7 นักประพันธ์นวนิยายเรืองนาม ผู้ลาลับไปในรอบสามปี

29 November 2015
Posted by sunee

ในช่วงสามปีมานี้ คือตั้งแต่ปี 2556-2558 ในแวดวงวรรณกรรมของไทยเราสูญเสียนักประพันธ์นวนิยายนามกระเดื่องและมีผลงานเป็นที่ยอมรับรู้จักกันดีในหมู่นักอ่านมาเป็นระยะเวลายาวนานไปถึง 7 ท่านด้วยกัน นับเป็นเป็นการสูญเสียบุคลากรในแวดวงนักเขียนอย่างน่าเสียดายยิ่งนัก มีนักเขียนถึงสามท่านที่มีอายุยืนยาวกว่า 90 ปี โดยจะขอไล่เรียงไปตามปี ดังนี้
ท่านแรกคือ หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ เจ้าของนามปากกา “ศรีฟ้า ลดาวัลย์”, “สีฟ้า” และ “จุลดา ภักดีภูมินทร์” ท่านเกิดเมื่อ 26 มกราคม 2473 และถึงแก่กรรมเมื่อ 16 เมษายน 2556 อายุรวม 86 ปี  ท่านเริ่มเขียนนวนิยายเรื่องแรกคือเรื่อง “ปราสาทมืด” ในปี 2498  โดยใช้นามปากกาว่า จุลดา ภักดีภูมินทร์ ซึ่งนามปากกานี้ในระยะหลังจะใช้ในการเขียนสารคดีเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาในปี 2499 เริ่มใช้นามปากกา “สีฟ้า”ในการเขียนนวนิยาย (นามปากกานี้ผู้ที่ตั้งให้คือ “สีน้ำ” หรือ มานิต ศรีสาคร) นวนิยายที่เขียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องสะท้อนสังคม นวนิยายที่สร้างชื่อเสียงมีมากมาย อาทิเช่น  ข้าวนอกนา ใต้ฟ้าสีคราม (สองเรื่องนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นด้วย) ปราสาทมืด ขมิ้นกับปูน บ่วง กนกลายโบตั๋น ใครกำหนด เครื่องแบบสีขาว สามอนงค์ อีสา รวีช่วงโชติ ฯลฯ ทุกเรื่องนอกจากเป็นนวนิยายที่ได้รับความนิยมจากนักอ่านแล้ว ยังถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ และสร้างเป็นภาพยนตร์ และบางผลงานก็ได้รับรางวัลอีกต่างหาก  จากผลงานอันทรงคุณค่ามากมายนี้ท่านจึงได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เมื่อปีพ.ศ. 2539
ท่านที่สองคือ ชอุ่ม ปํญจพรรค์  หรือ ชอุ่ม แย้มงาม  ท่านเกิดเมื่อ 6 ธันวาคม 2464 และถึงแก่กรรมเมื่อ 28 กันยายน 2556 อายุรวม 92 ปี ท่านเกิดที่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เรียนระดับประถมและมัธยมต้นที่สุพรรณบุรีและนครปฐม(โรงเรียนราชีนีบูรณะ) แล้วไปเรียนต่อมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่กรุงเทพฯ ท่านเป็นรุ่นที่ 1 และมีเลขประจำตัวเลขที่ 1 อีกด้วย คุณชอุ่ม นั้นเป็นพี่สาวแท้ๆของคุณอาจินต์ ปัญพรรค์ ซึ่งเป็นนักเขียนนวนิยายที่มีชื่อเสียงโด่งดังเช่นกัน คือทั้งสองคนพี่น้องนี้มีความสามารถในทางการประพันธ์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย สำหรับคุณชอุ่ม ปัญจพรรค์ นอกจากจะเป็นนักประพันธ์นวนิยายแล้วท่านยังมีความสามารถในการประพันธ์เพลงอีกด้วย เนื่องจากท่านรับราชการที่กรมโฆษณาการ(กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน) ทำหน้าที่หลากหลายทั้งทางสื่อวิทยุ โทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ ท่านเคยเขียนเรื่องสั้น แต่งบทละครวิทยุ แล้วยังแต่งเพลงให้แก่คณะสุนทราภรณ์หลายเพลงด้วยกัน สำหรับผลงานการเขียนนวนิยายที่สร้างชื่อเสียงให้กับท่านจนกระทั่งทุกวันนี้ที่ผู้คนยังมิรู้ลืมคือเรื่อง “ทัดดาวบุษยา” ที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ถึง 2 ครั้งและเป็นละครโทรทัศน์ถึง 5 ครั้งและมีแนวโน้มที่จะถูกนำมาทำใหม่(รีเมก)อีกในอนาคต นอกจากนี้ยังมีนวนิยายเรื่องอื่นๆอีกเช่น บ้านนอกเข้ากรุง มารพิศมัย เมียนอกกฎหมาย สร้อยฟ้าขายตัว เป็นต้น ในส่วนของเพลงที่ท่านประพันธ์ที่คนรู้จักและยังเป็นที่นิยมจนกระทั่งปัจจุบันคือเพลง “ข้องจิต” ส่วนเพลงอื่นๆก็มีเพลง รักเอาบุญ สำคัญที่ใจ หนึ่งในดวงใจ ดอกพุดตาน แผ่นดินทอง เป็นต้น นอกจากนี้ท่านยังแต่งเพลงสำหรับเด็กด้วยซึ่งเป็นเพลงที่เด็กๆในยุคก่อนจะร้องกันได้แทบทุกคน คือเพลง “หน้าที่ของเด็กหรือเพลงเด็กเอ๋ยเด็กดี” นั่นเอง ซึ่งดิฉันก็ร้องและยังจำได้ดีจนถึงทุกวันนี้ (ปัจจุบันเด็กยุคใหม่เขาให้ร้องเพลงค่านิยม 12 ประการนะจ๊ะ!!) หลังจากท่านเกษียณอายุจากกรมประชาสัมพันธ์แล้ว ท่านได้ไปทำงานอยู่ที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ในหน้าที่กรรมการเซ็นเซอร์ของสถานีจนถึงวาระสุดท้าย แล้วท่านก็เป็นเจ้าของสโลแกนของทีวีสีช่อง 3 ที่เราคุ้นหูกันดีก็คือ “คุ้มค่าทุกนาทีดูทีวีสีช่อง 3”  ด้วยผลงานต่างๆเหล่านี้ท่านจึงได้รับ “รางวัลนราธิป ประจำปี 2546” จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ท่านที่สามคือ สรจักร ศิริบริรักษ์ เจ้าของนามปากกา “สรจักร” ท่านเกิดเมื่อ 17 มีนาคม 2498 เสียชีวิตเมื่อ 28 พฤษภาคม 2556 อายุรวม 58 ปี คุณสรจักรนั้นเป็นเภสัชกรเพราะร่ำเรียนมาทางวิชาชีพนี้ ท่านเป็นนักเขียนที่มีผลงานทั้งในแนววิชาการ แล้วยังชอบเขียนเรื่องในแนวเขย่าขวัญอีกด้วย ได้รับฉายาว่าเป็น สตีเฟ่น คิง เมืองไทย เพราะถนัดเขียนเรื่องในแนวฆาตกรรม อาชญากรรม สยองขวัญหรือเรื่องผี สำหรับเรื่องที่สร้างชื่อเสียงและทำให้แจ้งเกิดกับแนวเรื่องสยองขวัญคือเรื่องชุด 3 ศพ ได้แก่  “ศพใต้เตียง” “ศพท้ายรถ” “ศพข้างบ้าน” (ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำเกือบ 30 ครั้ง)  ชุด  3 ผีได้แก่เรื่อง ผีหัวเราะ ผีหัวขาด และผีหลอก  แล้วยังมีเรื่อง วิญญาณครวญ คนสองวิญญาณ ฯลฯ เรื่องสุดท้ายที่ท่านเขียนคือ นักฆ่าบ้ากาม ก่อนจะหยุดเขียนไปเนื่องจากปัญหาทางด้านสุขภาพ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ท่านที่สี่คือ นงไฉน ปริญญาธวัช เจ้าของนามปากกา “กาญจนา นาคนันทน์” ท่านเกิดเมื่อ 9 พฤษภาคม 2464 ถึงแก่กรรมเมื่อ 30 พฤษภาคม 2557 อายุรวม 93 ปี ท่านเป็นนักเขียนที่เขียนได้หลากหลายประเภททั้งสารคดี เรื่องสั้น วรรรณกรรมเยาวชน แต่ที่สร้างชื่อเสียงเป็นอย่างมากคือการเขียนนวนิยาย ท่านเริ่มเขียนเรื่องแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กคือเรื่อง “สามดรุณ” ในปี 2489 แล้วยังมีเรื่องอื่นๆอีกเช่น โลกกว้าง หนูชอบเชียงเมี่ยง บ้านหนูอยู่หาดเสี้ยว ผมชื่อไอ้จุก แม่ไต้ฝุ่นมาแล้ว เป็นต้น ส่วนนวนิยายที่ท่านประพันธ์ไว้มากมายนั้นส่วนใหญ่เป็นที่ชื่นชอบของนักอ่านแทบทั้งสิ้น และแต่ละเรื่องถูกนำมาตีพิมพ์ใหม่ให้นักอ่านรุ่นหลังได้ซื้อหามาอ่านได้ถึงปัจจุบัน ที่สำคัญคือนวนิยายหลายเรื่องถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์โดยนำมาสร้างซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ยังได้รับความนิยมอย่างมิเสื่อมคลาย เช่นเรื่อง ผู้ใหญ่ลีกับนางมา ธรณีนี่นี้ใครครอง ผู้กองยอดรัก ยอดรักผู้กอง ผู้กองอยู่ไหน ชื่นชีวานาวี สาวใช้คนใหม่ กุ้งนาง เป็นต้น บางเรื่องได้รับรางวัลหรือได้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาด้วย  จากผลงานที่ยังทรงคุณค่าและเป็นอมตะนิยายของท่านนี้จึงได้รับการยกย่องให้ท่านเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เมื่อปีพ.ศ. 2555
ท่านที่ห้า ศักดิชัย บำรุงพงศ์ เจ้าของนามปากกา “เสนีย์ เสาวพงศ์” ท่านเกิดเมื่อ 12 กรกฎาคม 2461 ถึงแก่กรรมเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2557 อายุรวม 96 ปี ท่านเป็นทั้งนักการทูต นักหนังสือพิมพ์ และนักเขียน ท่านเคยเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศเอธิโอเปีย(ปี2518) และเกษียณอายุในตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศพม่า (ปี 2521) หลังจากเกษียณแล้วท่านก็มาทำงานอยู่กับเครือมติชนเรื่อยมา มีงานเขียนทั้งบทความในหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ส่วนของการเขียนนวนิยายที่ทำให้นักอ่านรู้จักและสร้างชื่อเป็นอย่างมากคือเรื่อง “ปีศาจ” นอกจากนี้ยังมีเรื่อง คนดีศรีอยุธยา ไฟเย็น ชัยชนะของคนแพ้ ฯลฯ ซึ่งนวนิยายส่วนใหญ่ที่ท่านเขียนจะเป็นแนวประวัติศาสตร์การเมือง ท่านได้รับการเชิดชูเกียรติโดยได้รับรางวัลถึง 3 รางวัลด้วยกันคือ “รางวัลศรีบูรพา” ในปี 2531 ซึ่งท่านได้เป็นคนแรกของรางวัลนี้ ต่อมาท่านได้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์” ปี 2533 และได้รับ “รางวัลนราธิป” ประจำปี 2541
ท่านที่หก ณรงค์ จันทร์เรือง เจ้าของนามปากกา “ใบหนาด” “บุญเสมอ แดงสังวาลย์” “คริส สารคาม” ท่านเกิดเมื่อ 30 กรกฎาคม 2484 ถึงแก่กรรมเมื่อ 30 ธันวาคม 2557 อายุรวม 73 ปี ท่านเป็นนักเขียนคนหนึ่งในกลุ่ม “หนุ่มเหน้าสาวสวย” ซึ่งมี ขรรค์ชัย บุนปาน สุจิตตต์ วงษ์เทศ สุวรรณี สุคนธา (ทั้งสามท่านนี้เป็นศิษย์เก่าศิลปากร)  เป็นนักเขียนที่สามารถเขียนได้สารพัดเรื่องทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย เรื่องขบขัน บทภาพยนตร์ บทความ สารคดี เรื่องแรกที่เริ่มเขียนเป็นเรื่องสั้นคือ “วิวาห์ในอากาศ” และเริ่มเขียนนิยายแนวบู๊เรื่อง “กริชมหาราช” และเขียนเรื่องต่างๆออกมาอีกมากมาย แต่นวนิยายที่เป็นผลงานสร้างชื่อเสียงให้อย่างมากคือเรื่อง  “เทพธิดาโรงแรม” “วิมานสลัม” ทั้งสองเรื่องนี้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ซึ่งก็โด่งดังอีกเช่นกันในยุคก่อนนั้น ส่วนความสามารถในการเขียนอีกแนวหนึ่งคือเรื่องแนวขนหัวลุกเกี่ยวกับวิญญาณภูตผีปีศาจต่างๆ ซึ่งมีผลงานออกมามากมายเช่นกันโดยใช้นามปากกาในเรื่องแนวนี้ว่า “ใบหนาด” และ “บุญเสมอ แดงสังวาลย์”
ท่านที่เจ็ด ประภัสสร เสวิกุล  ท่านเกิดเมื่อ 22 เมษายน 2491 ถึงแก่กรรมเมื่อ 18 กันยายน 2558 อายุรวม 67 ปี คุณประภัสสรนั้นเป็นนักการทูตและเป็นนักเขียนควบคู่ไปด้วย ท่านมีความสามารถในการเขียนหลากหลายแนวสร้างสรรค์ผลงานออกมามากมายทั้งสารคดี บทกวี เรื่องสั้น และนวนิยาย โดยเฉพาะเรื่องสั้นและนวนิยายนั้นได้รับการยอมรับทั้งในหมู่นักอ่านและในแวดวงวรรณกรรมร่วมสมัยของไทย ผลงานจำนวนไม่น้อยได้รับรางวัลในระดับชาติ หลากหลายเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ บางเรื่องได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ ผลงานเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกคือเรื่อง “หอมกลิ่นดอกงิ้ว” ส่วนนวนิยายเรื่องแรกคือเรื่อง “อำนาจ” (เริ่มเขียนเมื่อปี 2525 ลงเป็นตอนๆในนิตยสารสตรีสาร) ผลงานนวนิยายของท่านหลายเรื่องได้รับการตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้งอาทิเช่นเรื่อง เวลาในขวดแก้ว ชี้ค อำนาจ ลอดลายมังกร ขอหมอนใบนั้นที่เธอฝันยามหนุน เมเปิ้ลแดง ฯลฯ ด้วยผลงานอันทรงคุณค่ามากมายเหล่านี้ท่านจึงได้รับการยกย่องให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2554
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ของวิกิพีเดีย, มติชน และผู้จัดการออนไลน์
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร