การคิดเชิงสังเคราะห์
การคิดเชิงสังเคราะห์ ตามแนวการสอนของนายแพทย์สุพจน์ สุวรรณพานิช ในการเรียนออนไลน์ ก.พ.นั้น ทำให้มีความเข้าใจมุมมอง วิธีการต่างๆในการที่จะนำมาปรับใช้กับการทำงาน และการเขียนรายงานการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
กระบวนการคิด มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับรู้ เหตุการณ์ สถานการณ์ที่เผชิญ ว่าเป็นโอกาส เป็นประโยชน์ เป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไข ปรับปรุง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย แล้วนำมาคิดโดยมีวัตถุประสงค์อยู่ในใจว่าต้องการให้อะไรเกิดขึ้น ผลลัพธ์ที่ตามมา ผลสืบเนื่อง ซึ่งขึ้นอยู่กับ อุปนิสัย ทัศนคติ ความเชื่อ สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ ทักษะและประสบการณ์ผสมผสานกับอารมณ์ ความรู้สึกและความต้องการในขณะนั้น
การคิดเชิงสังเคราะห์ คือ การคิดที่นำองค์ประกอบของสิ่งของ แนวคิดวิชาการที่แตกต่าง หลากหลายซึ่งอยู่แยกกันเป็นอิสระหรือกระจัดกระจาย มาประมวลหลอมรวม ถักทอ หรือผสมผสาน เชื่อมโยง ภายใต้โครงร่างใหม่ อย่างกลมกลืนและใช้ประโยชน์ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
การคิดเชิงสังเคราะห์ ต้องอาศัยทักษะที่สำคัญ คือ การจับประเด็นหลักและย่อย ได้เป็นอย่าง ดี เข้าใจองค์ประกอบย่อยของสิ่งต่างๆว่าเป็นอย่างไรและดึงประเด็นที่เกี่ยวข้องมาเชื่อมโยงกันได้อย่างถูกต้อง
รูปแบบของการคิดเชิงสังเคราะห์ มี 2 รูปแบบ
- คิดสังเคราะห์สิ่งใหม่ โดยหลอมรวมส่วนประกอบย่อยต่างๆเข้าด้วยกัน เป็นสิ่งใหม่จนไม่เห็นส่วนประกอบต่างๆเหล่านั้น โดยมีคุณสมบัติใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น ยา อาหาร-ขนมจีนน้ำยา เป็นต้น
- คิดสังเคราะห์สิ่งใหม่ โดยผสม หรือถักทอส่วนประกอบย่อยต่างๆเข้าด้วยกันกลายเป็นสิ่งใหม่ที่มีคุณสมบัติเฉพาะ แต่ยังมองเห็นองค์ประกอบย่อยอยู่ เช่น อาหารยำ สลัด หรือเมี่ยงคำ และการสร้างแนวคิด ทฤษฎีใหม่ โดยสังเคราะห์จากข้อมูลเอกสาร ข้อเขียน ทางวิชาการ ข้อมูลทางสถิติ เหตุการณ์ และงานวิจัยที่มีผู้ทำไว้แล้ว นำมาสร้างเป็นทฤษฎีใหม่ ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนหน้านี้ แต่ยังคงเห็นองค์ประกอบย่อยต่างๆซึ่งได้ถูกนำมาเชื่อมโยงผสมผสานเชิงเหตุผล
หลักการคิดเชิงวิเคราะห์ มี 2 ประเภท คือ
1.ต้องการสิ่งใหม่ เช่น วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร สิ่งของต่างๆ
2.ต้องการแนวคิด เช่น วิธีการทางเลือกใหม่อาจเป็นระบบงาน หรือเทคนิคใหม่ๆ
องค์ประกอบของวิธีการคิดเชิงสังเคราะห์ มี 2 ลักษณะ
1.การคิดสังเคราะห์เชิงวิพากษ์ เพื่อพิจารณาเรื่องราวหรือประเด็นต่างๆให้ได้ข้อสรุปที่เหมาะสม กับการนำมาใช้ได้ตรงกับวัตถุประสงค์
2.การคิดสังเคราะห์เชิงสร้างสรรค์ เป็นการนำความคิดต่างๆมาจัดรูปความสัมพันธ์ ผสมผสานเชื่อมโยงอย่างสอดคล้อง สมเหตุสมผลได้เป็นสิ่งใหม่ เหมาะสมกับการนำมาใช้ ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
เหตุที่ต้องใช้ความคิดเชิงสังเคราะห์ คือ เพื่อช่วยหาทางออกของปัญหาโดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ ให้มีความเข้าใจที่ชัดเจนและครบถ้วนเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เป็นการฝึกความสามารถของสมอง ข้อมูลที่สังเคราะห์จะเป็นประโยชน์ในการคิดต่อยอดความรู้ และทำให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่
การคิดเชิงสังเคราะห์ จะช่วยให้เราสามารถจัดระบบระเบียบข้อมูลที่กระจัดกระจายในความคิดของเราได้อย่างเหมาะสม ทำให้ย่นระยะเวลาในการคิด ความคิดมีความชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้เราได้สิ่งใหม่ๆและนำมาใช้ในบริบทชีวิตจริงได้ มีความรอบคอบในแนวทางปฏิบัติ เนื่องจากผ่านการคิดสังเคราะห์ ที่มีข้อมูลรอบด้าน เกิดความผิดพลาดน้อย และสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์ทั้งต่อหน่วยงานและตัวเอง