจะทำอย่างไรในช่วงนั้นและหลังจากนั้น เพื่อให้พวกเขารู้จักหอสมุดฯ ของเรามากขึ้น
ดิฉันมีเวลา 45 นาที่ สำหรับการพูด กว่าจะเข้าเรื่อง คงเหลือ 40 นาที เท่ากับ 2,400 วินาที ทำสไลด์ไว้ 75 เฟรม ซึ่งเท่ากับพูดสไลด์ละ 32 วินาที ซึ่งหมายความว่าใช้เวลาพอสมควร สไลด์จึงจึงมีเนื้อหาที่พูดได้ยาวๆ
32 วินาทีที่พูดต่อหน้าคนแยะๆ ในความรู้สึกจะน้านนาน… ลองจับเวลากันค่ะ ดิฉันชอบดูครูอาจารย์ตอนพูด/บรรยาย เพราะต้องการได้ทักษะการพูดและการสอน เพื่อแก้ปัญหาที่ตัวเองชอบพูดสรุปๆ สั้นๆ รัวๆ และลนลาน จึงต้องบอกตัวเองเสมอๆว่า ต้องพูดช้าๆ เข้าไว้ เพราะพูดเร็ว เสร็จก่อนเวลาจะดูไม่งาม
สไลด์ชัดนี้ดิฉันให้ชื่อว่า Getting the most out of the LIBRARY หาสีใสๆ หลายคนบอกว่าทำไมจึงชอบเขียนภาษาอังกฤษ คำตอบคือ ภาษาเราไม่ดีจึงต้องหมั่นใช้ จะได้ชินกับคำศัพท์ เพราะเวลาทำงานเราต้องหาคำเพื่อใช้กับงาน อายุมากแล้วการนั่งท่องศัพท์ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะแค่กระพริบตาก็ลืมแล้ว
เนื้อหาแบ่งเป็น 6 ตอนคือ Intro…, Resources, Services, Tools, iThesis และ Plagiarism ซึ่งคิดเองว่านักศึกษาควรต้องทราบ วิธีการนี้ไม่ถูกนักเพราะเราไม่เคยถามเลยว่าพวกเขาอยากรู้หรือไม่
งานบางอย่างที่เราคิดเอง เออเอง และมีมายาของตัวเลขที่นำกลับมาพัฒนางานไม่ได้ ต้องนั่งนิ่งๆเช่นกัน
เนื้อหาของสไลด์เก็บๆ จากเรื่องราวที่เคยทำมาก่อน บางเฟรมที่เป็นส่วนของกรณีศึกษาเรื่องการอ้างอิงและการเขียนบรรณานุกรมท่านผู้ฟังบอกชอบมากขอไปบอกต่อ คงเป็นเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว เช่น ตัวอย่างการเขียนบรรณานุกรมแบบไม่ถูดรูปแบบ การอ้างต่อๆ กันโดยไม่กลับไปศึกษาต้นแหล่ง เพราะใช้ชีวิตง่ายๆ ด้วยการ copy แล้ว paste
การตรวจทานไม่เกิดขึ้น ทำให้ผลงานที่ออกมามีแผล ถึงจะเล็กๆ แต่ถ้าอดทนอีกหน่อยก็น่าจะดีกว่า
ส่วนการวัดผลว่าเราประสบมากน้อยแค่ไหน เชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่าคนพูดสามารถประเมินตัวเองอย่างคร่าวๆว่า ผู้ฟังสนใจมากน้อยแค่ไหน หากมองไปเห็นหาวยาวๆ มือเลื่่อนๆ ไปที่หน้าจอ เราคงเศร้า
และเราจะดีใจที่มีมือถือยกขึ้นมาถ่ายสไลด์ของเราแบบรัวๆ 🙄
สนุกดี!! ปีหน้าใครจะไปด้วย ขออาสาสมัครค่ะ