ค่าของ "เงิน"
ปัจจุบัน “เงิน” ถือได้ว่าเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ แทนการนำสิ่งของไปแลกสิ่งของเหมือนเมื่อในอดีตที่ผ่านมา ซึ่ง “เงิน” นั้นเป็นอะไรก็ได้ที่สังคมให้การยอมรับในการทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการตลอดใช้เป็นมาตรฐานในการชำระหนี้ในอนาคต (ธีระวัฒน์ จันทึก 2554 : 137)
ในการใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนนั้นจะต้องมีการกำหนดค่าของเงินเพื่อให้เป็นมาตรฐานในการแลกเปลี่ยน ซึ่ง “ค่าของเงิน” หมายถึง อำนาจซื้อของเงินจำนวนหนึ่งที่จะซื้อสินค้าและบริการได้ในจำนวนหนึ่ง (นวลทิพย์ ควกุล 2528 : 67)
ค่าของเงินต่อ 1 หน่วยของแต่ละประเทศจะไม่เท่ากัน ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ ในโลกจึงใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นการกำหนดค่าเงิน เช่น เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา(USD) เท่ากับ 35.629 บาทของไทย(THB) เท่ากับ 1,282.20 จ๊าดของพม่า(MMK) เท่ากับ 120.16 เยนของญี่ปุ่น(JPY) เป็นต้น ซึ่งอัตราการแลกเปลี่ยนในแต่ละวันนั้นจะไม่คงที่ จะเปลี่ยนไปตามภาวะเศรษฐกิจของแต่ละประเทศหรือตามปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
บางช่วงเวลา บางประเทศอาจประสบกับภาวะเงินเฟื้อหรือภาวะเงินฝืด ซึ่งส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในประเทศ โดย “เงินเฟ้อ” (Inflation) เป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศโดยทั่วไปสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง และ “เงินฝืด” (Deflation) เป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศโดยทั่วไปลดลงเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2556 : 13-6)
“เงินเฟ้อ” นั้นเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายของภาครัฐและภาคเอกชนในการซื้อสินค้าและบริการ การส่งออกสินค้าไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น การปรับค่าแรงสูงขึ้น ต้นทุนของปัจจัยการผลิตสูงขึ้น ค่าของเงินอ่อนตัวหรือลดลงมีผลทำให้วัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จนต้องปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้น เป็นต้น ซึ่งภาวะเงินเฟ้อจะส่งผลให้อำนาจซื้อลดลง ผู้มีรายได้ประจำจะเสียเปรียบ เนื่องจากในจำนวนเงินที่เท่ากันหากอยู่ในช่วงที่เกิดภาวะเงินเฟ้อจะซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลง แต่จะเป็นผลดีกับนักธุรกิจ เนื่องจากขายสินค้าและบริการได้ราคาสูงขึ้น และเป็นผลดีกับลูกหนี้ เนื่องจากจำนวนหนี้เท่าเดิม แต่ค่าของเงินลดลง ทำให้มูลค่าในหนี้ลดลงด้วย
ในทางกลับกัน สาเหตุของ “เงินฝืด” เกิดจากการนำเข้าสินค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้น ต้นทุนของปัจจัยการผลิตลดลงทำให้เกิดการผลิตสินค้ามากเกินความต้องการของผู้ซื้อ ค่าของเงินสูงขึ้น ประชาชนลดการซื้อสินค้าและบริการและหันมาออมเงินมากขึ้น ส่งผลให้การลงทุน การผลิต และการจ้างงานลดลง รายได้ประชาชาติลดลง สินค้าขายไม่ได้จนต้องลดราคาลงเรื่อย ๆ ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ
จะเห็นได้ว่าในบางประเทศใช้วิธีลดค่าเงินของตนเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งส่งผลให้ลดการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบสำหรับใช้ในการผลิตจากต่างประเทศ ทำให้สินค้าในประเทศมีราคาลดลง ประชาชนจับจ่ายใช้สอยสินค้าในประเทศมากขึ้น และเป็นการช่วยให้ผู้ส่งออกของตนให้มีความได้เปรียบทางการค้ามากขึ้นด้วย
หากเราเป็นมนุษย์เงินเดือน มีเงินไว้ใช้จ่ายทุกเดือน เราอาจไม่สนใจภาวะเศรษฐกิจต่าง ๆ ของประเทศ แต่ไม่ว่าประเทศจะประสบกับปัญหาเงินฝืดหรือเงินเฟ้อก็จะส่งผลโดยตรงกับเราทั้งนั้น เราอาจจะเป็นผู้ว่างงานได้หากเจ้าของกิจการที่จ้างเราไม่สามารถอยู่รอดได้ ดังนั้นเราต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท รู้จักจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่จำเป็น ไม่ฟุ่มเฟือย และเก็บออมไว้ใช้จ่ายในยามที่ไม่มีรายได้
ในการออมเงินนั้นเราต้องเลือกวิธีที่จะทำให้เงินออมเพิ่มมูลค่าขึ้นด้วย ซึ่งเมื่อมองย้อนไปในอดีต เงิน 4,000 บาท สามารถซื้อทองคำที่เป็นทองรูปพรรณได้น้ำหนักหนึ่งบาท แต่ปัจจุบันทองคำน้ำหนักหนึ่งบาทต้องใช้เงิน 19,000 บาทในการซื้อ สะท้อนให้เห็นว่ามูลค่าของเงินจะลดต่ำลงเรื่อย ๆ ดังนั้น หากเราต้องการออมเงินเพื่อไว้ใช้จ่ายในอนาคต เราไม่ควรเก็บไว้เป็นตัวเงิน ควรจะนำเงินไปออกดอกออกผลเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น ไปซื้อสินทรัพย์ เนื่องจากราคาของสินทรัพย์จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นต้น
ปัจจุบันโลกเกิดภัยธรรมชาติเพิ่มขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล และการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ทำให้การผลิตพืชอาหารเป็นไปอย่างยากลำบาก ไม่พอกับการเลี้ยงประชากรโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของโลกและของประเทศต่าง ๆ ดังนั้น ในฐานะที่เราเป็นพลเมืองของประเทศไทย เราต้องช่วยกันใช้ของที่ผลิตในประเทศให้มากขึ้น และลดการใช้ของที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อช่วยให้คนในชาติมีรายได้ มีงานทำ เป็นการช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ซึ่งหากประเทศอยู่รอด เราก็อยู่รอดด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
ธีระวัฒน์ จันทึก. (2554). เศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics). นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร.
นวลทิพย์ ควกุล. (2528). หลักเศรษฐศาสตร์ 2 : มหเศรษฐศาสตร์. ม.ป.ท. : เยียร์บุ๊คพับลิชเชอร์.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2556). เอกสารการสอนชุดวิชาหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น = Principles of economics. พิมพ์ครั้งที่ 4. นนทบุรี : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.