นิตยสาร & วารสาร

31 August 2015
Posted by worra

หลายๆครั้งที่ทำหน้าที่บอกรับวารสารและนิตยสารเพื่อจัดหามาให้บริการภายในห้องสมุดฯ  มักจะเกิดคำถามขึ้นกับตัวเองเสมอว่า  นิตยสารและวารสารมีความแตกต่างกันอย่างไร  เนื่องจากมีรูปแบบคล้ายคลึงกัน  มีกำหนดออกเป็นรายเช่นเดียวกัน  จึงได้ลองไปหาข้อมูลมาจากในอินเตอร์เน็ท  และจากหัวหน้างานจัดหาฯ  มาได้ความรู้เพิ่มเติมพอประมาณ ดังนี้
นิตยสารและวารสาร  หมายถึง  สื่อสิ่งพิมพ์ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการ เฉพาะกลุ่มประชากร หรือกลุ่มผู้บริโภคได้ดีกว่าหนังสือพิมพ์ และมีความสำคัญในด้านการให้ข้อมูลข่าวสารเชิงลึกและสาระบันเทิงที่หลากหลาย เป็นสื่อสิ่งพิมพ์รายคาบ ออกเป็นประจำ สัปดาห์ รายเดือน  หรือรายอื่น ๆ ส่วนมากเย็บเล่ม   นิตยสารและวารสารมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก  และมีการจัดพิมพ์ที่ไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก    นิตยสารและวารสารถือเป็นสื่อมวลชนที่สำคัญสำหรับการศึกษาประเภทหนึ่ง ที่ให้ทั้งข่าวสารความรู้ความคิด และความบันเทิงแก่ผู้อ่านอย่างกว้างขวาง และยังทำหน้าที่ในการบันทึกความเป็นไปในสังคม ในช่วงเวลาหนึ่งได้เป็นอย่างดี และมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาด้านต่างๆ เนื่องจากนิตยสารและวารสารเป็นแหล่งรวบรวมและเผยแพร่ความรู้ความคิด ในรูปของการเสนอบทความทางวิชาการ ข่าว ภาพ ความคิดเห็น บทวิจารณ์ อย่างหลากหลาย มีการจัดทำออกมาอย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่ความรู้ที่ทันสมัย ทันเหตุการณ์ ไปสู่กลุ่มผู้อ่านที่เป็นประชาชนทั่วไปได้กว้างขวางกว่าสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือ จึงมีคุณค่าต่อการศึกษาอย่างสูง ทั้งในด้านการศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษานอกระบบโรงเรียน และการใช้ประกอบการศึกษาในระบบโรงเรียน ผู้ใช้วารสารควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ ความหมาย ลักษณะ วิธีการนำเสนอเนื้อหา แนวทางการใช้ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการศึกษาจากนิตยสารและวารสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
“นิตยสาร”  เป็นสิ่งพิมพ์ที่จัดพิมพ์ออกเผยแพร่ตามกำหนดเวลา หรือคาบเวลาที่แน่นอน เช่น ออกทุกสัปดาห์ หรือออกทุกเดือน ลักษณะโดยทั่วไปเป็นสิ่งพิมพ์ เข้าเล่มแบบเดียวกับหนังสือ
ลักษณะของนิตยสาร    แนวโน้มของนิตยสารในปัจจุบันมุ่งดึงดูดผู้อ่านเฉพาะกลุ่มเพิ่มขึ้น  เนื้อหาของนิตยสารจึงค่อนข้างจะเน้นเฉพาะด้านมากขึ้น   แต่อย่างไรก็ดีลักษณะความหลากหลายของข้อเขียน หรือคอลัมน์ในนิตยสาร  ยังแสดงให้เห็นความแตกต่างของนิตยสารจากลักษณะหนังสือทั่วไปที่จะมีเนื้อหาเป็นเรื่องเดียวกันทั้งเล่มได้   ลักษณะเด่นของนิตยสารที่แตกต่างไปจากหนังสือทั่วไป คือ

  1. นิตยสารจะเน้นในการเสนอบทความสารคดี และข้อเขียนต่าง ๆ ที่ให้ความรู้และความบันเทิงกับผู้อ่านได้มากกว่า และละเอียดกว่า
  2. นิตยสารมีโฆษณาที่สวยสะดุดตากว่า
  3. นิตยสารมีการจัดหน้าที่สวยงามและพิถีพิถันมากกว่า
  4. นิตยสารมีรูปเล่มกะทัดรัดหยิบถือได้สะดวกกว่า
  5. ปกนิตยสารจะมีขนาดประมาณ 8 1/2 คูณ 1 11/2 นิ้ว  หรือขนาด A4 หรือ 8 หน้ายก  บางฉบับก็มีขนาดใหญ่เท่ากับ หนังสือพิมพ์ขนาดเล็ก (tabloid) แต่บางเล่มก็เล็กเกือบพอ ๆกับหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ก
  6. นิตยสารส่วนใหญ่จะมีปกที่พิมพ์ด้วยกระดาษหนากว่าหน้าข้างใน ปกจะมีสีสัน และรูปภาพสวยงามสะดุดตาเย็บรวมกับเนื้อใน ส่วนความหนาหรือจำนวนหน้าของนิตยสารนั้น ไม่แน่นอน
  7. นิตยสารหลายฉบับจะเสนอเนื้อหาข่าวในเล่มด้วยแต่ส่วนมากจะเป็นการสรุปข่าว หรือวิจารณ์ข่าว

 
“วารสาร”   เป็นสิ่งพิมพ์ จัดพิมพ์ออกเผยแพร่เป็นคราวๆ หรือเป็นวาระ ซึ่งอาจมีกำหนดเวลาหรือไม่มีกำหนดเวลาแน่นอนก็ได้
ลักษณะของวารสาร  วารสาร เป็นสิ่งพิมพ์ที่ออกต่อเนื่องตามกำหนดหรือ ออกตามวาระ สามารถนำมาพิจารณากำหนดเป็นลักษณะของวารสารได้ดังนี้

  1. เป็นสิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง (Periodical or Serial) มีกำหนดเวลาออก แน่นอนระยะเวลาที่นิยมกำหนดออก เช่น

– รายสัปดาห์ (Weekly) กำหนดออกสัปดาห์ละครั้ง ปีละ 52 ฉบับ
– รายปักษ์ (Fortnightly) กำหนดออกทุก 2 สัปดาห์ ปีละ 26 ฉบับ
– รายครึ่งเดือน (Semimonthly) กำหนดออกเดือนละ 2 ครั้ง ปีละ 24 ฉบับ
– รายเดือน (monthly) กำหนดออกเดือนละครั้ง ปีละ 12 ฉบับ
– รายหกเดือนหรือรายครึ่งปี (Semiannually) กำหนดออกทุก 6 เดือน
– รายปี (Annually) กำหนดออกปีละฉบับ
นอกจากนี้บางฉบับอาจมีการกำหนดระยะเวลาออกที่แตกต่างออกไปจากที่กล่าวมาแล้วเช่น รายครึ่งสัปดาห์ (Semiweekly) กำหนดออกสัปดาห์ละ 2 ฉบับ ปีละ 104 ฉบับ รายทศกำหนดออกทุก 10 วัน ปีละ 36 ฉบับ และรายสะดวกมีกำหนดออกไม่แน่นอน ลักษณะความต่อเนื่องของวารสารไม่มีกำหนดว่าจะสิ้นสุดลงในฉบับใด

  1. มีเลขกำกับประจำฉบับ ได้แก่ เลขปีที่ (Volume) เลขฉบับที่ ( Issue Number) และวัน เดือน ปี (Date) การนับลำดับฉบับที่อาจนับเป็นปีๆ เช่นวารสารรายเดือน แต่ละปีจะมีตั้งแต่ฉบับที่ 1-12 หรืออาจนับต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เช่นวารสารรายเดือน ฉบับแรกของปีที่ 2 ก็นับเป็นฉบับที่ 13 นอกจากเลขปีที่ ฉบับที่ และวันเดือนปี ซึ่งเป็นเลขที่ต้องต่อเนื่องเป็นลำดับกันไปแล้วยังมีเลขอีกชุดหนึ่งเป็นเลขเฉพาะที่แน่นอน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงถือเป็นรหัสประจำวารสารแต่ละชื่อ เพื่อการควบคุมทางบรรณานุกรม ในระบบข้อมูลวารสารระหว่างชาติ เรียกว่า เลขสากลประจำวารสาร (International Standard Serial Number-ISSN) ซึ่งศูนย์ข้อมูลวารสารระหว่างชาติระดับสากล มอบให้ศูนย์ข้อมูลวารสารระหว่างชาติ ประจำประเทศสมาชิกแต่ละประเทศ เป็นผู้กำหนดให้แก่วารสารแต่ละชื่อในประเทศของตน สำหรับประเทศไทยมีหอสมุดแห่งชาติ เป็นศูนย์ข้อมูลวารสารระหว่างชาติแห่งประเทศไทย เป็นผู้กำหนดวารสารแต่ละชื่อให้ได้รับหมายเลขสากลประจำวารสาร และจะต้องพิมพ์ไว้ที่หน้าปกหรือหน้าปกใน หรือสันวารสารใกล้ ๆ กับชื่อวารสาร มีอักษร ISSN ตามด้วยเลข อารบิค 8 ตัว มีเครื่องหมายยติภังค์ (-) คั่นระหว่าง เลข 4 ตัวแรก กับเลข 4 ตัวหลัง เช่น วารสาร ซีเนแม็ก ISSN 0858-9305
  2. รูปเล่ม มักทำให้มีบางส่วนมีลักษณะเหมือนกันทุกฉบับ เพื่อให้ผู้อ่านสังเกตและจำได้ง่าย เช่น ขนาดความกว้าง ยาว รูปแบบและสีของตัวอักษร ชื่อวารสารที่หน้าปก และสัญลักษณ์ประจำวารสาร
  3. เนื้อหา ประกอบด้วยบทความหลายบทความ จากผู้เขียนหลาย ๆ คน ถ้าเป็นวารสารมักจะเป็นวิชาการเฉพาะแขนงวิชา ถ้าเป็นนิตยสารมักจะมีบทความทั่ว ๆ ไป สารคดี หรือบันเทิง เช่น นวนิยาย เรื่องสั้น ลงติดต่อกันเป็นหลายๆ มีคอลัมน์บรรณาธิการ คอลัมน์ประจำ วารสารบางชื่อเนื้อหาอาจเป็นรูปภาพ เป็นบทวิจารณ์ สรุปข่าวและวิเคราะห์ เหตุการณ์บ้านเมือง ฯลฯ ทั้งนี้เป็นไปตามประเภทและวัตุประสงค์ของวารสารแต่ละฉบับ
  4. ผู้จัดพิมพ์ ผู้จัดพิมพ์วารสารอาจเป็นเอกชน หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบัน องค์การ สมาคม ชมรม โดยมีวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ ประชา-สัมพันธ์หน่วยงาน ให้ความบันเทิง ความรู้ทั่วไป หรือเพื่อธุรกิจการค้า เป็นต้น
  5. การเผยแพร่ มีทั้งการจำหน่ายและแจกฟรี การจำหน่ายอาจวางจำหน่ายตามร้านขายหนังสือ การให้ผู้อ่านบอกรับเป็นสมาชิกประจำ ชำระค่าวารสารล่วงหน้าแล้วผู้จัดพิมพ์เป็นผู้ส่งวารสารไปให้สมาชิก

โดยหลักๆจากการสังเกตุของตัวเองแล้ว  จะดูว่าถ้าเนื้อหาเป็นทางวิชาการ  และออกโดยหน่วยงานที่เป็นราชการหรือสถานศึกษา  ก็คือ “วารสาร” และถ้าเนื้อหาออกไปทางบันเทิง  มีรูปภาพประกอบ สีสันสวยงาม  และออกโดยสำนักพิมพ์หรือหน่วยงานเอกชน ก็คือ “นิตยสาร” ค่ะ
ขอบคุณข้อมูล  https://www.gotoknow.org/posts/327124
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร