ที่มาของ Guinness Book of Records

หนังสือ Book of Records เป็นหนังสือที่รวบรวมสถิติที่เป็นที่สุดของประเทศต่างๆ รวบรวมสิ่งแรกที่มีรวมทั้งเรื่องแปลกที่น่าสนใจที่บังเกิดขึ้นในโลกนี้นำมาบันทึกเก็บเป็นข้อมูลไว้ นำเสนอข้อมูลในหลากหลายสาขาไม่จะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ ให้ความรู้แบบสั้นกระชับพร้อมภาพประกอบ  หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นมาได้ก็ด้วยความอยากรู้อยากเห็นของชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งซึ่งนำโดย ท่านเซอร์ฮิวจ์ อาร์ย แคมเบลล์ บีเวอร์ (Sir Hugh Eyre Campbell Beaver) ผู้เป็นเจ้าของโรงเบียร์ตรา กินเนสส์(Guinness)ได้ชวนเพื่อนไปยิงนกริมแม่น้ำแห่งหนึ่งเมื่อสิ้นสุดภารกิจนี้ได้มาถกเถียงกันว่าระหว่างนกสองชนิดชนิดใดจะบินเร็วกว่ากันแต่ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้เพราะไม่เคยมีเอกสารใดเคยบันทึกไว้ หลังจากนั้นเขาได้ว่าจ้างฝาแฝดคู่หนึ่งคือ นอรีสและรอสส์ แม็กไวร์เตอร์ (Norris&Ross McWhirter) ซึ่งเปิดสำนักงานรับสืบค้นข้อมูลอยู่ในลอนดอนให้ช่วยสำรวจและรวบรวมข้อมูลประเภทที่สุดของ อังกฤษ ยุโรป และของโลกเอาไว้เป็นหมวดหมู่ ฝาแฝดคู่นี้รับทำงานนี้อยู่เกือบสี่ปี จึงได้ออกหนังสือมาเล่มหนึ่งชื่อว่า The Guinness Book of Records เป็นหนังสือปกแข็งหนา 198 หน้าวางขายในอังกฤษเป็นครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1954 ซึ่งในเวลานั้นเป็นหนังสือที่ขายดีมากเพราะคนนิยมซื้อไปเป็นของขวัญมอบให้แก่กันในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ ในปีถัดมาก็มีหนังสือนี้เป็นฉบับอเมริกันพิมพ์ออกมาขายเช่นกันโดยใช้ชื่อว่า The Guinness Book of World Records วางขายในอเมริกาซึ่งก็เป็นหนังสือติดอันดับขายดีอีกเช่นกัน ในช่วงสิบกว่าปีก่อนนี้หนังสือ Guinness Book of Records หรือ Guinness Book of World Records จัดเป็นหนังสือรายปีที่มียอดการจำหน่ายสูงมากเพราะจัดเป็นหนังสืออ้างอิงที่ห้องสมุดแทบทุกแห่งในโลกต้องมีไว้ประจำห้องสมุดเพื่อบริการแก่ผู้อ่านที่ต้องการทราบสถิติที่เป็นที่สุดประเภทต่างๆทั่วโลกในแต่ละปี (ไม่เว้นแม้แต่ที่หอสมุดของเราค่ะ) ต่อมาในปีค.ศ. 2000 หนังสือนี้ได้เปลี่ยนเป็นชื่อใหม่ว่า “Guinness World Records”
ถึงแม้ The Guinness Book of Records จะเป็นผู้จุดพลุและครองตลาดหนังสือประเภทนี้มาอย่างยาวนานก็ตาม แต่ก็มีข้อจำกัดหลายๆอย่างเช่น การวางกฎเกณฑ์ที่ซับซ้อน ไม่เปิดรับวัฒนธรรมท้องถิ่น ใช้มุมมองอนุรักษ์นิยมและจักรวรรดินิยม มีกำลังคนไม่พอ และไม่มีพื้นที่พอสำหรับโลกใบนี้ จึงเกิดปรากฏการณ์ใหม่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาคือในหลายๆประเทศมีการจัดทำหนังสือ “Book of Records” เป็นของแต่ละประเทศขึ้น โดยเฉพาะในแถบเอเชียเรานั้นเริ่มจากประเทศมาเลเซีย ในปี 1998 เริ่มจัดทำหนัง Malaysia Book of Records ขึ้น แล้วตามมาด้วย เวียดนาม อินเดีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย จีน และประเทศไทยเราก็ได้จัดทำเช่นกัน ใช้ชื่อว่า “บันทึกไทย” หรือ “Thailand Book of Records” โดยเจ้าของลิขสิทธิ์ผู้จัดทำคือ สมาคมความคิดสร้างสรรค์ ความจำและการเล่น เมื่อปี พ.ศ. 2555 (ค.ศ.2012) ซึ่งที่หอสมุดของเรามีให้บริการค่ะ มีถึงปีล่าสุดคือ ปี 2558
การจัดทำหนังสือเล่มนี้ของไทยเรานั้นเพื่อเป็นการบันทึกเรื่องราวที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และเรื่องที่เป็นที่สุดในด้านต่างๆของไทย เพื่อเก็บเป็นประวัติทางสถิติอย่างเป็นทางการที่เชื่อถือได้ การจัดเก็บข้อมูลแบ่งเป็น 11 หมวดคือ 1. ด้านมนุษย์และสังคม 2. ด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3. ด้านการศึกษา 4. ด้านกีฬา 5. ด้านศิลปวัฒนธรรมและบันเทิง 6. ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 7. ด้านสถานที่และสิ่งก่อสร้าง 8.ด้านยานพาหนะและการคมนาคม 9. ด้านนักสะสม 10. ด้านจิตอาสา 11. ด้านสิ่งมหัศจรรย์ จัดพิมพ์เป็นหนังสือรายปี แต่ใช่ว่าประเทศไทยเราเพิ่งจะมีหนังสือประเภทนี้ก็หาไม่ แท้จริงแล้วเราเคยมีการจัดทำหนังสือแนวเดียวกันนี้มาก่อนครั้งหนึ่งแล้ว ใช้ชื่อว่า “โบแดง : บันทึกที่สุดของเมืองไทย” จัดพิมพ์ออกมาจำหน่ายเมื่อปี 2533และปี 2534 เพียงสองเล่มเท่านั้นแล้วก็หยุดจัดทำไป ถือเป็นหนังสือที่รวบรวมสถิติข้อมูลพร้อมภาพประกอบที่ดีเล่มหนึ่งเช่นกัน (ที่หอสมุดมีหนังสือชื่อนี้ให้บริการเช่นกันค่ะ)
หนังสือประเภทที่รวบรวมความเป็นที่สุดในเรื่องต่างๆของโลกใบนี้นั้นถือเป็นสิ่งที่สร้างแรงกระตุ้นและแรงบันดาลใจให้กับมนุษย์ที่ต้องการสร้างสถิติหรือต้องการทำลายสถิติที่มีผู้เคยทำไว้ก่อนหน้านี้ให้ได้ เพื่อจะได้รับการบันทึกไว้ให้คนทั้งโลกได้รับรู้และเป็นเกียรติประวัติที่ได้รับการบันทึกลงใน Guinness Book  จึงมีการสร้างสถิติแปลกๆใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา และที่ต้องขอบคุณอย่างยิ่งก็คือผู้ที่ริเริ่มจุดประกายความคิดด้วยความอยากรู้อยากเห็นแท้ๆเทียว ทำให้ท่านเจ้าของโรงเบียร์ตรากินเนสส์(Guinness) ว่าจ้างพี่น้องฝาแฝดคู่นั้นมาสร้างเรื่องราวจนเกิดเป็นหนังสือดังระดับโลก คนไทยเราก็ชอบนะเพราะว่า “สถิติมีไว้ทำลาย” แล้วก็มีให้สร้างด้วยจ้า
ขอบคุณข้อมูลส่วนใหญ่จากหนังสือ “บันทึกไทย” เลขหมู่ AC195ธ62 2556

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร