Competency : ค่าคาดหวัง ไม่ใช่ค่าเป้าหมาย

24 September 2015
Posted by Chanpen Klomchaikhow

หลังจากนำ KPI มาใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงานมาหลายรอบการประเมิน (น่าจะตั้งแต่ปี 2553) แต่หลายคนอาจจะยังเข้าใจผิดในบางประเด็น
KPI เป็นตัวชี้วัดผลงาน ซึ่งในการประเมินจะมีการกำหนดค่าเป้าหมาย เพื่อเป็นเกณฑ์ที่ใช้ประเมินการให้คะแนน โดยกำหนดเป็น 5 ระดับ ตั้งแต่ระดับ 1 ไปจนถึงระดับ 5  โดยที่ KPI มักจะตั้งค่าในลักษณะที่เป็นรูปธรรม ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ประเมินมีหน้าที่พิจารณาประเมินผลสัมฤทธิ์ของงานที่ทำได้จริงตลอดรอบการประเมิน เทียบกับค่าเป้าหมายว่าทำได้ที่ค่าเป้าหมายใด ก็จะได้คะแนนที่ค่าเป้าหมายนั้น เช่น ได้ค่าเป้าหมายที่คะแนน 3 ก็จะนำมาคิดเป็นคะแนนกับค่าน้ำหนัก
เมื่อมีเรื่องของ KPI แล้ว สิ่งที่มาด้วยกันก็คือ Competency หรือสมรรถนะ หรือจะเรียกว่าพฤติกรรมการปฏิบัติงานคงพอได้ ซึ่งมักจะอยู่ในลักษณะที่เป็นนามธรรม เรื่องของ Competency นี้หัวหน้าหอสมุดฯ คนปัจจุบัน (พี่สมปอง) เคยเขียนไว้ในหลายๆ หัวข้อ เช่น Competency กอดคอกันแหววกับ KPI  หรือ Competency มาเจ๊อะกับ KPI  ซึ่งเขียนได้ชัดเจน เข้าใจง่าย
มาจนถึงวันนี้หลายคนก็ยังคงเข้าใจผิดเกี่ยวกับการประเมิน Competency ที่เข้าใจไปว่าเหมือนกันกับส่วนของ KPI แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นคนละประเด็น  KPI จะได้เป็นคะแนนตั้งแต่ 1-5 ตามแต่ผลงานที่ทำได้ในแต่ละระดับ ทำได้ตรงไหนได้ตรงนั้น ผิดกับ Competency ที่เป็นเรื่องของค่าคาดหวัง โดยกำหนดระดับตามตำแหน่งงานว่าอยู่ที่ค่าคาดหวังระดับใด (1-5) ในการประเมินมีแค่ได้กับตกตามค่าคาดหวังในแต่ละประเด็นเท่านั้น
ตัวอย่างเช่น
– ผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดชำนาญงาน  มีระดับค่าคาดหวัง 1
– บรรณารักษ์ชำนาญการ  มีระดับค่าคาดหวัง 2 
– บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ  มีระดับค่าคาดหวัง 3
– บรรณารักษ์เชี่ยวชาญ  มีระดับค่าคาดหวัง 4
หรือในส่วนของพนักงานมหาวิทยาลัย จะมีระดับค่าคาดหวังเท่าใด อยู่ที่ระยะเวลาของสัญญาจ้าง เช่น
– สัญญา 1 ปี  จะมีระดับค่าคาดหวัง 1
– สัญญา 3 ปี  จะมีระดับค่าคาดหวัง 2
– สัญญา 5 ปี  จะมีระดับค่าคาดหวัง 3
หากใครได้รับการประเมินสมรรถนะในแต่ละข้อต่ำกว่าค่าคาดหวัง ก็แปลว่าตกในข้อนั้นๆ ส่วนใครได้รับการประเมินเท่าค่าคาดหวัง หรือเกินค่าคาดหวัง ก็แสดงว่าได้ในข้อนั้นๆ  ในการประเมิน Competency ที่เกินค่าคาดหวัง จากประสบการณ์พบว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับการประเมินเกินค่าคาดหวังได้ในบางข้อ แต่ส่วนใหญ่ผู้ที่มีระดับค่าคาดหวัง 1 มักมีโอกาสประเมินได้เกินค่าคาดหวังมากกว่า แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเกินแล้วจะได้คะแนนมากกว่าคนที่ประเมินได้เท่าค่าคาดหวัง เพราะไม่ว่าจะเท่าหรือจะเกินคือ ได้ เท่ากัน
นอกจากนี้ บางคนอาจมองเข้าข้างตัวเองก็เป็นได้ว่า เราควรได้ 4 ได้ 5 ทำไมให้เราแค่ 2 โดยที่ไม่เคยไปดูเลยว่าค่าคาดหวังในแต่ละระดับของ Competency นั้น ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง แล้วจริงหรือไม่ว่าเราได้ 4 ได้ 5 เช่น…
Competency ในส่วนสมรรถนะตามสายงาน ว่าด้วยการมีจิตสำนึกในการให้บริการ เราก็จะบอกกับตัวเองหรือใครๆ ว่า เรานี้มี Service mind พูดกับผู้ใช้บริการดี ยิ้มแย้มแจ่มใสมาก ถ้าเราประเมินตัวเอง เราได้ 5 แน่นอน แต่เราลองมาดูกันเต็มๆ ว่า เราได้จริงหรือไม่  –> ในคัมภรี์ว่าด้วยการมีจิตสำนึกในการให้บริการว่าไว้ว่า…

จะเห็นว่าค่าคาดหวังระดับ 1 ก็พอจะใช่ มาที่ระดับ 2 ก็ยังพอจะได้ มาถึงระดับที่ 3 จะเห็นว่าเราแทบจะมีไม่ครบทั้ง 2 ประเด็น แต่หากมองแบบเข้าข้างตัวเอง ก็คงว่าพอได้อีก พอมาที่ระดับ 4 จะเห็นเลยว่าเราไปไม่ถึง ยกเว้นว่าจะเข้าข้างตัวเองอย่างสุดๆ
ดังนั้นในเรื่องของ Competency เราต้องไม่หลงประเด็นอ่านแต่ชื่อสมรรถนะเท่านั้น ต้องดูรายละเอียดในแต่ละระดับด้วย รวมถึงทำใจให้เป็นกลาง ก็จะเห็นว่าในความเป็นจริงแล้วเราอยู่ที่ระดับใด สูง หรือ ต่ำ หรือ เท่ากับ ระดับค่าคาดหวังตามตำแหน่งงานของเรา เท่านี้เราก็จะไม่เข้าใจผิด แยกแยะได้ระหว่าง KPI (วัดผลงาน) และ Competency (วัดพฤติกรรมการทำงาน)…   😉

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร