นวนิยายประวัติศาสตร์

ในทุกๆปีของการจัดงานทับแก้วบุ๊คแฟร์ ดิฉันนับวันเวลาอยากจะให้ถึงเร็วๆ เพราะได้ซื้อหนังสือดี ราคาถูก และสะดวกสบายไม่ต้องเดินทางไกล นอกจากนี้ในงานยังมีกิจกรรมดีๆ “กิจกรรมพบนักเขียน” ซึ่งจะเชิญนักเขียนมาพูดคุยในงาน ปีนี้เป็นปีที่ 10 น้องๆจากชมรมวรรณศิลป์ ได้เชิญคุณวรรณวรรธน์ ซึ่งเป็นนักเขียนในดวงใจของดิฉัน มาพูดถึงการเขียนนวนิยายประวัติศาสตร์ แต่ละเรื่องมีการค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์หลายเล่มด้วยกันกว่าจะเป็นนวนิยายที่เราได้อ่านกันทุกวันนี้ คุณวรรณวรรธน์ได้ให้ข้อคิดว่า เมื่อหนังสือไปถึงมือคนอ่าน คนอ่านฉลาดกว่าเรา ดังนั้นเราต้องทำให้คนอ่านเชื่อว่าเราทำงานด้วยความตั้งใจ และกลั่นกรองเป็นตัวอักษร แต่ละเรื่องมีความเป็นมา ดังนี้
จันทราอุษาคเนย์  เค้าโครงมาจากเจ้าชายจิตรเสน จากจารึก ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 ท่านเป็นลูกพี่ลูกน้องกับเจ้าชายภววรมัน เป็นลูกของลุงมีศักดิ์เป็นพี่ แม้ว่าเจ้าชายจิตรเสนจะอายุมากกว่าแต่เป็นลูกอาจึงมีศักดิ์เป็นน้อง เมื่อลูกลุงต้องขึ้นครองราชย์ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง เจ้าชายจึงตัองแสวงหาดินแดนใหม่ทางตะวันตกของแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่บริเวณประเทศไทย พอพูดถึงอาณาจักรเจนละ คนจะถามว่าคืออะไร ดังนั้นเราต้องสร้างความรู้สึกโดย ให้ผู้อ่านมีประสบการณ์ร่วมกับเรา กลวิธีการเล่าเรื่องจึงใช้การย้อนยุคกลับไปกลับมา จันทราอุษาคเนย์จึงเป็นนวนิยายแบบย้อนยุค
ข้าบดินทร์ แรงบันดาลใจเกิดจากการอ่านหนังสือ คชศาสตร์ ช้างซึ่งเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของเรา มีคุณูปการต่อเราที่อยู่ในการทำสงครามมาก่อนที่เราเป็นเอกราชได้จนทุกวันนี้ จึงหยิบมาเขียนเป็นนิยายเพราะการอ่านนิยายจะเชื้อเชิญคนอ่านได้มากกว่าการเขียนสารคดี และตั้งใจให้เรื่องนี้เป็นละคร เพราะเข้าถึงคนดูได้มาก อยากให้คนไทยได้เห็นและให้สิ่งเหล่านี้กลับคืนสู่สังคมไทยอีกครั้ง คุณวรรณวรรธน์เล่าให้ฟังว่า การเขียนนิยายที่มีช่วงสมัยเข้ามาเกี่ยวข้องและยังติดใจกับเรื่องช้างอยู่ จึงต้องหาช่วงเวลาที่มีสงคราม ไล่ตั้งแต่สุโขทัยเรื่อยมา ได้อ่านพบในหนังสือชื่อ อานามสยามยุทธว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับลาว เขมร และญวน ว่าด้วยกลศึกของเจ้าพระยาบดินทรเดชาไปตีกัมพูชา ในต้นรัชกาลที่ 3 จึงวางโครงเรื่องไว้ว่าจะสร้างตัวละครในช่วงนี้ พ่อเหมจึงเกิดขึ้น ด้วยความตั้งใจที่จะเขียนเรื่องช้าง เหมจึงต้องเป็นตะพุ่น แต่ถ้าพระเอกไม่เป็นลูกพระยาก็จะสื่อไม่ได้อีก เพราะเรื่องนี้ได้เชิญท่านๆที่รับราชการในสมัยนั้นมาร่วมในหนังสือ เพราะท่านๆมีคุณูปการต่อบ้านเมืองมาก ดังนั้นพระเอกจึงเป็นทั้งตะพุ่น ลูกเจ้าพระยา รับราชการ ส่วนลำดวน นางเอกของเรื่อง เป็นนางรำที่ติดตามเดินทัพไปด้วย ซึ่งมีกล่าวถึงในกองทัพท่านพระยาบดินทร์ที่ท่านไปอยู่ในเมืองพระตะบอง และได้รับพระราชทานคณะนางรำติดตามไปด้วยจึงเป็นที่มาของนางเอก เรื่องนี้จึงเป็นการเล่าเรื่องโดยใช้ยุคสมัยเข้ามาเป็นตัวเล่าเรื่อง
หนึ่งด้าวฟ้าเดียว เรื่องนี้อยู่ในยุคสมัยพระเจ้าตากสิน เขียนเป็นเรื่องเล่าแบบแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านไปหาข้อเท็จจริง เป็นเรื่องขันทีราชสำนักในอยุธยา ซึ่งใน กฎหมายตรา 3 ดวง ได้กล่าวถึงขันที มีการจ่ายเงินเดือนเป็นศักดินา ในยุคสมัยนั้นขันทีนำเข้าจากต่างประเทศ คุณวรรณวรรธน์ จึงสร้างพระเอกให้เป็นจารบุรุษเป็นสายลับที่ปลอมตัวเข้าไปในวัง(เปลี่ยนจากขันทีเป็นสายลับ) ได้พบกับนางเอก ซึ่งเจ้าบทเจ้ากลอน มีการใช้กลบทที่ทำเป็นรหัสในการเดินเรื่อง
นอกจากเราได้ทราบที่มาของนวนิยายแต่ละเรื่องที่คุณวรรณวรรธน์เขียนขึ้นแล้ว คุณวรรณวรรธน์ยังได้ให้ข้อคิดในการเขียนนวนิยายว่า นวนิยายไทย มี 4 อย่าง คือ รูป รส กลิ่น เสียง เมื่อมีครบ นวนิยายก็มีชีวิต คนอ่านก็จะประทับใจ เพราะภาษาไทยเป็นภาษาที่สุนทรีย์ที่สุด มีวรรณยุกต์ ทำให้เกิดความไพเราะ โดยเฉพาะเรื่องรัก

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร