พัฒนาการของพจนานุกรมไทย
ในช่วงรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 คนไทยยังไม่ไดทำพจนานุกรมขึ้นใช้เอง พจนานุกรมไทย ภาษาเดียวและหลายภาษาชาวต่างประเทศเป็นผู้ทำขึ้นทั้งสิ้น คนไทยทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยด้านภาษา (Language assistand) เท่านั้น คนไทยเริ่มทำพจนานุกรมไทย-ไทย และพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน พ.ศ. 2434 จึงกล่าวได้ว่าคนไทยทำพจนานุกรมภาษาประจำชาติ (national language) ขึ้นใช้มาประมาณ 100 กว่าปีแล้ว และได้มีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้นตลอดมา
ในรัชกาลที่ 5 มีพจนานุกรมฉบับทางราชการ 2 ฉบับ ฉบับ พ.ศ. 2434 ซึ่งเป็นฉบับแรก และฉบับ พ.ศ. 2444 ซึงเป็นฉบับปรับปรุงใหม่ เป็นที่น่าสังเกตว่าในตอนแรกเราใช้คำว่า “พจนานุกรม” ซึ่งเป็นศัพท์บัญญัติ ตรงกับคำว่า “dictionary” ในภาษาอังกฤษ แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “ปทานุกรม” ในสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 สามารถสืบค้นปทานุกรมได้ 3 ฉบับ ฉบับที่มีชื่อเสียงที่สุดและใช้อ้างอิงมากที่สุด แม้แต่ในวงวิชาการของสมัยปัจจุบัน คือ ปทานุกรม กรมตำรา กระทรวงธรรมการ พ.ศ. 2470
การทำพจนานุกรมในสมัยแรก มีจุดประสงค์เพียงเพื่อให้เป็นตำราสำหรับค้นคว้าหาความหมายของคำ และวิธีสะกดคำ ผู้จัดทำได้พยายามรวบรวมวิธีสะกดคำแบบต่างๆ ที่ใช้กันตามจริงในสมัยนั้นมาลงไว้ในพจนาุกรมทั้งหมด ศัพท์ส่วนใหญ่ที่ปรากฎในพจนานุกรมมักเป็นศัพท์ทางศาสนาและวรรณคดีซึ่งคนส่วนมากไม่ทราบความหมาย นอกจากนี้ยังมีเหตุผลอื่นอีก เข่น ผู้จัดทำซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมศึกษาธิการส่วนมากเป็นเปรียญจึงไม่ได้ให้ความสนใจกับศัพท์ทั่วไปที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันซึ่งคิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องใส่ไว้ในพจนานุกรม เพราะคนไทยก็ทราบความหมายและวิธีสะกดคำดีอยู่แล้ว
ต่อมาวัตถุประสงค์ของการทำพจนานุกมไทยฉบับทางราชการได้เปลี่ยนแปลงไปคือ นอกจากวัตถุประสงค์เดิมแล้ว ยังเพิ่มวัตถุประสงค์ที่จะวางมาตรฐานใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเหมาะสมที่สุดเข้าไปด้วย ดังนั้นแนวคิดทางด้าน “บรรยายหรือพรรณาตามความเป็นจริง” (descriptive) จึงเปลี่ยนเป็น “วางมาตรฐานการใช้ที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม” (prescriptive)
ที่อ้างอิง : ราชบัณฑิตยสถาน. วิวัฒนาการของพจนานุกรมไทย. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2555