Beall’s List 2016
ได้เคยเขียนให้เพื่อน ๆ น้อง ๆ อ่านเกี่ยวกับ Beall’s List มาแล้วครั้งหนึ่ง ตั้งแต่ปี 2557 (2014) มาปีนี้ Jeffrey Beall ได้แจ้งรายชื่อของสำนักพิมพ์ที่มีแนวโน้มว่าไม่ได้ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ และชื่อวารสารที่ไม่น่าไว้วางใจ มาแล้ว จึงขอนำเรื่องนี้มาให้เพื่อน ๆ น้อง ๆ ได้ผ่านตากันอีกสักนิด เพราะว่า คำนี้เป็นคำที่สำคัญคำหนึ่งที่บรรณารักษ์จะได้ยินเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรณารักษ์ที่อยู่ในสถาบันอุดมศึกษา ที่มีอาจารย์ นักวิจัย ส่งผลงานไปตีพิมพ์ในวารสารหรือฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของต่างประเทศ
ใน blog เรื่องนี้เมื่อปี 2557 เขียนไว้ว่า …Beall’s List คือ รายชื่อของสำนักพิมพ์ และวารสาร (ของต่างประเทศ) ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นสำนักพิมพ์ หรือวารสารที่หลอกลวงให้นักวิจัยส่งผลงานไปตีพิมพ์แล้วเรียกเก็บเงินเพื่อให้ผ่านขั้นตอนของการตอบรับการตีพิมพ์ บรรณารักษ์ของ University of Colorado Denver ชื่อ Jeffrey Beall ได้ทำการวิเคราะห์และรวบรวมรายชื่อสำนักพิมพ์และวารสารที่มีลักษณะที่ไม่น่าไว้ใจนี้ทุกปี…
สำหรับ ในปี 2016 Jeffrey Beall บอกว่า จำนวนของสำนักพิมพ์และวารสารที่ไม่น่าไว้ใจมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ประกอบไปด้วย สำนักพิมพ์จำนวน 923 สำนักพิมพ์ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 230 สำนักพิมพ์ วารสารจำนวน 882 ชื่อ เพิ่มจากปีที่แล้ว 375 ชื่อ นอกจากนั้นในปีนี้ Beall ยังเพิ่มข้อมูล Misleading Metrics ทีเป็นรายชื่อของสำนักพิมพ์ หรือวารสารที่ให้ข้อมูลหรือวิธีการคำนวณที่ผิดพลาดแก่ผู้อ่าน และเพิ่ม ข้อมูล Hijacked Journals คือรายชื่อของวารสารหรือเว็บไซต์ของวารสารที่เป็นของปลอม รอให้ผู้ต้องการตีพิมพ์ผลงานหลงเข้าไป จ่ายเงินเพื่อให้ตีพิมพ์ผลงานให้ โดยเฉพาะเว็บไซต์ของวารสารที่มีค่า Impact Factor สูง ๆ
แนวโน้มของเผยแพร่ผลงานทางวิชาการของประเทศไทย เช่นในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ อาจารย์ และนักวิจัยมีภาระงานหลักส่วนหนึ่งในเรื่องของการต้องทำวิจัยเผยแพร่ ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ ดังนั้น การเรียนรู้ เกี่ยวกับข้อมูลต่าง ๆ ในเรื่องนี้น่าจะมีความสำคัญเรื่องหนึ่ง ติดตามรายละเอียดได้จาก http://scholarlyoa.com/