เคล็บ(ไม่)ลับของการพิมพ์ซองจดหมาย
ได้อ่านบล็อค เรื่อง “พัฒนาการการพิมพ์ซองจดหมายเพื่อติดตามทวงถาม” ของพี่สมบูรณ์
ทำให้เห็นกระบวนการขั้นตอนการทำงานที่เพื่อนหลายคน อาจเคยชินในการปฏิบัติเป็นเรื่องปกติ
ขณะที่เราอาจไม่ทราบเลยว่ามีเพื่อนอีกหลายคนไม่คุ้นเคยกับกระบวนการขั้นตอนปฏิบัตินั้นๆ
การมีเพื่อนร่วมงานที่มีน้ำใจไมตรี ก็ทำให้ได้เรียนรู้เทคนิควิธีการทำงาน
จากเพื่อนๆ ช่วยให้งานราบรื่นยิ่งขึ้น อิฉันอ่านไปจนจบบทก็ให้รู้สึกอบอุ่นยินดีไปกับพี่ๆ น้องๆ เรา
ที่ร่วมด้วยช่วยกัน “ทำมาหากิน” อันเป็นคำคะนองที่ชาวหอหมุดเรามักใช้กระเซ้าเย้าหยอกกัน
เวลาที่จะต้องยกพลโยธาทำการอันหนึ่งอันใด
แต่ด้วยในตอนท้ายบล็อกดังกล่าว พี่ท่านเกริ่นกล่าวถึงการพิมพ์ซองโดยรวบรัด
อิฉันเองก็เป็นหนึ่งในจำนวนยูสเซ่อๆ ที่มักมีปัญหากับการใช้เทคโนโลยีนู้นนี้นั้นอยู่เป็นประจำ
ก็เลยจะขออนุญาต…ไม่มีสระอิ (เพราะบ่อยครั้งมากที่มักพบการใช้คำๆ นี้กัน
แบบมีโคตรพงศ์วงศา “ญาติ”) ขอแบ่งปันประสบการณ์ (คำนี้อีกเช่นกัน ที่มักพบอาการลังเล
ในการ “สบ” จะสบ “บ” หรือ “พ” ดี วิธีจำง่ายๆ คือ สบ “บ” ต้องผ่านกระบวนการ “พบ เจอะ เจอ”
ส่วน สบ “พ” นั้น คือ การเกิดผลที่มักพบ เช่น การอวยพร ให้ประสพผลอันใด)
กลับมาว่าเรื่องการพิมพ์ซองจดหมายที่อิฉันมีเคล็บ(ไม่)ลับมาบอกกล่าว
ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปแล้วในเบื้องข้างบน ที่นอกจากเป็นยูสเซ่อๆ แล้ว
ลายมือก็ประหนึ่งตัวอักษรเดินขบวน แถมยังมีสมองส่วนจำประหนึ่งปลาทอง
จึงต้องสร้างตัวช่วยในการปลุกปล้ำกับอุปกรณ์ประดามี
อันต้องใช้ทำงานประจำๆ (ถึงแบบนี้ก็ยังไม่ Y…ไม่มี Z)
และการพิมพ์ซองจดหมายก็เป็นหนึ่งในจำนวนอีกมากเรื่องที่อิฉัน “ไม่จำได้” ต้องอาศัยตัวช่วย
ดังภาพที่แสดงไว้แต่ต้นเรื่องนั้นเอง กล่าวคือ
เมื่อดิฉันต้องพิมพ์ซองที่เครื่องพิมพ์เครื่องใด ที่จะต้องใช้งานประจำ
จะทดลองพิมพ์ก่อนว่าด้านใดเป็นด้านที่ใส่ซองเข้าไปแล้วพิมพ์ผลออกมาได้ถูกต้อง
นั่นหมายถึง “ครุฑ” ที่ซองจะยืนสง่างามที่มุมซ้ายบนของซองด้านหน้า
และเมื่อพลิกด้านหลังเมื่อเปิดซองฝาซองจะต้องเปิดถูกทาง มิต้องหกคะเมนตีลังกาเปิด
ซึ่งหมายถึงจะต้องสละซอง 1 ซอง เป็นหนูทดลอง ซึ่งมักใช้ซองเก่าที่ใช้แล้ว
โดยต้องทำเครื่องหมายให้รู้ว่าการทดลองแต่ละครั้ง หันหน้าหันหลัง หันซ้ายหันขวา
ในการป้อนกระดาษอย่างไร และที่สำคัญเครื่องพิมพ์แต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อ
มีวิธีการป้อนกระดาษแตกต่างกัน ก็ต้องว่ากันไปตามเนื้อเครื่องพิมพ์ (ไม่ใช่เนื้อผ้า ^-^)
เมื่อการทดลองพิมพ์เป็นผลอันถูกต้องเหมาะควร อิฉันก็จะติดแถบภาพเป็นตัวช่วย ณ เครื่องนั้นๆ
ดังภาพปลากรอบบบ ด้านบน ทั้งนี้ทั้งนั้น การทดลองมักรวมไปถึงการจ่าหน้าต่างๆ
ที่มักจะต้องจัดระยะความงามให้เหมาะสมกับซองแต่ละขนาดและจำนวนข้อความด้วย
ด้วยการทดลองเช่นนี้ เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ อิฉันก็จะได้ไฟล์ต้นแบบการพิมพ์หน้าซองจดหมาย
ที่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ซ้ำเดิมในการติดต่อประสานงานบางโอกาส
รวมทั้งได้หลักการใส่กระดาษเข้าเครื่องพรินท์เตอร์เครื่องนั้นๆ
ซึ่งเมื่อได้ตัวอย่างแล้วการนำไปใช้กับกระดาษที่มีหัว หรือ อื่นๆ ที่คล้ายๆ กัน ก็ปรับใช้ได้ไม่ยาก
จึงเรียนมาสู่พี่ๆ น้องๆ มิต้องแปลกใจ หากพบเจอพรินท์เตอร์เครื่องใด
มีลายสือไท ของอิฉันติดไว้ เอวังก็มีด้วยประการละฉะนี้ นั่นเอง