ความเป็นมาของบาร์โค้ด

บาร์โค้ด (Barcode) ในภาษาไทยเรียกว่า รหัสแท่ง คือสัญลักษณ์แทนข้อมูลที่เป็นรหัสเลขฐานสอง(Binary codes)ในรูปแบบของเส้นแถบสีดำและสีขาวที่ขนานกันหลายๆเส้นในแนวตั้ง มีความหนาบางและความห่างของช่องไฟต่างกันวางเรียงกันอย่างมีกฎเกณฑ์  สามารถเก็บข้อมูลและอ่านข้อมูลจากแถบบาร์โค้ดได้รวดเร็วและมีความน่าเชื่อถือสูงเป็นระบบมาตรฐานสากลที่นิยมใช้กันทั่วโลก ระบบบาร์โค้ดจะใช้ควบคู่กับเครื่องอ่านที่เรียกว่า เครื่องยิงบาร์โค้ด (Scanner) เจ้าบาร์โค้ดที่เราเห็นกันจนคุ้นตาและช่วยอำนวยความสะดวกอย่างรวดเร็วจนน่าอัศจรรย์นี้ มีประวัติการคิดค้นและประดิษฐ์ออกมาให้คนทั้งโลกได้ใช้และมีพัฒนาการอย่างไรนั้นน่าสนใจไม่น้อยเช่นกันเราลองย้อนไปหาที่มากันค่ะ
การประดิษฐ์บาร์โค้ดนั้นมีจุดเริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 1932 มาจาก Wallace Flint แห่ง Harvard Business School เขาได้เสนอโครงการวิธีการเลือกสินค้าที่ต้องการจากรายการด้วยการใช้บัตรเจาะรูเป็นตัวกำหนดรหัสสินค้า เมื่อลูกค้าเลือกที่จะซื้อสินค้าชนิดใดก็นำบัตรมาใส่ลงเครื่องอ่าน ระบบก็จะดึงเอาสินค้าออกมาจากห้องเก็บสินค้าพร้อมทั้งออกบิลและตัดสต็อกโดยอัตโนมัติ แต่ความคิดของเขายังไม่ได้ถูกสานต่อ จนกระทั่ง Bernard Silver กับ Norman Joseph Woodland ทั้งคู่นี้ได้นำความคิดนั้นมาสานต่อและทำสำเร็จเป็นบาร์โค้ดชนิดแรกในปี ค.ศ. 1952 โดยลักษณะของบาร์โค้ดแบบแรกนี้เป็นรูปวงกลมสีขาวซ้อนกันหลายๆวงบนพื้นหลังสีเข้มคล้ายแผ่นปาเป้า และได้จดสิทธิบัตรไว้ในปีเดียวกัน บาร์โค้ดแบบแรกนี้ถูกใช้เป็นครั้งแรกในร้านค้าปลีกในเครือ Kroger แห่งเมืองซินซินนาติ รัฐโอไฮโอ ประเทศอเมริกา เมื่อปีค.ศ. 1967 ต่อมาได้มีการพัฒนาบาร์โค้ดมาเรื่อยๆพร้อมกับการประดิษฐ์เครื่องสแกนบาร์โค้ดขึ้นมาเพื่อใช้ควบคู่กัน บาร์โค้ดที่ผ่านการพัฒนามาแล้วนี้ได้เริ่มใช้งานครั้งแรกที่ Marsh’s ซูเปอร์มาร์เก็ต ในปีค.ศ. 1974 สินค้าชิ้นแรกที่ถูกสแกนด้วยบาร์โค้ดแบบใหม่ล่าสุดนี้คือ หมากฝรั่ง Wrigley’s Juicy Fruit  ภายหลัง Joseph Woodland ได้รับรางวัล National Medal of Technology จากประธานาธิบดี จอร์จ บุช ในปีค.ศ. 1992 (ส่วนเพื่อนของเขาที่ร่วมพัฒนาบาร์โค้ดมาด้วยกัน คือ Bernard Silver นั้นได้เสียชีวิตไปก่อนแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962) นี่คือความเป็นมาในยุคแรกๆของบาร์โค้ด
ปัจจุบันวิวัฒนาการของบาร์โค้ดพัฒนาไปมากทั้งรูปแบบและความสามารถในการเก็บข้อมูล บาร์โค้ดมีทั้ง 1 มิติ, 2 มิติ และ 3 มิติ ส่วนประเภทของบาร์โค้ดแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
1.  บาร์โค้ดภายใน (Internal Code)  เป็นบาร์โค้ดที่ทำขึ้นใช้เองภายในองค์กรต่างๆ ไม่สามารถนำไปใช้ภายนอกได้  (ของหอสมุดเราก็ใช้บาร์โค้ดแบบนี้)
2.  บาร์โค้ดมาตรฐานสากล (Standard Code) เป็นบาร์โค้ดที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก  มี 2 ระบบ คือ
–  ระบบ UPC (Universal Product Code) เริ่มใช้เมื่อปี 1972 มีการใช้แพร่หลายในอเมริกาและแคนาดา กำหนดมาตรฐานโดย Uniform Code Council Inc.
– ระบบ EAN (Europe Article Numbering) เริ่มใช้เมื่อปี ค.ศ. 1976 มีการใช้อย่างแพร่หลายมากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม
สำหรับประเทศไทยนั้นเริ่มนำระบบบาร์โค้ดมาใช้อย่างจริงจังราวปีพ.ศ. 2536 โดยมีสถาบันสัญลักษณ์รหัสแท่งไทย หรือ TANC (Thai Article Numbering Council) เป็นองค์กรตัวแทนของ EAN ภายใต้การดูแลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ใช้รหัสตัวเลข 13 หลัก
ส่วนบาร์โค้ดที่เป็นชนิด 1 มิติ หรือ 1D(1 Dimension Barcode) คือบาร์โค้ดที่เป็นแถบเส้นสีดำสลับสีขาวในแนวตั้ง บรรจุข้อมูลได้ประมาณ 20 ตัวอักษร เช่น ISBN ที่ใช้กับหนังสือและบาร์โค้ดของสินค้าทั่วไปตามซูเปอร์มาร์เก็ตหรือห้างสรรพสินค้าที่เราพบเจอจนคุ้นชินแล้วนั่นเอง
บาร์โค้ดชนิด 2 มิติ หรือ 2D(2 Dimension Barcode) เป็นบาร์โค้ดที่พัฒนาเพิ่มเติมจากบาร์โค้ดแบบ 1 มิติ สามารถบรรจุข้อมูลได้มากประมาณ 4 พันตัวอักษรในพื้นที่เท่ากันหรือเล็กกว่า ข้อมูลที่บรรจุใช้ได้หลายภาษา สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้อ่านบาร์โค้ดแบบ 2 มิตินี้ใช้ได้กับเครื่องอ่าน(เครื่องสแกน)ทั้งแบบใช้เลเซอร์, คลื่นวิทยุ(RFID), จนถึงใช้กับเครื่องโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนที่มีกล้องซึ่งติดตั้งโปรแกรมถอดรหัสไว้ ส่วนลักษณะของบาร์โค้ดชนิดนี้มีหลากหลายแบบทั้งแบบวงกลม สี่เหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้า บาร์โค้ดชนิด 2 มิติได้แก่ Data Matrix, MaxiCode, QR Code, PDF417 เป็นต้น บาร์โค้ด 2 มิติเกือบทุกแบบถูกพัฒนาและสร้างมาใช้โดยอเมริกา ยกเว้น QR Code (Quick Response) ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท Nippon Denso ประเทศญี่ปุ่น ในปีพ.ศ. 2537 เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ต่อมาจึงนำมาใช้กับสื่อสิ่งพิมพ์และสินค้าอื่นๆ QR Code สามารถบรรจุข้อมูลได้มากและละเอียด การอ่านข้อมูลรวดเร็วใช้เวลาน้อยจึงได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มากมายที่หันมาใช้ QR Code เพราะเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายรวดเร็วจึงมีการใช้ในแทบทุกวงการทุกสาขาอาชีพ
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ของ สวทช. และสหวิชา ดอท คอม

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร