วิทยาลัยทับแก้ว
ทับเอ๋ยทับแก้ว | มาอยู่แล้วเจ้าเห็นเป็นไฉน |
“ทับ” นั้นหรือคือบ้านสำราญใจ | ทับมิได้ถมทับให้ยับเยิน |
ส่วนคำ “แก้ว” รู้แล้วหรือมิใช่ | ว่าดวงใจดวงตาน่าสรรเสริญ |
ยังหย่อนร้อยเพียงคู่ดูบังเอิญ | ลืมอัญเชิญสูรย์จันทร์นั้นลงมา |
ถึงปลายปีอย่าให้มีดาราร่วง | ใจเป็นห่วงเหตุการณ์ด้านเวหา |
อาทิตย์เคลื่อนเดือนดับลับเมฆา | ดวงดาราอย่าคล้อยตามห้ามไว้เอย |
คนที่ชอบอะไรๆ เก่าๆ เค้ามักจะบอกว่า…
………………………
วันก่อน ตอนจะกลับบ้าน เมื่อมาถึงโถงนิทรรศการที่ชั้น 1 อาคารหอสมุด
ที่ปกติก็จะมีนิทรรศการนู้นนี้ หมุนเวียนมาจัดเป็นระยะ
ยามนี้เป็นคิวของน้องพี่ชาวหอสมุดในโอกาสจะเปิดบ้านร่วมกับมหาวิทยาลัย
สิ่งที่เห็นสะดุดตาท่ามกลางข้าวของ “เก่า” ที่นำมาเตรียมจัดนิทรรศการ
คือ ภาพและคำของผู้คนที่ต่างด้วยสถานภาพ
บ้าง…ผู้บริหาร บ้าง…คณาจารย์ บ้าง…นิสิตนักศึกษา
ความสะดุดตาพาให้ต้องขยับเข้าไปยืนอ่าน…และอ่าน
แรกตั้งใจจะอ่านพอสังเขป แต่ด้วยคำและความ “คิด” ของหลายๆ ท่าน
ทำให้ต้องลัดเลาะจากคิดเริ่มต้น จนคนสุดท้าย บ้าง…อ่านไปอมยิ้มไป…สุขใจ
วันนี้ เดินผ่านไปบริเวณโถงนิทรรศการอีกครั้ง
ส่งสายตาเหลือบ เล็ง ดูสิ่งที่พี่ๆ น้องๆ บรรจงจัดวาง
เข้าใจว่าคงจะแล้วเสร็จ…ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง
ก็ให้บังเอินสายตาไปสะดุดที่โต๊ะตัวหนึ่ง เลขทะเบียนครุภัณฑ์…บ่งถึงความเก่าและขลัง
“วิทยาลัยทับแก้ว มศก. 01” วลีสั้นๆ นี้ มีความหมายมากมายในครั้งอดีต
พี่นิ ลงทุนคุกเข่า!! เปล่า…ม่ะได้ชาบู ชาบู แต่เก็บภาพไว้ระทึกจำต่างหาก
แวบที่เห็น ก็พลันให้แวบสงสัย “วิทยาลัยทับแก้ว”
คืออะไร…
ใครจะสงสัยมั้ยน๊าาา…
มารู้จัก “วิทยาลัยทับแก้ว”
แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ณ พระราชวังสนามจันทร์ เมื่อวันวาน
เริ่มแต่ต้นทางรากกำเนิดเลยละกัน
กำเนิดสถานศึกษาศิลปกรรมของชาติ ในห้วงยามสงครามโลก ครั้งที่ 2
พ.ศ. 2486 ในระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 2 มหาวิทยาลัยศิลปากร ถือกำเนิดขึ้น
เพื่อ“ฟื้นฟูบำรุงศิลปกรรมของชาติให้เจริญรุ่งเรือง
และเพาะศิลปินผู้ทรงวิทยาคุณให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น”
มีหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติ เมื่อ 5 ตุลาคม 2486
และประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 12 ตุลาคม 2486 คือ
“จัดการศึกษาวิชาประติมากรรม จิตรกรรม ดุริยางคศิลป
นาฏศิลป วิชาโบราณคดี และวิชาช่างศิลปอย่างอื่น”
ก้าวย่าง 22 ปี ในพื้นที่เขา…อาคารเรา
อาคารของมหาวิทยาลัยเมื่อแรกก่อตั้งสร้างขึ้นในที่ดินของกรมศิลปากร
ส่งผลให้พื้นที่ซึ่งคับแคบอยู่แล้วคับแคบยิ่งขึ้นไปอีก แม้ต่อมามหาวิทยาลัยจะได้ที่ดินผืนติดกัน
คือ วังท่าพระของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
มาเป็นส่วนของมหาวิทยาลัย แต่การขยายงานก็ทำได้เพียงเล็กน้อยจึงมีโครงการย้ายมหาวิทยาลัย
2 ปีผ่าน กับโครงการขยับขยาย (2508 – 2509)
28 กันยายน 2508 มหาวิทยาลัยศิลปากร เสนอโครงการย้ายมหาวิทยาลัยต่อรัฐบาล
และครม.ได้มีมติให้ ศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีเป็นคนแรกของมหาวิทยาลัย
(เดิมอธิบดีกรมศิลปากรทำหน้าที่ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัย)
รับไปพิจารณาปรับโครงการย้าย เสนอ ครม. เมื่อ 18 มกราคม 2509
เป็น “โครงการปรับปรุงมหาวิทยาลัยศิลปากร”
6 ปีก่อร่าง ศิลปากร ณ พระราชวังสนามจันทร์ตามหลักสากล (2510 – 2515)
@ จัดการศึกษาทุกสาขาวิชาไม่จำกัดเพียงศิลปะและโบราณคดี
@ ขยายปริมาณรับนักศึกษา เตรียมรับนักศึกษาเพิ่มจากราวปีละ 125 คน เมื่อแรกตั้ง
โดยคาดการณ์เมื่อสิ้นสุดโครงการ พ.ศ. 2516 จะมีนักศึกษา ประมาณ 2,655 คน
@ มหาวิทยาลัยแห่งใหม่ตั้งอยู่ในภูมิภาคจึงใช้ระบบวิทยาลัย (College System)
โดยจัดบริการเรื่องการกินอยู่ เป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาไกลบ้าน
สายตายาวไกล ม.ล.ปิ่นฯ วางไว้ใน…วิทยาลัยทับแก้ว
@ จังหวัดนครปฐม เป็นศูนย์กลางทางโบราณคดีและศิลปะที่สำคัญของประเทศ
เป็นที่ประดิษฐานพระปฐมเจดีย์ เหมาะเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย
@ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยทางโบราณคดีและศิลปะทั้งปวง
จึงสร้างอนุสาวรีย์พระพิฆเณศ เทพเจ้าแห่งศิลปวิทยาไว้เป็นศูนย์กลางของพระราชวัง
ทั้งยังเป็นตราของมหาวิทยาลัย การใช้สถานที่ในพระราชวังจึงคงรักษาในสภาพ
เหมือนครั้งรัชสมัยเพื่อให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ
@ ขณะนั้นพระราชวังสนามจันทร์เป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัด หน่วยงานต่างๆ
รวมทั้งบ้านพักข้าราชการโรงเรียน และบางส่วนให้เอกชนเช่า
การก่อสร้างอาคารของวิทยาลัยจึงสร้างขึ้นทางด้านหลังพระที่นั่งและรอบนอก
มีการวางผังและใช้ที่ดินทีละส่วนโดยขอความร่วมมือจากหน่วยราชการ
และเอกชนที่อยู่เดิมอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อมิให้เดือดร้อน
@ ระยะต้นโครงการสร้าง “วิทยาลัยทับแก้ว” ขึ้นเป็นแห่งแรก
และใช้ชื่อวิทยาลัยเช่นเดียวกับ “พระตำหนักทับแก้ว” เพื่อเชิดชูนาม
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่พระตำหนัก
ด้วยอาคารหลังแรกของวิทยาลัยแห่งใหม่นี้สร้างติดกับพระตำหนักดังกล่าว
วิทยาลัยทับแก้วเปิดรับนักศึกษาหญิง ในปีการศึกษา 2511 พร้อมตั้งคณะอักษรศาสตร์ขึ้น
แต่ยังมิได้สร้างวิทยาลัยเฉพาะของนักศึกษาชายจึงใช้วิทยาลัยทับแก้วร่วมกัน
ทั้งนี้ ตามกำหนด 6 ปี จะมีวิทยาลัยหญิงและชาย ประเภทละ 2 วิทยาลัย 4 คณะวิชา
คือ อักษรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ดุริยางคศิลป ครุศาสตร์ โดยกำหนดให้ทุกคณะ
สอนวิชาศิลปะและโบราณคดีด้วย ทั้งนี้เมื่อตั้งคณะครุศาสตร์
ก็จะได้ครูที่มีความรู้ทางศิลปะและโบราณคดีไปสอนในโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ
เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้เข้าถึงจิตใจของนักเรียนอย่างทั่วถึง
ระบบวิทยาลัย…สายใยผูกพันนักเรียนไกลบ้าน
รูปแบบการจัดมหาวิทยาลัยโดยคำนึงถึงประโยชน์และสภาพความเป็นอยู่ของสังคมขณะนั้น
ในหลายประเทศรวมทั้งไทย เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ใช้ระบบวิทยาลัยในมหาวิทยาลัย
แต่ละมหาวิทยาลัยมีวิทยาลัยภายใต้การดูแลโดยทุกวิทยาลัยจะมีอธิการของตนปกครอง
อธิการและอาจารย์มีหน้าที่สอนในหลายวิชาควบคู่ไปกับการปกครองนักศึกษาในวิทยาลัยตนเอง
ดูแลเรื่องกินอยู่ ช่วยเหลือแนะนำในสิ่งที่ควรรู้ควรทำ ตลอดจนดูแลความประพฤติ
ประดุจผู้ปกครองที่รับช่วงต่อจากพ่อแม่
ปกครองดูแล…สู่ผลแห่งสำเร็จศึกษาอันคณาจารย์ทุ่มเท
การดูแลนักศึกษาภายใต้ระบบวิทยาลัยคำนึงถึง
ความสำเร็จของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาของมหาวิทยาลัย
นักศึกษาคนไหนอ่อนวิชาใดก็ช่วยแก้ไขอย่างดีที่สุด ทั้งอบรมบ่มเพาะสร้างความเป็นผู้นำ
ในระดับที่เหมาะควรแก่การออกไปประกอบอาชีพ มีการเสริมการสอน Liberal Arts เป็นวิชาทั่วไป
ที่นอกเหนือจากหลักสูตรปริญญาของมหาวิทยาลัย
วิชาการ การสอน และวิจัย…พันธกิจหนึ่งเดียวของมหาวิทยาลัย
หน้าที่หลักของคณะวิชา คือ งานวิชาการด้านสอน สอบ และวิจัยเท่านั้น
มหาวิทยาลัยจะเป็นผู้คัดสรรอาจารย์จากวิทยาลัยว่าท่านใดเหมาะสมแก่คณะและวิชาใด
ส่วนนักศึกษานั้นนอกจากการศึกษาในคณะของตนแล้ว ต้องไปเรียนรู้สิ่งอื่นๆ
ตามกรอบเวลาที่กำหนด เช่น ไปฟังปาฐกถาตามวิทยาลัยต่างๆ
จากรอบรู้ สู่รอบรัก…สมัครสมาน บรรดาลมิตร
อาจารย์ในแต่ละวิทยาลัยต่างมีหน้าที่สอนให้แก่คณะวิชาต่างๆ
ในวิทยาลัยหนึ่งๆ นักศึกษาต่างคณะจึงมีโอกาสพบกันเมื่อต้องศึกษาร่วมวิชา
ทำให้ต่างเรียนรู้จักกันอย่างกว้างขวางและใกล้ชิดไม่จำกัดเพียงในวิชาของตน
ตรงตามหลักการอุดมศึกษา และก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง
เมื่อจบการศึกษาไปประกอบอาชีพก็จะไม่มีการแบ่งแยกความเป็นคณะ
ทับแก้ว…วิทยาลัย ที่เหลือไว้เพียงตำนาน
คำว่า “วิทยาลัย” ในระบบของมหาวิทยาลัยเป็นคำที่ไม่คุ้นเคยและไม่เข้าใจ
ด้วยในขณะนั้น “วิทยาลัย” มักถูกใช้เป็นคำต่อท้ายชื่อโรงเรียนมัธยมบ้าง
เป็นชื่อสถาบันอุดมศึกษาที่มีขนาดเล็กกว่ามหาวิทยาลัยบ้าง
หรือเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนซึ่งยังไม่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น
นักศึกษาจำนวนมาก…ไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นเด็กวิทยาลัย…เพราะเรียนอยู่มหาวิทยาลัย
แม้แต่อาจารย์…บางท่านก็อาจรู้สึกเช่นกัน
ปีการศึกษา 2513 “วิทยาลัยทับแก้ว” จึงถูกยกเลิก เปลี่ยนเป็น “กองงาน” ณ พระราชวังสนามจันทร์
ส่วนคณะวิชาต่างๆ ก็ทำหน้าที่การเรียนการสอนและการบริหาร
ดังเช่นมหาวิทยาลัยทั่วๆ ไปนับแต่นั้นมา
ห้องสมุดเสียง ก้าวนวัตกรรมที่ล้ำเกินกาล
ที่วิทยาลัยทับแก้ว ศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่นฯ ได้คิดทำ “ห้องสมุดเสียง” ขึ้น
โดยรวบรวมเสียงปาฐกถา คำปราศรัยที่สำคัญ ผลการสัมมนา รวมทั้งเพลงต่างๆ
และจัดเตรียมหมุนเวียนคราวละ 50 รายการ เพื่อเสริมความรู้ การวิจัย และความบันเทิง
ผู้สอนสามารถเรียกฟังเสียงต่างๆ จากอุปกรณ์โดยกดไปตามลำดับเลขของรายการ
เช่น การสอนภูมิศาสตร์เรื่องประเทศฝรั่งเศส ก็อาจกดปุ่มเรียกฟังเสียงสนทนาฝรั่งเศสมาฟังในห้องเรียน
หรือเมื่อนักศึกษาอยู่ในหอนอน ก็อาจกดเรียกฟังเพลง หรือรายการเสียงต่างๆ ที่จัดไว้มาฟังได้
เทคโนโลยีล้ำสมัยแห่งแรกของไทยนี้ ได้มีการทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องรับฟังเสียง
จากทับแก้วไปติดตั้งที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานด้วย
ดังมีพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับเรื่องเสียงที่เก็บว่า
“ถ้าจะเก็บเสียงของฉันไว้ที่นี่ ก็จะสนับสนุน ไม่ให้ที่อื่นอีก”
ห้องสมุดเสียงจึงนับเป็นอีกหนึ่งตำนานที่ต้องจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของวิทยาลัยทับแก้ว
ปัจจุบัน แม้จะไม่สามารถใช้งานเสียงต่างๆ ได้ในรูปแบบเดิม แต่ก็ยังคงมีต้นฉบับสำเนาเสียงบางส่วน
ซึ่งหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ได้นำมาอนุรักษ์โดยแปลงเป็นดิจิตอลไฟล์ไว้
มรดก “ปฏิทินล้านปี” การคำนวณเดือนปีที่ไม่ต้องคำนวณ
ศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่นฯ นอกจากท่านจะเป็นนักการศึกษาที่มีความคิดก้าวนำสมัยแล้ว
ความเป็นนักประดิษฐ์คิดค้นของท่านก็นับเป็นอานิสงค์มรดกแห่งวิทยาลัยทับแก้ว
ด้วยเหตุที่ท่านสนใจเรื่องปฏิทินระบบจูเลียนและระบบเกรกอเรียน จึงได้ค้นคว้าสูตร
สำหรับหาวันเดือนและปี และเขียนบทความเกี่ยวกับสูตรที่คิด เรื่อง Everlasting calendar
เผยแพร่ในวารสาร “สามัคคีสาร” ของนักเรียนไทยในอังกฤษ
ต่อมาจึงคิดประดิษฐ์เครื่องมือ “ไม้บรรทัดเลื่อน (Slide rules)” ใช้แทนการคำนวณสูตรดังกล่าว
ด้วยวิธีการง่ายๆ เพียงเลื่อนไม้บรรทัดไปมา 4 ครั้ง ก็จะได้ปฏิทินของวันเดือนปีที่ต้องการ
ท่านประดิษฐ์ไม้บรรทัดเลื่อนนี้ด้วยไม้ขนาดใหญ่ มอบให้วิทยาลัยทับแก้ว 1 อัน
ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ 1 อัน และจัดทำขนาดตั้งโต๊ะด้วยเหล็กกล้า
ทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 1 อัน
“ปฏิทินล้านปี” ของวิทยาลัยทับแก้ว ปัจจุบันจัดแสดง
ณ บริเวณโถงหน้าห้องอนุสรณ์ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ชั้น 4
อาคารหม่อมหลวงปิ่นฯ หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร
หมายเหตุ
ที่มาของข้อมูลหลัก เรื่อง วิทยาลัยทับแก้ว ผู้เขียนคัดสรรและปรับปรุงจาก
“บันทึกเรื่องการสร้างมหาวิทยาลัยศิลปากร ณ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม”
ของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อธิการบดี (ในขณะนั้น) ซึ่งได้จัดพิมพ์เผยแพร่
ในวันประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารหลังแรก เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พุทธศักราช 2509
———-
ข้อมูลอ้างอิง
ปิ่น มาลากุล, ม.ล. (2509). บันทึกเรื่องการสร้างมหาวิทยาลัยศิลปากร ณ พระราชวังสนามจันทร์
จังหวัดนครปฐม. นครปฐม: มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ปิ่น มาลากุล, ม.ล. (2549). อัตชีวประวัติของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล.
กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เทพนิมิตรการพิมพ์.
มหาวิทยาลัยศิลปากร. (2538). หนังสือที่ระลึกในงานนิทรรศการ ประวัติ ชีวิต และผลงาน
ฯพณฯ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล . นครปฐม: มหาวิทยาลัยศิลปากร.
2 thoughts on “วิทยาลัยทับแก้ว”
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.
เจ้าหน้าที่ที่กำลังค้นตู้สลับสายใช่พี่วีระพันธ์ (น้าวี) หรือเปล่าคะ
ใช่ค่ะ พี่วีรพันธ์ ดุลยากุล
เจ้าตัวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภาพราว พ.ศ.2526-2530 สมัยเพิ่งมาทำงานค่ะ
ปัจจุบันพี่วี ดำรงตำแหน่งนักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ
หัวหน้างานบริการการสอน สนามจันทร์ (รักษาการ)
และกำลังจะเกษียณอายุราชการปีงบฯ 2559 นี้ค่ะ
พี่วีบอกสั้นๆ เรื่องห้องสมุดเสียงว่า
“วันเค้ามารื้อของ บอกแบบไม่อายเลยน้ำตาแทบร่วง”
เรื่องเก่าที่ดีงาม กับวันเวลาที่ผ่านไป
เป็นเรื่องที่คิดว่าพวกเราบุคลากรทุกคนจดจำรำลึก
อดีตผ่านไป แต่ทำอย่างไรจะรักษาคุณค่าของอดีตไว้ เป็นเรื่องน่าคิดค่ะ
การพัฒนาใดใด ไม่สามารถเกิดได้โดยไร้อดีตเป็นจุดเริ่มนะคะ