WorldCat : Worldshare “The OPAC of OPACS”
WorldCat เป็นฐานข้อมูลบรรณานุกรมที่ใหญ่ที่สุดที่รวบรวมทรัพยากรของห้องสมุด สมาชิกเครือข่ายของ OCLC จำนวน 72,000 แห่งใน 170 ประเทศในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ผู้รับบริการสามารถสืบค้น เข้าถึงและเปิดอ่านบทความในฐานข้อมูลที่ทางสำนักหอสมุดบอกรับ จากผู้ให้บริการต่างๆ ได้ทันที ทำให้สะดวก รวดเร็ว และยังเพิ่มการให้บริการ ในรูปแบบ InterLibrary Loan ในกรณีที่ไม่มีรายการที่ต้องการในฐานข้อมูลของห้องสมุดนั้นๆ ก็สามารถทำการจองหรือยืม ทรัพยากรในลักษณะรูปเล่ม หรือขออนุมัติเพื่อยืมสิ่งพิมพ์ หรือขอบทความไปยังห้องสมุดอื่นๆ ในสมาชิกในกลุ่ม เครือข่าย ด้วยบริการ WorldShare
จากเดิม OPAC จะเป็นเพียงระบบฐานข้อมูลเฉพาะของห้องสมุดมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเท่านั้น ไม่มีความร่วมมือในการเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อใช้ข้อมูลร่วมกัน ซึ่งยังไม่สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันพฤติกรรมผู้ใช้บริการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับมีแหล่งข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใข้บริการในการเข้าถึงข้อมูล ดังนั้น เพื่อให้ผู้ใช้บริการยังคงเห็นความสำคัญของห้องสมุด OPAC ของห้องสมุดจึงต้องมีการขยับและปรับตัวเองเพื่อตอบสนองความต้องการแก่ผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด โดยการเพิ่มเติมข้อมูล แหล่งข้อมูล การรวบรวมข้อมูล ตลอดจนการค้นคืนข้อมูลใน OPAC ให้ได้มากขึ้น คือ ค้นที่นี่ที่เดียวผู้ใช้บริการก็สามารถได้รับข้อมูลครบถ้วนแล้ว เสมือนเป็น One Search / Single search จึงถือเป็น OPAC ยุคใหม่ที่เป็นได้มากกว่า OPAC โดย worldcat ได้ดึงความสามารถของเทคโนโลยีในปัจจุบันกับความร่วมมือในการรวมแหล่งข้อมูลมาใช้กับห้องสมุดในระดับมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ OPAC
ปัจจุบันห้องสมุดมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่เป็นสมาชิกเครือข่าย OCLC อาทิเช่น สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล, สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นต้น สำหรับมหาวิทยาลัยศิลปากร ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกฯ แต่มหาวิทยาลัยเราก็มีเครื่องมือ One Search เพื่ออำนวยความสะดวกในการสืบค้นฐานข้อมูลในหน้าจอเดียวแก่ผู้ใช้บริการเช่นกัน และยังการมีความร่วมมือกับข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค จึงเกิดการรวม OPAC ของห้องสมุดเครือข่ายฯ และมีเครื่องมือ One Search ที่ชื่อว่า PULINET Catalog Sharing ซึ่งมีหลักการทำงาน One Search เหมือนกันแต่อาจแตกต่างกันไปตามจำนวนและระดับของเครือข่ายความร่วมมือนั้นๆ
ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก
http://portal.nurse.cmu.ac.th/library
https://kannikabuuis.wordpress.com/
http://www.worldcat.org/