สิทธารถะ
ได้ยินชื่อหนังสือเล่มนี้จาก น้องนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มาฟังการเล่าเรื่อง จิตตนคร ของน้องกาญ เมื่อวันเปิดบ้านห้องสมุด เมื่อกาญเล่าจิตตนครพร้อม ๆ กับ เปิดตัวเล่มซึ่งเป็นจิตตนครเวอร์ชั่นภาพจิตรกรรมจบลง น้องนักศึกษาคนนี้ก็พูดว่า จบแล้วเหรอ เสียดายจังผมไม่ได้มานั่งฟังตั้งแต่ต้น และเล่าถึงความรู้สึกที่ได้ฟังเรื่อง จิตตนคร ว่าได้เข้าถึงจิตใจของน้องมากเพียงใด และตัวเองก็ได้เคยอ่านหนังสือที่ทำให้เปลี่ยนแปลงความคิดได้ หนังสือเล่มนั้นคือ “สิทธารถะ” ของ เฮอร์มานน์ เฮสเส เราได้คุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดจริงแล้ว เคยได้ยินชื่อหนังสือเล่มนี้เหมือนกัน แต่ไม่เคยคิดจะหาอ่าน เพราะเข้าใจว่า ชื่อ สิทธารถะ เป็นพระนามของพระพุทธเจ้า เรื่องก็คงเป็นพุทธประวัติ เพียงแต่สงสัยว่าทำไปผู้แต่งถึงชื่อเป็นฝรั่ง ทำไมไม่เป็นคนอินเดีย แต่ก็ไม่ได้ติดใจจนต้องหาคำตอบ จนมาฟังนักศึกษาคนนี้เล่า จึงให้รู้สึกเหมือนโดนโน้มน้าวใจให้ต้องหาความจริง เนื้อหาเป็นอย่างไรถึงสามารถเปลี่ยนทัศนคติของน้องนักศึกษาคนนี้ได้ ดิฉันจึงสนใจหนังสือเล่มนี้ และหวังจะอ่านให้จบให้ได้
เมื่อได้หนังสือซึ่งมีจำนวน 215 หน้า ซึ่งไม่ได้ถือว่ายาวมากนัก แต่ไม่รู้ว่าทำไมกลับอ่านได้ช้า อาจเป็นเพราะได้เคยดูซีรีย์ พระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลก อ่านไปนึกถึงภาพในซีรีย์บ้าง เทียบเรื่องราวเหตุการณ์ การดำเนินชีวิตของสิทธารถะ และคนอื่น ๆ กับซีรีย์ที่ดู มีหลายเรื่องที่สอดคล้องกันมาก บางตอนทำให้ตั้งใจว่าจะย้อนกลับไปดูซีรีย์ซ้ำ ดิฉันไม่ได้เกิดความคลางแคลงใจในสิ่งที่ดูจากซีรีย์และเรื่องเล่าของเฮอร์มานน์ในสิทธารถะ ที่บางเรื่องแตกต่างกัน เพียงแต่พยายามเก็บเอาเพียงสาระ ในซีรีย์มักจะเป็นคำกล่าวอธิบายคำสอนตรง ๆ แต่การอ่านจากนวนิยาย ที่เขียนโดยนักเขียนที่มีความรู้สึกลึกซึ้งกับพระพุทธองค์ และพุทธประวัติ ผู้อ่านคงต้องแปลความจากการกระทำของตัวละครต่าง ๆ สิทธารถะของเฮอร์มานน์ มีพื้นฐานมาจากสภาพจิตใจของเฮอร์มานน์เอง การอ่านงานประเภทนี้จึงมักไม่ได้อ่านเพียงเพื่อความสนุก แต่เป็นงานที่ผู้อ่านต้องแปลความทั้งตัวอักษร ตัวละคร พฤติกรรมของตัวละคร และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พอจะมาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟัง ก็ยากอีก เพราะไม่รู้ว่าเข้าใจได้ถูกต้องหรือไม่ จะเล่าให้เหมือนกับทำเป็นเหมือนเข้าใจสิ่งที่เฮอร์มานน์ต้องการบอกกับผู้อ่านก็ทำไม่ได้ การอ่านจึงต้องเริ่มต้นจากการทำความรู้จักกับ เฮอร์มานน์ เฮสเส เสียก่อน
เฮอร์มานน์ เฮสเส เกิดในครอบครัวนักสอนศาสนา เป็นเด็กที่มีความนึกคิดละเอียดอ่อน มีความหวั่นไหวในจิตใจของตนเอง มีความขัดแย้ง และไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนในระบบ แต่ชอบเรียนรู้ด้วยตนเองจากหนังสือในห้องสมุดของครอบครัว ใฝ่ฝันที่จะเป็นนักเขียน และเริ่มต้นเขียนหนังสือมาตลอดชีวิต จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เฮสเสเคยเดินทางมาประเทศอินเดียเพื่อเรียนรู้ศาสนาและจิตวิญญาน
สิทธารถะเป็นชายหนุ่มที่เกิดในตระกูลพราหมณ์ อยู่ท่ามกลางความสุขสบาย ความรักจากทุกคนรอบข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บิดา มารดา และเพื่อนที่ชื่อ โควินทะ วันหนึ่ง สิทธารถะเกิดความรู้สึกว่า ความรักที่ได้จากทุกคน ยังไม่ทำให้อิ่มเอม ไม่ยั่งยืน จึงขออนุญาตบิดา มารดาออกบวช พร้อมกับโควินทะ ทั้ง ๆ ที่บิดาพยายามห้ามอย่างเต็มที่ แต่ไม่สำเร็จ จึงอนุญาตด้วยความผิดหวังและเสียใจ แต่ก็ได้สั่งว่า หากสิทธารถะพบความสุขในป่า หรือไม่เป็นไปตามที่หวัง ก็ไห้กลับมาบ้าน สิทธารถะออกบวชเป็นพราหมณ์พร้อมกับโควินทะ เร่ร่อนไปกับพราหมณ์คนอื่น ๆ จนได้พบกับพระพุทธเจ้า และได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า โควินทะขอบวชทันที แต่สิทธารถะยังไม่ยอมเชื่อตาม แม้จะยอมรับว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งประเสริฐ…. “ไม่มีผู้ใดที่จะบรรลุได้เพียงด้วยการฟังคำสั่งสอน ไม่มีผู้ใดดอก ข้าแต่พระพุทธองค์ ทรงโปรดเมตตาแถลงเป็นถ้อยคำ และบอกกล่าวข้าพระองค์ด้วยเถิดว่าสิ่งใดปรากฏแก่พระองค์ในชั่วโมงแห่งการตรัสรู้นั้น คำสั่งสอนแห่งการบรรลุของพระพุทธเจ้ามีเนื้อหามากมาย สอนให้ดำเนินชีวิตโดยชอบ ให้หลีกเลี่ยงความชั่วทั้งปวง แต่มีสิ่งหนึ่งที่คำสอนนี้มิได้มีอยู่ นั่นก็คือความลี้ลับ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประสบมาด้วยพระองค์เองแต่เพียงผู้เดียว นี่คือสาเหตุที่อธิบายว่า ทำไมข้าพระองค์จึงต้องออกจาริกต่อไป หาใข่เพื่อค้นหาคำสอนอื่นที่ดีกว่านี้ไม่ หากด้วยข้าพระองค์มีจุดประสงค์จะละจากคำสอนและคณาจารย์ทั้งปวง เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายของข้าพระองค์โดยลำพัง… ”(หน้า 50-51) “…ฉันต้องการเรียนรู้จากตนเอง เป็นศิษย์ของตนเอง ฉันอยากความรู้จักตนเอง อยากรู้จักความลับของสิทธารถะ…”(หน้า 56) จำได้ว่าในซีรีย์ ก็มีตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสทำนองว่า ท่านไม่ได้ให้สาวกทำตามท่าน แต่ท่านให้สาวกดูและทำด้วยตนเอง เรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่มีใครบอกใครได้ว่ารู้อะไร
สิทธารถะออกเดินทางค้นหาตนเอง ได้พบกับชายแจวเรือที่สอนให้เขารู้จักเรียนรู้จากแม่น้ำ สอนให้เขารู้จักการอดทน รอคอย และได้รู้จักกับ ‘กมลา’ หญิงคณิกา ที่สิทธารถะตัดสินใจเลิกเป็นพราหมณ์ และอยู่กินด้วยกัน ได้ทำการค้าขายกับกามะสวามี จนร่ำรวย และติดกับอยู่กับโลกียสุขนี้เป็นปี จนวันหนึ่งที่ได้ตระหนักว่า ที่เขาต้องลาจากบิดา จากโควินทะ และนึกถึงพระพุทธองค์ เพียงเพื่อจะเป็นพ่อค้าเท่านั้นหรือ สิทธารถะจึงละทิ้งกมลา (โดยที่ไม่รู้ว่ากมลากำลังตั้งครรภ์) และคฤหาสน์ไปสู่ป่าอีกครั้งหนึ่ง และจมอยู่กับความรู้สึกผิดที่ตนเองได้ใช้เวลาอยู่กับสิ่งที่น่าเกลียดชัง รู้สึกเกลียดชังตนเองจนจะฆ่าตัวตายที่สายน้ำที่เขาเคยข้ามมาแล้วเมื่อตอนเป็นสมณะ แต่ก่อนที่จะทิ้งตัวลงสู่ลำน้ำ เขาก็นึกถึงคาถาอันศักดิ์สิทธิ์ว่า “โอม” จึงมีสติและทิ้งตัวหลับไปที่โคนต้นมะพร้าว เมื่อตื่นขึ้นมารู้สึกสดชื่นจนคิดว่าได้ชีวิตใหม่ เพราะได้หลุดพ้น และชมตนเองว่า หลังจากปีแห่งความโง่เขลาเบาปัญญานั้นแล้ว เจ้าเกิดมีสติสัมปชัญญะขึ้นมาอีกครั้งและได้จัดการแก้ไข ได้ยินเสียงนกน้อยในหัวใจส่งเสียงเพรียกแล้วเจ้าได้ออกติดตามไป…
จากนั้นสิทธารถะกลับไปอยู่กับคนแจวเรืออีก ได้เรียนรู้จากแม่น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือการสดับฟังโดษดุษณี เงี่ยฟังด้วยหัวใจอันนิ่งสงบ ปราศจากการเรียกร้อง ไม่มีการตัดสิน ไม่มีข้อโต้แย้ง สิทธารถะอยู่กับชายแจวเรืออย่างมีความสุข เพราะได้เรียนรู้ตนเอง ได้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน และทั้งสองมักมีความคิดไปทางเดียวกันเสมอ เมื่อถึงคราวที่พระพุทธองค์ใกล้ดับขันธ์ พระสงฆ์ต่างก็พากันไปหาพระพุทธองค์ รวมทั้งกมลาและลูกชายด้วย แต่กมลาถูกงูกัดจนตาย ลูกจึงอยู่กับสิทธารถะและวสุเทวา ชายแจวเรือ ซึ่งลูกชายเป็นคนที่ดื้อรั้น เอาแต่ใจ สิทธารถะพยายามเอาใจเพื่อชดเชยที่ตนเองได้ละทิ้งบุตรไว้ แต่ลูกชายก็ประพฤติแต่เรื่องที่ทำให้เขาเสียใจตลอด เมื่อบุตรชายหนีออกจากบ้าน และเขาพยายามติดตาม จนเกิดทุกข์ใจ ทำให้สิทธารถะคิดถึงสิ่งที่ตนเคยทำไว้กับบิดาว่าทำให้ท่านต้องเสียใจมากเพียงใด และถูกแม่น้ำหัวเราะเยาะเอา จึงเข้าใจว่า …มันเป็นเช่นนั้นเอง ทุกอย่างย่อมหวนกลับมาอีก ทุกสิ่งที่ยังไม่สิ้นเวรหมดกรรม ย่อมหวนกลับมารับเวรกรรมนั้น ๆ อีก…(หน้า 161) และได้หยุดแล้วซึ่งการต่อสู้กับชะตาชีวิต ดับแล้วซึ่งความทุกข์ร้อนทั้งปวง
จนสุดท้ายสิทธารถะได้พบกับภิกษุโควินทะอีก เมื่อได้พูดคุย ภิกษุโควินทะบอกว่ายังแสวงหาหนทางแห่งความดับทุกข์ และสังเกตว่าสิทธารถะได้ค้นพบ และต้องการให้สิทธารถะบอกกล่าวถึงสิ่งที่ได้ค้นพบ สิทธารถะตอบว่า …”ใครก็ตามที่แสวงหา มักจะเป็นไปได้ง่าย ๆ ว่า สายตาของเขาจดจ้องอยู่กับเฉพาะสิ่งที่เขาค้นหา และไม่ยอมรับรู้สิ่งอื่นใด ไม่ยอมพิจารณาสิ่งที่ได้พบเห็น เพราะมัวมุ่งมั่นกับเป้าหมายของเขา และเขาถูกเป้าหมายนั้นครอบงำอยู่…พระคุณเจ้าเห็นจะเป็นผู้แสวงหาที่จริงจัง ที่มุ่งมั่นไปยังจุดหมาย จึงแลไม่เห็นบางสิ่งบางอย่างใกล้ตัว” (หน้า 170)
ดิฉันขอเล่าเรื่องไว้แค่นี้ เพราะอ่านครั้งที่สองไปพิมพ์ไปแล้ว รู้สึกว่าทำได้แค่เพียงเล่า แต่ที่จริงแล้ว เรื่องราวแบบนี้มันไม่ได้เป็นไปตามตัวอักษร ความหมายเชิงสัญลักษณ์มีอยู่มากและไม่รู้จะอธิบายอย่างไร เพราะคิดว่าอาจเข้าใจแค่เศษเสี้ยว ที่สุดแล้ว สิทธารถะได้ค้นพบสุขนิรันดร์หรือไม่ คนอ่านแต่ละคนคงคิดกันไปได้ตามพื้นฐานความรู้ทางศาสนา ดิฉันคิดเอาเองว่า นักศึกษาวิศวฯ คนนั้นกำลังฟังเสียงเพรียกเรียกจากหัวใจของตนเอง และต้องการที่จะมุ่งมั่นไปสู่เสียงนั้น แต่ในโลกแห่งความเป็นมนุษย์ลูก ย่อมมีความรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ในฐานะลูก ฐานะนักศึกษา จึงเกิดความรู้สึกสับสนและขัดแย้ง แต่จิตตนคร เป็นอีกมุมหนึ่งที่สอนให้เราเรียนรู้ที่จะปกครองจิตของเราเอง หนังสือสองเรื่องนี้จึงเป็นหนังสือที่ผู้ที่ต้องการเรียนรู้จิตใจของตนต้องอ่าน
ดิฉันไม่มีความรู้ทางศาสนามากนัก แต่ชอบการอ่านหนังสือประเภทนี้มาก ทั้งจิตตนคร และสิทธารถะ ต้องขอบคุณน้องเบสท์ น้องกาญ ที่ชักนำให้อ่าน อ่านแล้วต้องหลับตา ถอนหายใจ แต่ไม่ใช่เพื่อปลดปล่อยความรู้สึกหนักอึ้งใด ๆ แต่กลับเป็นการกดความรู้ (knowledge) ความรู้สึก (feeling) ที่อยากให้ฝังแน่นในใจ