การนอนหลับสำคัญอย่างไร

1
เห็นหนังสือเล่มนี้แล้วเกิดความสงสัยว่าแค่เรื่องการนอนหลับตามที่เคยรับรู้ว่าควรนอนพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมงนั้นยังไม่ถูกต้องอีกหรืออย่างไร จึงอยากอ่านให้รู้เพิ่มเติมและพบว่าสิ่งที่เคยปฏิบัติมานั้นเข้าใจผิดแทบทั้งสิ้น โดยผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นนักกิจกรรมบำบัด และรักษาโรคทางสมองซึ่งเกิดจากการได้รับความกระทบกระเทือนจากอาการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ การฟื้นฟูสมองจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณเซลล์สมองและเส้นประสาท โดยสิ่งที่สำคัญอย่างมากในการฟื้นฟูสมรรถภาพของสมองคือ การนอนหลับ
การนอนหลับไม่ใช่แค่เพิ่มเวลานอนหลับพักผ่อนเท่านั้น เนื้อหาในเล่มนี้จะบอกพื้นฐานเทคนิคการนอนหลับ อย่างเป็นรูปธรรมตามหลักทางประสาทวิทยาศาสตร์การรู้คิด (Cognitive neuroscience) ด้วย 3 ขั้นตอนง่าย ๆ

  • ขั้นตอนที่ 1 ไม่นำสิ่งของใด ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับเข้าไปยังที่นอน
  • ขั้นตอนที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการนอนหลับให้ได้มากกว่า 85%
  • ขั้นตอนที่ 3 ตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวันและนอนให้เร็วขึ้นแม้เพียงแค่ 15 นาที

บทที่ 1 อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลไกของสมาธิและความสามารถของการสับเปลี่ยน กับการนอนหลับ ในสมองของพวกเรานั้น สมองกลีบหน้าจะทำงานอย่างเต็มที่ ในทางประสาทวิทยาศาสตร์การรู้คิด ได้รวมคำว่า “สมาธิ” และ “ความสามารถในการสับเปลี่ยน” เป็นส่วนหนึ่งของความสนใจประกอบด้วย 4 อย่างได้แก่ ความสนใจแบบเลือกเฟ้น , ความสนใจแบบต่อเนื่อง = สมาธิ, ความสนใจแบบควบคู่ คือมุ่งไปที่เป้าหมาย ขณะเดียวกันมุ่งความสนใจไปอีกสิ่งหนึ่ง, ความสนใจแบบเบนเข็ม คือมุ่งความสนใจไปที่หลากหลายเป้าหมาย ขณะเดียวกันมุ่งโฟกัสตามความจำเป็น = ความสามารถในการสับเปลี่ยน สมาธิจึงถูกนิยามว่า “เป็นความสามารถในการเพิกเฉยต่อข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้อง”
ความสัมพันธ์ระหว่างสมาธิกับการนอนหลับ เวลาที่เราอดนอนหรือนอนหลับไม่เพียงพอ จะมีสมาธิลดลง ซึ่งเจตคติผิด ๆ เกี่ยวกับการนอนหลับได้แก่ คิดว่าถึงไม่ได้นอนหลับแต่นอนอยู่บนที่นอนร่างกายจะได้พักผ่อนมากกว่า  ดังนั้นเมื่อตื่นนอนจึงควรลุกออกจากที่นอนให้เร็วที่สุด, คิดว่าต้องเพิ่มเวลาในการนอนหลับครั้งละครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง ทางการแพทย์คิดปริมาณการนอนหลับโดยรวมใน 1 เดือนหรือ 1 ปี ว่านอนไปแล้วมากน้อยแค่ไหน ไม่ได้นับรวมใน 1 วัน ดังนั้นเมื่อนอนเร็วขึ้นวันละ 15 นาทีใน 1 เดือน ก็จะมีเวลานอนเพิ่มขึ้นและจะช่วยแก้ปัญหาการนอนหลับไม่เพียงพอที่เรื้อรังให้หมดไปได้, นอนหลับยากและมีเวลานอนน้อยต้องรีบนอนให้เร็ว ความเข้าใจนี้ไม่ถูกร่างกายมีอุณหภูมิแกนกลางที่ลดต่ำลงถึงจะหลับ ดังนั้นจึงไม่ควรเข้านอนทั้งที่ยังไม่รู้สึกง่วง, การง่วงเหงาหาวนอนเป็นเพราะนอนหลับไม่พอ วันหยุดจึงนอนยาวถึงกลางวัน วิธีนี้เรียกว่า “การนอนตุน” ทำให้เกิดปัญหาการตื่นเช้าในวันทำงาน ซึ่งจะทำให้นาฬิกาชีวิตเคลื่อนออกไป กลางคืนก็จะนอนหลับได้ไม่ลึก จึงไม่สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายได้ไม่เต็มที่, การเข้านอนให้ตรงเวลาทุกวันเพื่อใช้ชีวิตที่ถูกสุขนิสัย เวลาง่วงนอนจะถูกกำหนดจากเวลาที่ได้รับแสงในตอนเช้า สิ่งที่ควรคำนึงคือการตื่นนอนให้ตรงเวลา
บทที่ 2 เป็นวิธีการทดลองปฏิบัติจริงตามเทคนิคทั้ง 3 ขั้นตอนที่จะช่วยปรับปรุงการนอนหลับให้ดียิ่งขึ้นซึ่งไม่ว่าใครจะมีงานล้นมือแค่ไหนก็สามารถทำได้ทันที โดยไม่นำสมาร์ทโฟน หนังสือ หรือเครื่องเล่นซีดีเข้าไปยังที่นอนเพื่อให้สมองรับรู้ว่าเมื่อใดที่เข้าไปในเขตที่นอนแล้วการนอนหลับจะเริ่มขึ้น แม้แต่นาฬิกาปลุกก็ให้ไว้นอกห้องนอนแล้วใช้วิธีท่องเวลาตื่นนอนไว้ในใจ 3 ครั้ง ว่าจะตื่น 6 โมงเช้า สมองจะเริ่มหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลตั้งแต่เวลาตีสามเพื่อเตรียมตัวสำหรับการตื่นนอนแล้วจะตื่นได้อย่างสดชื่น กลไกการตื่นนอนยิ่งฝึกก็จะยิ่งพัฒนาให้เก่งขึ้น ต่อไปแทบไม่ต้องใช้นาฬิกาปลุก และเรื่องการอ่านนิทานให้เด็กฟังก่อนนอนก็ต้องทำนอกที่นอน ต้องเน้นย้ำให้สมองรับรู้ว่า “ที่นอน=การนอนหลับ” และถ้าเข้านอนแล้วรู้สึกว่านอนไม่หลับให้ลุกออกจากที่นอนแล้วให้เปิดไฟเฉพาะที่ตัวเองนั่งแต่อย่าเปิดไฟให้สว่างทั้งห้อง ไม่เปิดทีวีหรือคอมพิวเตอร์ ให้อ่านนิตยสารหรือหนังสือ หนังสือพิมพ์ เมื่อรู้สึกง่วงก็เข้านอนเพื่อให้สมองเน้นย้ำว่า “ที่นอน=การนอนหลับ” และตอนเช้าเมื่อตื่นนอนให้ไปใกล้หน้าต่างสมองจะได้รับรู้ว่าได้แสงแดดทำให้นาฬิกาชีวิตเริ่มขึ้น ในเวลา 2 สัปดาห์ต้องให้สมองรับรู้ว่า    “ที่นอน=การนอนหลับ” ขั้นที่ 3 ตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวันและนอนให้เร็วขึ้นแม้เพียง 15 นาที ปรับนาฬิกาชีวิตให้ตรงกันทุกวัน
บทที่ 3 แนะนำวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วย 5 สวิตช์ แห่งการนอนหลับและวิธีเลิกพฤติกรรมซึ่งเป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับ ในสมองประกอบด้วยสารสื่อประสาททั้งห้าได้แก่ นอร์อะดรีนาลีน ช่วยให้สมองตื่นตัว สร้างสมาธิ, อะเซทิลโคลีน เป็นตัวกระตุ้นให้ซีรีบัมตื่นตัวจากก้านสมองจึงทำให้ตื่นกลางดึก, เซเรโทนิน เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อเมื่อนั่งยืดหลังตรง ยืดเส้นยืดสายความง่วงจะหายไป, โอเรซิน เกี่ยวข้องกับความอยากอาหาร ถ้ากินขนมกลางดึกการหลั่งโกรทฮอร์โมนจะน้อยลง, ฮีสตามีน ถ้าหลั่งออกมามากอันเป็นผลจากอาการแพ้จะกระตุ้นให้สมองตื่นตัวและนอนไม่หลับ
กลไกของสมองที่ทำให้เลิกนอนดึกไม่ได้เกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทชื่อ โดปามีน คือสารที่สร้างความรู้สึกคาดหวัง ในตอนแรกเราทำพฤติกรรมนั้นเพราะชอบ ต่อจากความชอบจะเปลี่ยนเป็นความต้องการ ถ้าไม่ทำจะหงุดหงิด เช่น เห็นสิ่งของโฆษณาให้หลับได้ก็สั่งซื้อมาชิ้นแล้วชิ้นเล่าแต่ยังนอนไม่หลับอยู่ดี วิธีแก้ให้นำของที่ไม่เกี่ยวข้องการนอนออกไปข้างนอก
บทที่ 4 ความสำคัญของการนอนหลับที่ขาดไม่ได้สำหรับคนทำงาน  จากประสบการณ์จริงในการรักษาโรคทางสมอง  สำหรับมนุษย์ออฟฟิศแล้วสิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าการนอนไม่หลับคือ “การนอนหลับไม่เพียงพอ” หากมีอาการ 3 ข้อนี้ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน ได้แก่ รู้สึกง่วงนอนอย่างมากในช่วงกลางวัน, วันหยุดสุดสัปดาห์จะนอนหลับยาวกว่าวันธรรมดา และหลับไปโดยใช้เวลาไม่ถึง 8 นาที จะพบว่ามีสมาธิลดลง เหนื่อยง่ายและอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ซึ่งคนกลุ่มนี้เมื่อเป็นเรื้อรังนาน ๆ มีโอกาสจะทำให้กลายเป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลได้ แล้วทำให้เกิดเป็นโรคนอนไม่หลับแทรกซ้อนขึ้นมาอีก
ผู้เขียนยกตัวอย่างงานวิจัยคนสองกลุ่ม กลุ่มแรกมีปัญหาการนอนหลับ กับกลุ่มที่ไม่มีปัญหาการนอนหลับ ผลจากการนอนไม่หลับในช่วงอายุ 20 จะปรากฏในช่วงอายุ 40 และมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า จึงต้องฝึกการนอนหลับตาม 3 ขั้นตอนข้างต้นที่กล่าวมาแล้ว
บทที่ 5 เรื่องความสัมพันธ์ของการนอนหลับกับการเกิดโรคภัยไข้เจ็บและอาการเจ็บป่วยในชีวิตประจำวัน พฤติกรรมง่าย ๆ ที่จะช่วยป้องกันโรคและอาการเจ็บป่วย การนอนหลับที่ไม่เพียงพอมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการเกิด 5 โรคร้ายแรงที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก (โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็งและโรคประสาท)  ไม่ควรนอนเปิดไฟเพดานหลอดฟลูออเรสเซนส์ขณะนอนหลับ คนที่ปิดไฟแล้วนอนไม่หลับให้ใส่ปลอกขาปิดคลุมตั้งแต่เข่าไปจนถึงข้อเท้า หรือถุงเท้ายาวที่เปิดนิ้วเท้าทำให้ข้อเท้าอบอุ่น หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมงจะเริ่มรู้สึกง่วง ให้สมองจดจำวิธีการนอนหลับแบบนี้
การป้องกันโรคเบาหวาน ควรตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน  ผู้ใหญ่ที่แข็งแรงหากเพียงแต่อดนอนหรือนอนน้อยก็ส่งผลให้อินซูลินลดลงและระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น เมื่อนอนหลับไม่เพียงพอฮอร์โมนที่ควบคุมความรู้สึกหิวและอิ่มที่ชื่อ “เลปติน”ลดลงและหากเป็นต่อเนื่องยาวนานจะส่งผลให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน
การป้องกันโรคหัวใจ ตอนเช้าเพิ่มอุณหภูมิแกนกลางร่างกายด้วยเครื่องดื่มอุ่น ๆ สักแก้วจะช่วยสร้างความอบอุ่นให้แก่อวัยวะภายในได้โดยตรง
การป้องกันโรคหลอดเลือดในสมองตีบ หลีกเลี่ยงการกินอาหารในช่วงดึก หมายถึงการกินอาหารในเวลาหลังจากที่ตื่นนอนแล้ว 14 ชั่วโมง คนที่ตื่นนอนเวลา 6 โมงเช้า คือเวลา 2 ทุ่มที่ไม่ควรกินอาหารแล้ว
บทสุดท้าย เป็นการยกตัวอย่างจริงของกลุ่มคนที่มีชีวิตและการทำงานเปลี่ยนแปลงไปด้วยเทคนิคการนอนหลับ 3 ขั้นตอนการนอนหลับจะเปลี่ยนชีวิตคุณได้อย่างไร เมื่ออายุมากขึ้นเวลาในการนอนหลับจะเริ่มรวนอย่างมากในผู้หญิงตั้งแต่อายุ 40 และผู้ชายตั้งแต่อายุ 55 ปี ผู้เขียนสรุปสาเหตุว่าเกิดจาก 2 ข้อ หนึ่งคือการเผาผลาญพลังงานที่จำเป็นพื้นฐานในร่างกายลดลง  สองเกิดจากการทำงานของสมองในระหว่างที่กำลังนอนหลับมีการจัดระเบียบความจำ  คนอายุมากขึ้นสะสมประสบการณ์ต่าง ๆ มามาก มีการจัดการมาเป็นอย่างดี ข้อมูลที่สมองจำเป็นต้องจัดการจึงมีไม่มาก จึงคิดว่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่ระยะเวลาการนอนหลับจึงสั้นลง
หนังสือเล่มนี้สรุปว่าหากสามารถบริหารจัดการการนอนหลับซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ภายในตัวเราได้อย่างถูกวิธีก็จะทำให้สามารถแสดงพลังความสามารถที่แท้จริงของตัวเองออกมาและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้
สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมที่เลขเรียก  RA786 ซ72

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร