100 ปี คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ผู้สร้างตำนานนิตยสารสตรีสาร

“คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง” หรืออาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง สำหรับผู้อ่านนิตยสารในยุคเมื่อยี่สิบปีที่ผ่านมาจะรู้จักท่านเป็นอย่างดี เพราะท่านเป็นบรรณาธิการนิตยสารที่นักอ่านยุคนั้นคุ้นเคยกันดีในชื่อของ นิตยสารสตรีสาร  การที่ระบุคำนำหน้าชื่อของท่านว่า “คุณ” ก็เพราะท่านเป็นสตรีโสดที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จตุตถจุลจอมเกล้า (หากมีคู่สมรสก็จะเป็นคุณหญิง) ท่านมีบทบาทและเป็นดาวดวงเด่นในวงการภาษาและหนังสือคนสำคัญที่สร้างนักเขียนขึ้นในโลกวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงมากมายเป็นที่ยอมรับของนักอ่านมาตราบจนกระทั่งทุกวันนี้หลากหลายคนด้วยกัน  เรามาย้อนรำลึกถึงท่านให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ทราบถึงประวัติและผลงานต่างๆที่ท่านเป็นผู้สรรค์สร้างไว้โดยสังเขปนะคะ
คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ท่านเกิดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2458 นับถึงปีนี้ท่านก็มีอายุครบ 100 ปีบริบูรณ์แล้ว (ท่านยังมีชีวิตอยู่นะคะ) นับว่าท่านเป็นผู้มีอายุยืนยาวท่านหนึ่งในแวดวงของนักภาษาและหนังสือในปัจจุบันนี้ คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง จบจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2480 (ท่านเข้าเรียนคณะนี้เป็นรุ่นที่ 3 ในปี 2477) หลังจากจบแล้วไปเป็นครูอยู่ 1 ปี จากนั้นได้เปลี่ยนไปรับราชการอยู่ที่กรมโฆษณาการ(กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน)อีก 9 ปี ก่อนที่จะลาออกมารับหน้าที่เป็น บรรณาธิการนิตยสารสตรีสาร  จนเป็นตำนานหน้าหนึ่งในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ของประเทศไทย
สำหรับ นิตยสารสตรีสารนั้น เริ่มจัดพิมพ์และวางตลาดออกสู่สายตาผู้อ่านครั้งแรกเป็นฉบับที่ 1 ปีที่ 1 ปีพ.ศ. 2491 โดยระยะแรกออกเป็นรายปักษ์ แล้วภายหลังเปลี่ยนเป็นรายสัปดาห์ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2508 เป็นต้นมา ผู้ก่อตั้งเริ่มแรกคือคุณเรวดี เทียนประภาส (ผู้เป็นเจ้าของโรงเรียนเรวดี และเป็นมารดาของสุรางค์ เปรมปรีดิ์ ผู้บริหารทีวีช่อง 7 สีมาอย่างยาวนานก่อนจะเปลี่ยนเมื่อไม่นานมานี้ ดังนั้นนิตยสารสตรีสารจึงได้รับการโฆษณาประชาสัมพันธ์สู่ผู้อ่านและผู้ชมในทีวีสีช่อง 7 ด้วยในยุคหนึ่ง) คุณนิลวรรณถือเป็นผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสารสตรีสารด้วยผู้หนึ่ง และเข้ามารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการเป็นคนที่สองรวมทั้งรับหน้าที่บริหารพร้อมกันไปด้วยตั้งแต่ปี 2492 ในวัย 32 ปี ท่านใช้ความรอบรู้ความสามารถพร้อมทั้งความเป็น “ครู” ในหน้าที่บรรณาธิการได้ดีเยี่ยมอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ซึ่งมีไม่กี่คนที่จะทำได้ดีและสมบูรณ์แบบอย่างท่าน ท่านให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาที่ใช้ถ่ายทอดสู่ผู้อ่านต้องเป็นต้นแบบที่ถูกต้อง นิตยสารสตรีสารจึงครองใจผู้อ่านได้ทุกเพศทุกวัยและถือเป็นนิตยสารสำหรับครอบครัวเพราะเนื้อหาในเล่มให้สาระครบครันทั้งหมวดภาษาและวรรรกรรม หมวดสารัตถคดี หมวดชีวิตครอบครัว หมวดงานอดิเรก หมวดสุขภาพและความงาม ส่วนที่ขาดมิได้คือในสตรีสารจะมีภาคพิเศษสำหรับเด็กซึ่งจะเป็นนิทานและเรื่องสำหรับเด็ก เรื่องทุกประเภทที่ลงตีพิมพ์ในสตรีสารจะต้องไม่เป็นพิษภัยสำหรับผู้อ่าน นอกจากสตรีสารแล้ว คุณนิลวรรณยังได้ออกนิตยสารสำหรับเด็กอีกฉบับหนึ่งคือ “ดรุณสาร” ในปี 2498 โดยทำควบคู่ไปกับสโมสรปรียา ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมสำหรับเด็ก แต่ “ดรุณสาร” ต้องปิดตัวไปในที่สุดในปี 2504 เพราะไม่มีเแหล่งเงินสนับสนุนในการจัดทำ ต่อมาภายหลังในปี 2514 คุณนิลวรรณได้นำดรุณสารกลับมาใหม่แต่มาเป็น ภาคพิเศษสำหรับผู้เยาว์แทรกอยู่ในสตรีสาร การที่ท่านออกนิตยสารสำหรับเด็กนี้ถือว่าท่านเป็นผู้บุกเบิกและเป็นต้นแบบให้แก่นิตยสารเด็กในยุคหลังๆ นิตยสารสตรีสารเฟื่องฟูสูงสุดในช่วงปี 2500-2520 หลังจากปีนี้จนถึงปี 2539 เป็นยุคแห่งการแข่งขัน เพราะเริ่มมีนิตยสารสำหรับผู้หญิงเกิดขึ้นมาใหม่มากหลากหลายแนว มีรูปลักษณ์ต้องตาผู้อ่านและมีโฆษณาไปสนับสนุนมากมาย และเข้าสู่ยุคบริโภคนิยมเต็มที่ ทำให้สตรีสารต้องต่อสู้กับกระแสการบริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างมาก ถึงแม้จะปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดตลอดมาก็ตาม แต่คุณนิลวรรณไม่เลือกที่จะเปลี่ยนแนวนิตยสารไปตามกระแสบริโภคนิยมนั้น จึงมิอาจทานต่อกระแสอันเชี่ยวกรากนี้ต่อไปได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตลอดเวลา กอรปกับวัยและสุขภาพของคุณนิลวรรณที่ย่างเข้าสู่วัยชราเริ่มมีปัญหาสุขภาพ ท่านจึงตัดสินใจยุติการผลิตนิตยสารสตรีสารลงเหลือไว้เพียงตำนานของนิตยสารชั้นแนวหน้าและแบบอย่างของบรรณาธิการชั้นครูให้คนรุ่นหลังศึกษาต่อไป ฉบับสุดท้ายของนิตยสารสตรีสารคือ ฉบับที่ 52 เดือนมีนาคมปีพ.ศ. 2539 ซึ่งครบ 48 ปีพอดี และตัวท่านก็อายุ 80 ปีแล้วเช่นกัน ในระยะหลังๆใครๆก็ขนานนามท่านว่า “คุณย่า บก.”
ในห้วงเวลา 48 ปีของ สตรีสาร ที่มีคุณนิลวรรณ ปิ่นทองเป็นบรรณาธิการแต่เพียงผู้เดียวนี้ ได้สร้างคุณูประการต่อวงการวรรณกรรมของไทยอย่างสำคัญยิ่ง เพราะท่านให้โอกาสและพื้นที่เป็นเวทีเปิดสำหรับการแจ้งเกิดของนักเขียนนักประพันธ์มากมายทั้งเด็ก เยาวชนและนักเขียนวัยหนุ่มสาว เป็นพื้นที่ที่สร้างชื่อเสียงให้กับนักเขียนดังๆมากมาย เช่น “แว่นแก้ว”, สิริมา อภิจาริน, พิบูลศักดิ์ ละครพล, ประภัสสร เสวิกุล, วาณิช จรุงกิจอนันต์, โสภาค สุวรรณ, โบตั๋น, สีฟ้า, กฤษณา อโศกสิน, กาญจนา นาคนันทน์, สุวรรณี สุคนธา, ผกาวดี อุตตโมทย์, นิพพาน, ข. อักษราพันธุ์, มนันยา, จันทรำไพ, ฯลฯ นักเขียนเหล่านี้เขียนนวนิยายเรื่องดังมาลงเป็นตอนๆให้ผู้อ่านติดตามอ่านกันแบบติดกันงอมแงมต้องตามกันข้ามปีกันทีเดียว อาทิเรื่อง ดาวพระศุกร์ ดอกโศก ผู้กองยอดรัก ยอดรักผู้กอง ผู้ใหญ่ลีกับนางมา ฟ้าจรดทราย น้ำเซาะทราย เขาชื่อกานต์ จดหมายจากเมืองไทย ข้าวนอกนา วงศาคณาญาติ อำนาจ ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด ทองเนื้อเก้า ผีเสื้อและดอกไม้ แก้วจอมซน แก้วจอมแก่น ฯลฯ แทบทุกเรื่องได้รับความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลายไดีตีพิมพ์รวมเล่ม แล้วยังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์แบบซ้ำแล้วซ้ำอีกก็หลายเรื่อง
นอกจากผลงานทางด้านการเป็นบรรณาธิการสตรีสารซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์แล้ว คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ยังเคยทำรายการสื่อทางวิทยุและโทรทัศน์ด้วยคือ รายการ “สตรีสารภาควิทยุ” รายการวิทยุข้ามแดน รายการท่านถามเราตอบทางทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม ท่านทำรายการวิทยุและโทรทัศน์อยู่ประมาณ 16 ปี ซึ่งถือเป็นงานด้านสื่อสารมวลชนอีกแขนงหนึ่ง นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย,  ร่วมในคณะร่างธรรมนูญสภาสตรีแห่งชาติและเป็นประธานกรรมการบริหารสภาสตรีฯช่วงปี 2499-2507, เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย, ร่วมก่อตั้งมูลนิธิวิชาการหนังสือพิมพ์  ท่านยังทำงานเพื่อสังคม งานด้านเยาวชนและการศึกษา งานเพื่อสาธารณะอีกมากมาย คุณนิลวรรณ จึงเป็นสตรีผู้บุกเบิกในแวดวงทางด้านสื่อผู้หนึ่งในยุคต้นๆของประเทศไทย ทำให้ท่านได้รับการยกย่องและได้รับรางวัลเพื่อเป็นเกียรติประวัติ ดังนี้  ปีพ.ศ. 2504  – ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ท่านเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้,  ปีพ.ศ. 2534 – ได้รับรางวัลศรีบูรพา,  ปีพ.ศ. 2544  – ได้รับรางวัลนราธิป  จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  แล้วยังมีรางวัลอื่นๆอีกมากมาย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่นำมาเสนอเพื่อรำลึกถึงท่านและรำลึกถึง สตรีสาร นิตยสารหรือวารสารที่กลายเป็นตำนานของสื่อสิ่งพิมพ์ไปเสียแล้ว โดยส่วนตัวดิฉันแสนเสียดายนิตยสารนี้เพราะติดตามอ่านตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมจนกระทั่งมาทำงานห้องสมุดก็ยังตามอ่านอยู่เพราะชอบหลายๆคอลัมน์เช่นของคุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ (อ่านแล้วขำดี) ของอาจารย์สมศรี สุกุมลนันทน์ บทบรรณาธิการของคุณนิลวรรณ ชอบการ์ตูนในเล่มที่วาดโดย “ปีนัง” (คุณปฐม พัวพิมล) ซึ่งดิฉันชอบมากเพราะวาดได้น่ารักเป็นไทยๆดี และที่ขาดมิได้คือเกมปริศนาอักษรไขว้ ชอบเป็นพิเศษเพราะได้ฝึกทักษะการใช้ภาษาไทยได้ดีเชียวละ แต่เสียดายที่หอสมุดเรากลับมิได้เก็บวารสารชื่อนี้ไว้ได้จำหน่ายออกไปนานมากแล้ว เฮ้อ!!
ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง : อัญมณีแห่งโลกนิตยสาร เลขหมู่ PN5449ท9ป47  และจากเว็บไซต์ของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย
 
 
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร